นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในปี 2563 ว่า ผลการดำเนินงานของ EXIM BANK ถือว่าเติบโตทุกด้านตามแผนยุทธศาสตร์ และเป็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ ได้ตั้งเป้าหมายที่บรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นผู้นำองค์กรการเงินเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency : ECA) ระดับภูมิภาคในปี 2565 และเป็น ECA ระดับโลกในปี 2570
“สะท้อนได้จากสัดส่วนมูลค่าการสนับสนุนธุรกรรมด้านการค้าและการลงทุนไทยของ EXIM BANK ต่อรายได้มวลรวมประชาชาติ (GNI) อยู่ที่ 1.6% สูงกว่า ECA อื่น ๆ ในอาเซียน ซึ่งอยู่ในระดับ 0.5-0.7% และปี 2570 ตั้งเป้าจะสนับสนุนการค้าการลงทุนไทย ต่อ GNI ที่ 2.4%”
นายพิศิษฐ์ ระบุ
โดยยุทธศาสตร์ที่ 1 เชื่อมไทย เชื่อมโลก ด้วยการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ EXIM BANK ได้สนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยขยายการส่งออกและลงทุนในต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศตลาดใหม่ (New Frontiers) ทั้งในและนอกอาเซียน
ยอดคงค้างเงินให้สินเชื่อขยายตัว 84% จาก 73,540 ล้านบาท เป็น 135,228 ล้านบาท (เฉลี่ย 13% ต่อปี) ในจำนวนนี้ เป็นยอดคงค้างสินเชื่อ SMEs เพิ่มขึ้น 86% จาก 16,883 ล้านบาท เป็น 31,461 ล้านบาท (เฉลี่ย 13% ต่อปี)
จำนวนลูกค้าโต 163% จาก 1,631 ราย เป็น 4,282 ราย (เฉลี่ย 21% ต่อปี) ในจำนวนนี้ ลูกค้า SMEs เพิ่มขึ้น 194% จาก 1,192 ราย เป็น 3,507 ราย (เฉลี่ย 24% ต่อปี) คิดเป็นสัดส่วนสนับสนุนผู้ส่งออก SMEs ได้ 15% ของทั้งประเทศ
ยอดสินเชื่อคงค้างใน New Frontiers (รวมกัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา และเวียดนาม หรือ CLMV) ขยายตัว 53% จาก 26,022 ล้านบาท เป็น 39,754 ล้านบาท (เฉลี่ย 9% ต่อปี)
ผลการดำเนินงานปี 2563 มีสินเชื่อคงค้าง 135,228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13,360 ล้านบาท หรือ 11% เมื่อเทียบกับปี 2562 แบ่งเป็นสินเชื่อเพื่อการค้า 36,093 ล้านบาท และสินเชื่อเพื่อการลงทุน 99,135 ล้านบาท ทำให้เกิดปริมาณธุรกิจ (Business Turnover) รวม 168,035 ล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นปริมาณธุรกิจของ SMEs 60,689 ล้านบาท (สัดส่วน 36%)
มีวงเงินสนับสนุนแก่สินเชื่อโครงการระหว่างประเทศรวม 93,622 ล้านบาท เป็นสินเชื่อคงค้างจำนวน 56,384 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8,930 ล้านบาท หรือ 19% เมื่อเทียบกับปีก่อน
สินเชื่อคงค้างเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการที่ส่งออกและลงทุนใน New Frontiers จำนวน 39,754 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,487 ล้านบาท หรือ 13% เมื่อเทียบกับปีก่อน
เดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK ได้รับใบอนุญาตจัดตั้งสำนักงานผู้แทนในนครโฮจิมินห์ เวียดนาม จากธนาคารกลางเวียดนาม ทำให้ EXIM BANK มีสำนักงานผู้แทนครบ 4 แห่งในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม) เพื่อทำหน้าที่ให้บริการด้านคำปรึกษาแนะนำและบริการทางการเงินแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทยที่สนใจขยายธุรกิจไปยังประเทศเพื่อนบ้าน
ยุทธศาสตร์ที่ 2 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ EXIM BANK สนับสนุนการลงทุนในประเทศเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ (S-curve) และพื้นที่เป้าหมาย อาทิ พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZs) เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยอดคงค้างสินเชื่อในประเทศขยายตัว 61% จาก 26,489 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 42,751 ล้านบาทในปี 2563 (เฉลี่ย 10% ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 7,237 ล้านบาท หรือ 20%
ยุทธศาสตร์ที่ 3 ป้องกันความเสี่ยงด้านการค้าและการลงทุนไทยในต่างประเทศ EXIM BANK ขยายบริการประกันการส่งออกและการลงทุน รวมทั้งบริการวิเคราะห์ความเสี่ยงผู้ซื้อและธนาคารผู้ซื้อเพิ่มมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย โดยเฉพาะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้นำเข้าในต่างประเทศอาจชำระเงินล่าช้าหรือประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการไทยต้องเผชิญความเสี่ยงสูงขึ้นจากการไม่ได้รับชำระเงินค่าสินค้าและบริการ โดยปริมาณธุรกิจสะสมบริการประกันเพิ่มขึ้น 105% จาก 66,018 ล้านบาทในปี 2558 เป็น 135,071 ล้านบาทในปี 2563 (เฉลี่ย 15% ต่อปี) และเมื่อเทียบกับปี 2562 เพิ่มขึ้น 13,699 ล้านบาท หรือ 11%
ยุทธศาสตร์ที่ 4 เป็นกลไกสำคัญในระบบนิเวศ สนับสนุนการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ EXIM BANK ได้จัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Academy: EXAC) เมื่อปี 2561 เพื่อให้บริการและสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแบบครบวงจร (One Stop Service) โดยมุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการให้ส่งออกได้หรือส่งออกได้มากขึ้น ผ่านการอบรม บ่มเพาะ ให้คำปรึกษา จับคู่ธุรกิจ รวมทั้งสนับสนุนการค้าออนไลน์ (E-trading) โดยการบูรณาการข้อมูลและความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อาทิ โครงการส่งเสริมศักยภาพและสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs ระหว่าง EXIM BANK กับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ทำให้ผู้ประกอบการภาคเกษตรกรรมของไทยมีสินค้านวัตกรรมและเจรจาค้าขายกับประเทศคู่ค้าได้ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกราว 600 ล้านบาท
นอกจากนี้ EXIM BANK ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ลูกค้าและผู้ประกอบการทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงิน จากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยเฉพาะ SMEs โดยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยสูงสุดนาน 6 เดือนตั้งแต่ต้นปี 2563 และได้ออกมาตรการฟื้นฟูกิจการลูกค้าที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจากผลกระทบของโควิด-19 ตามความต้องการของกิจการ รวมทั้งเปิดคลินิกให้คำปรึกษา อบรมสัมมนาและจับคู่ธุรกิจทางออนไลน์ให้แก่ผู้ประกอบการที่สนใจเริ่มต้นหรือขยายธุรกิจส่งออก ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK ได้ช่วยเหลือทั้งด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการจำนวน 6,400 ราย วงเงินรวมประมาณ 55,000 ล้านบาท
ยุทธศาสตร์ที่ 5 ก้าวเข้าสู่ธนาคารดิจิทัล EXIM BANK ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในกระบวนการทำงานและการให้บริการลูกค้า อาทิ การพัฒนาระบบออนไลน์เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าสินเชื่อและประกันการส่งออก การพัฒนาแพลตฟอร์ม Thailand Export Readiness Assessment & Knowledge Management (TERAK) ซึ่งเป็นนวัตกรรมเพื่อใช้ประเมินความพร้อมด้านการส่งออกของผู้ประกอบการและจัดกิจกรรมให้ความรู้และจับคู่ธุรกิจ เหล่านี้ ทำให้ EXIM BANK สามารถปรับตัวและบริหารความต่อเนื่องทางธุรกิจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ดี
ยุทธศาสตร์ที่ 6 พัฒนาธนาคารเพื่อความยั่งยืน EXIM BANK ปรับปรุงกระบวนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการลูกค้าและการบริหารจัดการองค์กร รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรบุคคลตลอดเส้นทางการทำงานที่ EXIM BANK และการมุ่งสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย EXIM BANK สามารถบริหารจัดการการเงินและธุรกิจ ควบคู่กับการบริหารความเสี่ยงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และการยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อความยั่งยืน จนทำให้องค์กรยังมีฐานะการเงินในระดับที่แข็งแกร่ง
โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ณ สิ้นปี 2563 อยู่ที่ 3.81% จากจำนวนสินเชื่อด้อยคุณภาพ 5,153 ล้านบาท นอกจากนี้ ตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินฉบับใหม่ (TFRS 9) ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 EXIM BANK มีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) 11,977 ล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratio) 232.44% ส่งผลให้ในปี 2563 EXIM BANK มีกำไรก่อนผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น และสำรองอื่น ๆ เท่ากับ 2,250 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จากการสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ซึ่งเพิ่มขึ้นตามสภาวะเศรษฐกิจภายนอกที่มีความเสี่ยงสูง ทำให้ EXIM BANK มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 1,340 ล้านบาท
นายพิศิษฐ์ กล่าวด้วยว่า ปี 2564 EXIM BANK ยังคงเดินหน้าสนับสนุนผู้ส่งออกและนักลงทุนให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และเครื่องมือบริหารความเสี่ยงในการดำเนินธุรกิจ รวมถึงมุ่งเน้นสนับสนุนและพัฒนาผู้ประกอบการโดยเฉพาะผู้ประกอบการ SMEs ให้สามารถเริ่มต้นและขยายธุรกิจได้ สำหรับการเยียวยาผลกระทบจากโควิด-19 EXIM BANK ยังคงช่วยเหลือลูกค้าฟื้นฟูกิจการตามสภาพคล่องของธุรกิจ และออกมาตรการพักชำระหนี้ “เงินต้น-ดอกเบี้ย” ในพื้นที่สีแดง สีส้ม และสีเหลือง รวมทั้งขยายระยะเวลาอนุมัติมาตรการสินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เพื่อช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในระยะยาว
อนึ่ง นายพิศิษฐ์ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ EXIM BANK ในสิ้นเดือนมกราคม 2564 ภายหลังได้รับการต่อวาระสมัยที่ 2 จนครบอายุ 60 ปี ต่อเนื่องจากการดำรงตำแหน่งสมัยที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2559
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 64)
Tags: EXIM BANK, การลงทุน, การส่งออก, ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย, พิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา