นักวิเคราะห์ฯ เล็งตลาดหุ้นไทยเช้านี้ผันผวน-อิงปรับฐานตามตลาดต่างประเทศ โดยตลาดภูมิภาคเช้านี้ปรับตัวลงค่อนข้างแรง จากกังวลโควิดระบาด-บางประเทศเริ่มคุมสภาพคล่องทางการเงิน โดยเฉพาะจีน ส่วนผลประชุมเฟดมุมมองยังไม่เปลี่ยนแปลงหลังมองทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯขึ้นกับโควิด-19 ส่วนบ้านเราให้ติดตามการผ่อนคลายล็อกดาวน์ พร้อมให้แนวรับ 1,480 แนวต้าน 1,508 จุด
นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการสายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้มีโอกาสผันผวนลักษณะปรับฐานในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ โดยตลาดหุ้นภูมิภาคเอเชียเช้านี้ส่วนใหญ่ปรับตัวลงค่อนข้างแรง จากความกังวลสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 และในบางประเทศเริ่มมีการควบคุมสภาพคล่องทางการเงิน โดยเฉพาะจีนที่เริ่มหันมาดูแลแล้ว
ส่วนผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯคงดำเนินนโยบายเช่นเดิม โดยมองทิศทางเศรษฐกิจของสหรัฐในวันข้างหน้ายังคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เป็นปัจจัยบวก ส่วนบ้านเราก็ให้ติดตามมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์
พร้อมให้แนวรับ 1,480 จุด ส่วนแนวต้าน 1,508 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (27 ม.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,303.17 จุด ร่วงลง 633.87 จุด (-2.05%), ดัชนี S&P 500 ปิดที่ 3,750.77 จุด ลดลง 98.85 จุด (-2.57%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 13,270.60 จุด ร่วงลง 355.47 จุด (-2.61%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 38.67 จุด, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 465.94 จุด และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 382.68 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (27 ม.ค.) 1,498.13 จุด ลดลง 14.70 จุด (-0.97%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4,830.82 ล้านบาท เมื่อวันที่ 27 ม.ค.64
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน มี.ค. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (27 ม.ค.) ปิดที่ 52.85 ดอลลาร์/บาร์เรล เพิ่มขึ้น 24 เซนต์ หรือ 0.5%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (27 ม.ค.) อยู่ที่ 1.32 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 30.02 อ่อนค่าตามภูมิภาคจากดอลล์แข็ง หลังเฟดส่งสัญญาณกังวลศก.
- กสิกรไพรเวทแบงก์ ชี้เศรษฐกิจทั่วโลกฟื้น หนุนสินทรัพย์เสี่ยงปรับตัวขึ้น แต่ยังมีความผันผวนจากโควิดระบาด แนะกระจายพอร์ตลงทุน เน้นกองทุนผสม 50% ลงทุนหุ้นเทคฯ 30% พร้อมโชว์ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีถึง 20 ม.ค.บวก 2% ตั้งเป้าปีนี้รักษาที่ 6-8%
- ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี เผยโควิดรอบใหม่ทุบรายได้ธุรกิจเอสเอ็มอีไตรมาสแรกหาย 2.7 หมื่นล้าน กระทบผู้ประกอบการ 1.3 ล้านราย แรงงาน 6.1 ล้านคน ชี้ 2 โครงการรัฐ เราชนะ-คนละครึ่ง เอสเอ็มอีนิติบุคคลไม่ได้ประโยชน์ ย้ำรัฐบาลต้องหามาตรการช่วยด่วนก่อนจะยืนไม่อยู่
- ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 กดดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ธ.ค.63 อยู่ที่ 96.53 หดตัว 2.44% ทั้งปี 8.8% กรมพัฒนาธุรกิจการค้าเผยยอดบริษัทตั้งใหม่เดือน ธ.ค.63 มีจำนวน 3,287 ราย หลังคนไม่นิยมลงทุนทำธุรกิจช่วงปลายปี ระบุทั้งปี 63 ตั้งใหม่รวม 63,340 ราย ลด 11%
- นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การส่งออกอาหารของไทยในปี 64 คาดจะมีมูลค่า 1.08-1.10 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.2-12.2% มีปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรบางรายการที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพืชพลังงานทดแทน เช่น ถั่วเหลือง ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพด อ้อย และมันสำปะหลัง เป็นต้น เนื่องจากความต้องการพลังงานทดแทนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งการแข็งค่าของเงินสกุลต่างๆ ในเอเชียจะทำให้มีการส่งออกสินค้าเกษตรมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งจะส่งผลดีในแง่ของแรงจูงใจในการเพิ่มผลผลิตของเกษตรกรไทย
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินสถานการณ์หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ในปี 63-64 จากฐานข้อมูลรายงานงบการเงินประจำไตรมาส 4/63 คาดยอด NPL คงค้างของธนาคารพาณิชย์สิ้นปี 63 รวม 5.23 แสนล้านบาท คิดเป็น 3.16% ของสินเชื่อรวม หรือเพิ่มขึ้นถึง 12.5% จากยอดคงค้าง 4.65 แสนล้านบาทในปี 62 หรือเพิ่ม 58,000 ล้านบาท แต่ตัวเลขอย่างเป็นทางการต้องรอจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในเดือน ก.พ.นี้
หุ้นเด่นวันนี้
- SAWAD (กรุงศรี) “ซื้อ”เป้า สูงสุด Consensus 73.5 บาท ฐานสินเชื่อโตจากกลุ่มลูกค้าใหม่ของ ธ.ออมสิน, ต้นทุนเงินทุนลดลงจากเงินทุนต้นทุนต่ำของ ธ.ออมสิน ช่วยหนุนส่วนต่างดอกเบี้ยและกำไรเพิ่มขึ้น
- MTC (เคทีบีเอสที) เป้าเชิงกลยุทธ์ 72.00 บาท ประเมินกำไร Q4/63 ที่ 1.37 พันลบ. +21%YoY, +2%QoQ จากสินเชื่อที่เติบโตต่อเนื่องและต้นทุนทางการเงินที่ลดลง ด้านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รอบสองกระทบพอร์ตสินเชื่อโดยรวมไม่มากต่างจากครั้งก่อนที่ให้ลูกหนี้พักชำระหนี้ พร้อมคาดสินเชื่อปี 64 เติบโต +17%YoY จากการขยายสาขา เบื้องต้นบริษัทมีเป้าหมายในการขยายสาขา 600 แห่ง/ปี
- SCC (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ”เป้า 45 บาท ประกาศกำไรสุทธิ Q4/63 -17% Q-Q, +13% Y-Y ใกล้เคียงคาด โดยชะลอจากไตรมาสก่อน จากการหยุดซ่อมบำรุงโรงงาน MOC ส่วนธุรกิจซีเมนต์ชะลอจากโควิด-19 และฝนตกหนัก รวมถึงมีการตั้งด้อยค่าสินทรัพย์ในเมียนมาและอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม กำไรปี 63 ยัง +7% Y-Y แนวโน้ม Q1/64 คาดดีขึ้นจากโรงงานที่ผ่านการซ่อมบำรุงใหญ่ วัสดุก่อสร้างฟื้นตัว และธุรกิจ Packaging ที่โตแรง พร้อมคาดกำไรสุทธิปี 64 เติบโตได้ +4% Y-Y
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 ม.ค. 64)
Tags: SET, SET Index, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, หุ้นไทย, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, เอเซีย พลัส