สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) แถลงดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการท่องเที่ยวไตรมาส 4/63 อยู่ที่ 62 เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาส 3/63 ที่ 60 เนื่องจากผู้ประกอบการได้รับอานิสงส์จากโครงการสนับสนุนการท่องเที่ยวของภาครัฐ เช่น โครงการกำลังใจ โครงการเราเที่ยวด้วยกัน และโครงการคนละครึ่ง ที่ช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยว
สถานภาพของธุรกิจในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในไตรมาส 4/63 มีการปิดกิจการถาวรราว 3% และปิดกิจการชั่วคราวราว 10% เพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/63 ที่มีอยู่ 3% แต่สถานประกอบการที่เปิดกิจการอยู่ 85% ต้องเผชิญปัญหาไม่มีลูกค้า สถานประกอบการ 50% มีการลดพนักงานลง 30-40% ส่วนพนักงานมีรายได้ลดลง 20-30% เนื่องจากมีการลดเงินเดือนและลดระยะเวลาทำงาน
ขณะที่สถานการณ์ด้านแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวของปี 63 มีผู้ตกงานราว 1.04 ล้านคน เพิ่มขึ้นจาก 502,720 คนในไตรมาส 3/63
สำหรับปี 63 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.698 ล้านคน ลดลงจากปีก่อน 83.22% ขณะที่มีรายได้ประมาณ 333,013 ล้านบาท ลดลงจากปีก่อน 82.58%
อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นคาดการณ์ไตรมาส 1/64 เท่ากับ 53 เป็นการคาดการณ์ที่ต่ำกว่าระดับปกติมาก และคาดว่าต่ำกว่าไตรมาส 4/63 เนื่องจากผู้ประกอบการมีความกังวลต่อการระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นช่วงปลายไตรมาส 4/63 และคาดว่าใช้เวลา 1-1.5 เดือนจึงจะควบคุมสถานการณ์ได้
นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธาน สทท. ระบุว่า สถานการณ์โควิด-19 ทำให้แรงงานภาคการท่องเที่ยวกว่า 4 ล้านคน ได้รับผลกระทบทั้งจากการถูกพักงานชั่วคราวและถูกลดเงินเดือน ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่นี้ อาจจะทำให้แรงงานในภาคการท่องเที่ยวตกงานมากกว่า 2 ล้านคน เนื่องจากผู้ประกอบการท่องเที่ยวส่วนใหญ่ไม่มีทุนพอที่จะรักษาการจ้างงานได้อีกต่อไป ซึ่งถือว่าเป็นความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจาก สทท.คาดว่า แม้จะมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 อย่างแพร่หลายแล้ว และการท่องเที่ยวจะสามารถกลับมาได้อย่างรวดเร็ว แต่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจปิดกิจการไปแล้วเป็นจำนวนมาก ทำให้เสียโอกาสในการที่จะให้ภาคการท่องเที่ยวเป็นกลไกในการช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ
สทท.เห็นว่าจำเป็นต้องสร้าง Tourism Labor Bank หรือธนาคารแรงงานภาคท่องเที่ยว เพื่อให้ผู้ที่ถูกเลิกจ้างหรือผู้ถูกพักงาน สามารถสมัครเข้ามาเพื่อหาโอกาสในการทำงาน และผู้ประกอบการสามารถเข้ามาเลือกจ้างผู้ที่มีทักษะตรงกับความต้องการได้ โดยแรงงานที่ยังเหลืออยู่ จะได้รับการแนะนำเพื่อไปพัฒนาทักษะ Up skill/Re skill และเพิ่มขีดความสามารถในด้านต่างๆ ซึ่ง สทท.ได้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ของภาครัฐ ให้เข้ามาสนับสนุนงบประมาณสำหรับ Tourism Labor Bank
ด้านนางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี รองประธาน สทท. ระบุว่า จำเป็นต้องช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อรักษาขีดความสามารถในการดำเนินกิจการไว้ เพราะยังมีบุคลากรในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวอยู่มากกว่า 3 ล้านคน และเมื่อผ่านพ้นวิกฤติไปแล้ว การท่องเที่ยวรูปแบบใหม่จะเข้ามา ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและพนักงานจะต้องปรับตัวและยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของตน เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการสร้างและกระจายรายได้ให้กับประเทศ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนถึงสภาวะปกติในอีก 2 ปีข้างหน้า
ดังนั้น สทท.จึงขอเรียกร้องให้ภาครัฐช่วยประคองผู้ประกอบการให้ผ่านวิกฤตินี้ไปได้ ด้วยมาตรการเยียวยาต่างๆ ทั้งการช่วยลดค่าใช้จ่าย เพิ่มสภาพคล่อง และเสริมรายได้ เช่น มาตรการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 2 ปี มาตรฐานเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) 2% และปลอดการชำระหนี้ช่วง 6 เดือนแรก และมาตรการ Co-pay หรือการที่ภาครัฐช่วยจ่ายค่าจ้างสำหรับผู้ประกอบการในระบบประกันสังคมที่ยังคงจ้างงานอยู่เป็นเวลา 1 ปี ลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า 15% เป็นเวลา 6 เดือน เป็นต้น
ขณะที่นายสุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ รองประธาน สทท. กล่าวว่า หลังจากที่ประเทศไทยสามารถควบคุมการแพร่ระบาดรอบใหม่ได้แล้ว มาตรการแรกที่ต้องทำ คือการกระตุ้นไทยเที่ยวไทย เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน ที่ครอบคลุมสินค้าการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ การกระตุ้นการเดินทาง และจัดประชุมสัมมนาของภาครัฐ องค์กรเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสถาบันการศึกษา การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบพรีเมียมเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงการจัดให้มีคณะทำงานร่วมระหว่างภาครับและเอกชน ในการขับเคลื่อนไทยเที่ยวไทยอย่างจริงจัง โดยแผนงานต่างๆ นั้น ต้องเริ่มทำตั้งแต่ช่วงนี้ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความพร้อม เกิดสินค้าทางการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ยกระดับมาตรฐานและมีศักยภาพพอที่จะรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะต่อไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 ม.ค. 64)
Tags: กระตุ้นท่องเที่ยว, ชำนาญ ศรีสวัสดิ์, ดัชนีเชื่อมั่นท่องเที่ยว, ท่องเที่ยว, มาริสา สุโกศล, สทท., สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย, สุทธิพงศ์ เผื่อนพิภพ