กทม.เร่งสอบสวนไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด 2 รายหลังสงสัยให้ข้อมูลเท็จ

ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงกรณีผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพฯ ที่ไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลหรือแจ้งข้อมูลเท็จว่า กระบวนการสอบสวนโรคของผู้ป่วยบางรายไม่ใช่จะได้ข้อสรุปในครั้งเดียว บางรายต้องสอบสวนโรคหลายครั้ง ซึ่งหากมีการให้ข้อมูลเท็จ หรือไม่ยอมให้ข้อมูล ทางเจ้าพนักงานควบคุมโรคสามารถแจ้งความดำเนินคดีได้ โดยการสอบสวนโรคนั้นเพื่อให้รู้ต้นตอของการแพร่ระบาดจะได้ควบคุมโรคอย่างมีประสิทธิภาพ

“ตอนนี้มี 2 รายที่เราสงสัยในข้อมูลว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ ซึ่งได้ดำเนินการตามกระบวนการสืบสวนแล้ว การที่ไม่ให้ข้อมูล มีหลายรายเป็นอุปสรรคใหญ่”

ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

กรณีผู้ป่วยรายที่ 647 และ 658 ที่แจ้งว่าช่วงวันที่ 10-21 ม.ค.64 ไม่ได้เดินทางไปไหนเลย กทม.ก็ต้องไปแสวงหาข้อเท็จจริงว่ามีการเดินทางไปไหนบ้าง โดยสอบถามจากเจ้าพนักงานควบคุมโรค และเมื่อได้ข้อมูลใหม่ก็จะมีการอัพเดทข้อมูลเพิ่มเติมทันที

“ข้อมูลอัพเดท ไม่ตรงกับอันแรก อย่างครั้งแรกบอกไปบันยันทรี ยืนยันว่าไปจริง แต่ในการสอบสวนโรค บอกไม่ได้ไป แต่มีเพื่อนที่ไปมาหา ก็ต้องสอบสวนโรค อยู่ในกระบวนการ…ยืนยันว่ากรุงเทพมหานครไม่ได้ใช้ข้อมูลที่ผู้ป่วยให้ไว้เพื่อประจาน แต่เราไปใช้เพื่อควบคุมโรค”

ร.ต.อ.พงศกร กล่าว

นอกจากนี้ ทางกทม.จะมีการสอบสวนถึงการจัดงานเลี้ยงด้วยว่ามีจำนวนผู้มาร่วมงานเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ และเจ้าของร้านเปิดบริการเกินกำหนดเวลาหรือไม่

สำหรับไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่นำมาเปิดเผยนั้น เป็นข้อมูลจริงที่ได้รับรายงานมาจากสถานพยาบาล ซึ่งมาจากการเก็บข้อมูลนับตั้งแต่ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาล โดยจะมีบุคลากรทางการแพทย์มาซักประวัติแล้วบันทึกเป็นข้อมูลไว้ หลังจากนั้นจะมีการส่งข้อมูลดังกล่าวไปให้กรมควบคุมโรค และสำนักอนามัย กทม. หลังจากนั้นคณะกรรมการที่ผู้ว่าฯ กทม.จัดตั้งขึ้นมาจะสอบถามเพิ่มเติม และพิจารณาว่ามีข้อมูลส่วนใดที่สามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนได้โดยไม่ผิดกฎหมาย

ส่วนกรณีที่จะมีการเปิดเรียนในช่วงต้นเดือน ก.พ.นั้น ทาง กทม.มีความพร้อมที่จะดำเนินการตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top