โบรกเกอร์ต่างเชียร์”ซื้อ”หุ้น บมจ.อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป (EPG) เล็งผลดำเนินงานไตรมาส 3 งวดปี 63/64 (ต.ค-ธ.ค.63) ฟื้นตัวขึ้น โดยคาดกำไรจะอยู่ในช่วง 292-330 ล้านบาท จากธุรกิจ AEROKLAS ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตามยอดผลิตรถยนต์ในประเทศที่กลับมาเท่าช่วงก่อนโควิด-19 แล้ว และธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกก็ได้รับประโยชน์จากการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ทำให้มีการสั่งอาหารดิลิเวอรี่ค่อนข้างมาก และน่าจะต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ อีกทั้งธุรกิจในออสเตรเลียมีลุ้นจะพลิกมาทำกำไรได้จากแผนการขยายตลาดและลดต้นทุนที่เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น
ส่วนแนวโน้มผลดำเนินงานในงวดปี 64/65 มองว่าจะยังคงสดใสต่อเนื่องจากทุกธุรกิจที่ฟื้นตัวดีขึ้น
หุ้น EPG ปิดเทรดช่วงเช้าที่ 8.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท (+2.45%) ขณะที่ดัชนี SET ปิดเช้าที่ติดลบ 4.57 จุด
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย(บาท/หุ้น) |
กรุงศรี | ซื้อ | 10.50 |
กสิกรไทย | ซื้อ | 9.40 |
เคจีไอ (ประเทศไทย) | ซื้อ | 9.40 |
เคทีบีเอสที | ซื้อ | 10.00 |
โนมูระ พัฒนสิน | ซื้อ | 9.50 |
หยวนต้า (ประเทศไทย) | ซื้อ | 9.70 |
นายธันย์ จิระสิทธิกร นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กสิกรไทย คาดการณ์ว่า กำไรปกติของ EPG ในไตรมาส 3 งวดปี 63/64 (ต.ค-ธ.ค.63) จะอยู่ที่ 292 ล้านบาท เติบโต 37.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และเติบโต 6% จากไตรมาสก่อนหน้า โดยหลักมาจากธุรกิจชิ้นส่วนรถยนต์ (AEROKLAS) ผลิตและจำหน่ายอุปกรณ์ชิ้นส่วนตกแต่งยานยนต์ที่กลับมาฟื้นตัวค่อนข้างแรง เห็นได้จากยอดผลิตรถยนต์ในประเทศเดือน ธ.ค.63 เติบโตขึ้น 16% ต่อเนื่องจากเดือน ต.ค และพ.ย.63 ขณะที่ยอดขายรถยนต์ทั่วโลกก็ปรับตัวขึ้นมาเกือบเท่ากับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ส่งผลทำให้ผลการดำเนินงานเมื่อเทียบระหว่างไตรมาสกับไตรมาสบวกขึ้นมาได้
ขณะที่ธุรกิจผลิตและจำหน่ายบรรจุภัณฑ์พลาสติกของบริษัท อีสเทิร์น โพลีแพค (EPP) ก็ได้รับประโยชน์จากการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ทำให้มีการสั่งอาหารดิลิเวอรี่กันค่อนข้างมาก และน่าจะต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ อีกทั้งการลงทุนในบริษัทร่วม บริษัท ซูมิริโกะ อิสเทิร์น รับเบอร์ (ประเทศไทย) (TER) เพื่อผลิตยางกันสะเทือนในรถยนต์ และสายส่งน้ำมันในรถจักรยานยนต์ ก็เติบโตตามยอดการผลิตรถยนต์ ซึ่งปีนี้ก็สามารถพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้แล้ว หรือกลับมาเหมือนช่วงก่อนหน้าที่เกิดโควิด-19 ที่มีกำไรไตรมาสละ 50 ล้านบาท
สำหรับมาร์จิ้นของธุรกิจ ปัจจุบันก็ยังอยู่ในระดับสูงทั้ง 3 ธุรกิจ จากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ บวกกับคำสั่งซื้อที่กลับเข้ามา
“เราเชื่อว่าธุรกิจแอร์โรคลาส และบรรจุภัณฑ์ จะยังเติบโตต่อเนื่องได้ในไตรมาส 4 งวดปี 63/64 (ม.ค-มี.ค.64) ระหว่างการฉีดวัคซีน และน่าจะส่งผลทำให้กำไรงวดปี 63/64 นี้เติบโตได้ 10% และงวดปี 64/65 เติบโต 10% ซึ่งมองว่าเป็นอีกหนึ่งหุ้นขนาดเล็กที่น่าจะมี Sentiment เชิงบวก โดยเรามีการอัพเกรดราคาเหมาะสมเป็น 9.40 บาท”
นายธันย์ กล่าว
ด้าน บล.เคทีบีเอสที ระบุในบทวิเคราะห์ประเมินกำไรสุทธิในไตรมาส 3 งวดปี 63/64 (ต.ค-ธ.ค.63) ราว 310-330 ล้านบาท ดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไร 214 ล้านบาท และไตรมาส 2 งวดปี 63/64 (มิ.ย.-ก.ย.63) ที่มีกำไร 308 ล้านบาท จากแนวโน้มของทั้ง 3 ธุรกิจที่มีทิศทางดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจ Aeroklas (ชิ้นส่วนรถยนต์) จะฟื้นตัวได้โดดเด่นมากสุดตามยอดผลิตรถยนต์ในประเทศที่ฟื้นตัว และบริษัท TJM Producr PTY Ltd (TJM) มีโอกาสพลิกเป็นกำไรครั้งแรก จากการลดต้นทุน และยอดขายรถยนต์ที่ออสเตรเลียปรับตัวดีขึ้นมาก เนื่องจากมีการซื้อรถยนต์เพื่อท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น
ทั้งนี้ ยังประเมินผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ในปัจจุบันจะเป็นบวกต่อธุรกิจ EPP (บรรจุภัณฑ์) ที่มีการซื้ออาหารกลับบ้านมากขึ้น ส่วนธุรกิจ Aeroflex (ฉนวนกันความร้อน/เย็น) ในสหรัฐฯ จะดีขึ้นมากในงวดปี 64/65 จากงวดปี 63/64 ที่คาดว่ารายได้จะลดลง -10% จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ขณะที่หากมีการขึ้นภาษีและขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในสหรัฐจะได้รับผลกระทบจำกัด เนื่องจากโรงงานใหม่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี และปัจจุบันจ่ายค่าแรงใกล้เคียงกับขั้นต่ำที่มีแผนจะปรับขึ้นใหม่แล้ว
นอกจากนี้ จะได้รับเงินช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ในช่วงครึ่งปีหลังของงวดปี 63/64 อีกราว 50 ล้านบาท แบ่งเป็น จากรัฐบาลออสเตรเลีย 10 ล้านบาท และรัฐบาลสหรัฐอีก 40 ล้านบาท ซึ่งยังไม่ได้รวมในประมาณการ โดยในช่วงที่ผ่านมาได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลออสเตรเลียแล้วราว 50 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ปรับประมาณการณ์กำไรงวดปี 63/64 ขึ้นเป็น 1 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับปีก่อน ซึ่งยังไม่รวมเงินช่วยเหลือจากผลกระทบโควิด-19 ราว 50 ล้านบาท
ส่วนแนวโน้มในงวดปี 64/65 มองว่าจะยังคงสดใสต่อเนื่อง โดยปรับกำไรขึ้นเป็น 1.2 พันล้านบาท เติบโต 19% จากงวดปี 63/64 จากการฟื้นตัวของทั้ง 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ Aeroklas คาดว่าจะเติบโตได้โดดเด่นสุดจากยอดผลิตรถยนต์ในประเทศที่จะกลับมาเติบโต 10-15% และธุรกิจ TJM ที่ออสเตรเลียจะเริ่มมีกำไรได้ต่อเนื่อง จากแผนการขยายตลาดและการลดต้นทุนที่เริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น, Aeroflex จะได้ผลบวกจากแนวโน้มภาคการก่อสร้างทั้งในประเทศและต่างประเทศจะดีขึ้น โดยเฉพาะในตลาดสหรัฐและญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่มีการสั่งซื้อสินค้าระดับพรีเมี่ยม ซึ่งมีอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ค่อนข้างสูง, EPP จากการบริโภคในประเทศที่ฟื้นตัว และความนิยม Food Delivery รวมทั้งการซื้ออาหารไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น รวมถึง GPM จะดีขึ้นจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่สูงขึ้น และประเมินส่วนแบ่งกำไรบริษทัทร่วมจะเพิ่มขึ้นเป็น 160 ล้านบาท (+68% จากปีก่อน) ซึ่งธุรกิจส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์ ที่จะได้รับผลบวกจากอุตสาหกรรมรถยนต์ที่ฟื้นตัว
สำหรับ บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) ระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ EPG เริ่มดีขึ้นในทุกส่วนธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลให้กำไรงวดปี 63/64 เติบโตได้ 41% จากงวดปีก่อน ตามยอดขายที่คาดฟื้นตัวขึ้น 10% และ Gross margin ฟื้นตัวขึ้นเป็น 30.8% จาก 29.2% ในปีที่ผ่านมา
โดยกลุ่มธุรกิจฉนวนความร้อน/เย็น (Aeroflex) ฐานการผลิตในสหรัฐฯ U-rate ในงวดปี 63/64 จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น และคาด Gross margin จะรักษาไว้ได้ที่ระดับ 43% โดย Catalyst บวกของ Aeroflex อยู่ที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ
กลุ่มธุรกิจชิ้นส่วนยานยนต์ (Aeroklas) ธุรกิจผลิตและจำหน่ายชิ้นส่วนยานยนต์ที่ออสเตรเลีย (TJM) มีการปรับโครงสร้างภายในจนสามารถที่จะพลิกฟื้นกลับมาสร้างผลการดำเนินงานให้พลิกเป็นกำไรได้แล้ว ขณะที่อุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ในไทย ยอดการผลิตเริ่มฟื้นตัวกลับสู่ระดับใกล้เคียงก่อนวิกฤตโควิด-19 เช่นกัน คาด U-rate เฉลี่ยของ Aeroklas จะค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น ขณะที่อัตรากำไรขั้นต้นคาดจะเพิ่มขึ้นเป็น 27% จากเฉลี่ย 25.9% ในงวดปี 62/63 นอกจากนี้ Upside ของ Aeroklas อยู่ที่การย้ายฐานการผลิตของค่ายรถ เพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ในไทย โดยเฉพาะค่ายรถยนต์จากจีน
กลุ่มธุรกิจบรรจุภัณฑ์ (EPP) จะได้รับ Sentiment บวกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคในช่วงวิกฤติโควิด-19 ทำให้มีการสั่งซื้ออาหารกลับไปรับประทานที่บ้านมากขึ้น คาดจะทำให้ U-rate ของ EPP เริ่มทรงตัวในปีนี้ที่ 60% และค่อยๆ ฟื้นตัวได้ในอนาคต ขณะที่คาด Gross margin ในงวดปี 63/64 จะค่อยๆ ฟื้นตัวเป็น 18.5%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 64)
Tags: Consensus, EPG, ธันย์ จิระสิทธิกร, บรรจุภัณฑ์พลาสติก, ผลประกอบการ, หุ้นไทย, อีสเทิร์นโพลีเมอร์ กรุ๊ป