มินเทล (Mintel) ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยการตลาดระดับโลก เผย 3 เทรนด์อาหารที่สำคัญสำหรับธุรกิจการให้บริการด้านอาหารทั่วโลก รวมทั้งข้อเสนอแนะในการทำการตลาดเพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคที่พร้อมปฏิวัติวิถีการบริโภคของตัวเอง
โดยแบ่งเป็นสามช่วงเวลา ได้แก่ เทรนด์ในปัจจุบัน (12 เดือน) เทรนด์ในช่วงถัดไป (มากกว่า18 เดือนขึ้นไป) และเทรนด์ในอนาคต (มากกว่า 5 ปีขึ้นไป)
เดซี่ ลี รองผู้อำนวยการของมินเทล ด้านอาหารและเครื่องดื่ม (Mintel Food & Drink) ได้กล่าวถึงลักษณะการเปลี่ยนแปลงด้านพฤติกรรมของผู้บริโภคในอนาคตอันใกล้ต่อการจัดการพัฒนาสูตรอาหารและเครื่องดื่ม การจัดทำบรรจุภัณฑ์และการตลาดที่ได้รับอิทธิพลจากกระแสด้านสุขภาพ ค่านิยม และความมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวว่า เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป แนวโน้มการตลาดในแบรนด์ธุรกิจการให้บริการด้านอาหารจะเคลื่อนไหวไปตามกระแสชีวจิตผ่านการนำเสนอรูปแบบผลิตภัณฑ์และสูตรอาหารที่ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด อันเป็นที่การคาดการณ์ได้ว่าเมื่อการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ลดลงและสถานการณ์สังคมเริ่มฟื้นตัวขึ้น ผู้บริโภคจะมีการปรับลักษณะพฤติกรรมการบริโภค โดยเริ่มหันมาสนใจการรับประทานอาหารอย่างมีสติและศึกษาหาข้อมูลที่เชื่อถือได้ผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศในการเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ รวมถึงการลดการบริโภคอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพให้น้อยลง
“การแพร่ระบาดใหญ่ทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคตระหนักถึงความสำคัญของความเป็นอยู่ที่ดี และปีต่อ ๆ ไป ผู้บริโภคจะปรับพฤติกรรมการบริโภคโดยเริ่มมองหาผลิตภัณฑ์และการบริการที่มีผลประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิตมากยิ่งขึ้น”
“แบรนด์ธุรกิจการให้บริการด้านอาหารที่มีสูตรส่วนผสมที่ตอบสนองต่อประสาทสัมผัสด้านอารมณ์ที่หลากหลายจะช่วยส่งเสริมให้ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม และธุรกิจการให้บริการด้านอาหารให้เป็นที่นิยมมากยิ่งขึ้น สำหรับการพัฒนาตนเองในด้านสุขภาพร่างกาย รวมไปถึงสุขภาพจิตและใจ เราได้ทำการประเมินผลการคาดการณ์ไว้ว่านวัตกรรมสูตรอาหารและเครื่องดื่มแนวใหม่นี้จะกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาเรียนรู้ถึงประโยชน์จากการบริโภคอาหารที่ดี อันมีผลส่งต่อระดับสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้น ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์ทางจิตวิทยาด้านอาหารแบบใหม่ในการตลาดนี้”
สำหรับแนวโน้มของอาหารที่ได้มีการวิจัยมีดังนี้
- จิตใจที่เต็มอิ่ม: นวัตกรรมสูตรอาหารและเครื่องดื่มแนวใหม่ที่นำเสนอวิธีการช่วยรักษาสุขภาพจิตและปรับทัศนคติด้านอารมณ์ให้ดียิ่งขึ้น อันเป็นการสร้างพื้นฐานใหม่ในการเลือกบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ
- คุณภาพที่ต้องเปลี่ยนโฉม: แบรนด์ธุรกิจด้านอาหารจะต้องเตรียมตัวพร้อมตอบสนองต่อความท้าทายในเทรนด์อาหารที่เปลี่ยนแปลง คำจำกัดความใหม่ที่ควรตระหนักรวมไปถึง คุณภาพ ความไว้วางใจ และ ‘ความจำเป็น’
- อาหารสำหรับคนแนวเดียวกัน: แบรนด์ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มจะต้องสามารถสร้างความสมดุลด้านอารมณ์ให้กับผู้บริโภค โดยผู้บริโภคมีทัศนคติมองภาพลักษณ์และรู้สึกสัมผัสได้ถึงความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ ควบคู่ไปกับการมองตัวเองว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้บริโภคที่มีทัศนคติและไลฟ์สไตล์ที่เหมือนกัน
“ในส่วนของค่านิยม ผู้บริโภคในสถานการณ์โควิด-19 นี้ ต่างมองเห็นถึงความสำคัญกับการบริโภคที่เหมาะสมและจำเป็น โดยเริ่มจากการบริโภคที่น้อยลงและเลือกรับซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้ผลตอบรับที่ดีที่สุด”
เดซี่ กล่าว
เดซี่ ลี กล่าวต่อไปว่า เป็นที่คาดเดาได้ว่า เมื่อตลาดได้กลับมาเปิดขึ้นอีกครั้ง วิถีการใช้ชีวิตของผู้บริโภคจะเดินไปอย่างรวดเร็ว ซึ่งผู้บริโภคจะมีความคาดหวังในการซื้อผลิตภัณฑ์และบริการที่สะอาด ถูกสุขอนามัย รวดเร็ว และสะดวก ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์หรือการบริการด้านอาหารและเครื่องดื่ม หรือธุรกิจอาหารที่เกี่ยวข้อง โดยภายในปีข้างหน้า แบรนด์ธุรกิจด้านอาหารจะต้องเตรียมตัวพร้อมตอบสนองต่อความท้าทายของเทรนด์อาหาร ภายใต้คำจำกัดความนิยามใหม่ของคำว่า ‘คุณภาพ’ และรับมือกับการสร้างตลาด E-commerce เพื่อตอบรับการเข้าถึงของลูกค้าผู้บริโภคในทุกระดับ ทั้งนี้ การเน้นการซื้อผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการที่มีคุณภาพและมีราคาที่เหมาะสมนั้น จะเป็นการช่วยกระตุ้นให้ธุรกิจแบรนด์ต่าง ๆ ประกอบการทำงานอย่างโปร่งใสมากขึ้นในเรื่องของราคาผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการ ที่สามารถตรวจสอบได้จากข้อมูลด้านส่วนผสม กรรมวิธีการผลิตและราคาสำหรับกลุ่มเป้าหมาย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 ม.ค. 64)
Tags: Mintel, ธุรกิจอาหาร, ผู้บริโภค, มินเทล, วิจัย, เดซี่ ลี