“Weekly Highlight” สัปดาห์นี้ (25-29 ม.ค.) มาเจาะลึกกับข่าวสารสำคัญ ในรอบสัปดาห์ประจำวันที่ 25 มกราคม 2564
เริ่มต้นกับการสรุปภาพรวมตลาดหุ้นไทยในสัปดาห์ที่แล้ว (18-22 ม.ค.) SET INDEX ปิดที่ระดับ 1,497.88 จุด ลดลง 1.40% จากสัปดาห์ก่อน ตอบรับกับแรงขายในหุ้นบิ๊กแคป ที่ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี รวมถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ,และกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
แม้ว่าบรรยากาศการลงทุนในตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ จะยังถูกปกคลุมไปด้วยภาพของความเสี่ยง จากแรงขายในหุ้นไซส์บิ๊กแคปที่มีโอกาสเกิดขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนฉุดดัชนีตลาดหุ้นไทยให้ปรับตัวลดลงปิดต่ำกว่า 1,500 จุดเป็นครั้งแรกในรอบ 2 สัปดาห์ แต่จากการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์ในหลายสำนัก ต่างก็ยังมีความเชื่อมั่นว่าอาจเป็นภาวะการพักฐานแค่ชั่วคราว ส่วนหนึ่งเกิดจากตัวแปรระยะสั้นที่มีผลกระทบต่อจิตวิทยาของกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันขนาดใหญ่ นั้นก็คือแผนทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่มี Free Float ต่ำของทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อต้องการลดความผันผวนของดัชนีฯจากการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นบางตัวที่มี Free Float ต่ำและให้เป็นไปในแนวทางเดียวกับสากล
นายถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าฝ่ายวิจัย บล.กรุงไทย ซีมิโก้ ประเมินภาพรวม SET INDEX สัปดาห์นี้มีโอกาสพักฐานระยะสั้น กำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของดัชนีฯในรอบนี้จะอยู่ที่ 1,460-1,500 จุด แม้ว่าในช่วงกลางสัปดาห์นี้ อาจจะยังพอมีลุ้นกับปัจจัยสนับสนุนจากผลการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯในวันที่ 26-27 ม.ค. เบื้องต้นน่าจะเห็นการส่งสัญญาณใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในยุคของนายโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯคนใหม่ แต่ต้องจับตาการโยกเม็ดเงินของกลุ่มผู้ลงทุนสถาบันรายใหญ่ที่มีต่อปัจจัยทบทวนมาตรการเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่มี Free Float ต่ำอย่างไร
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า หลังจากที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีแผนทบทวนหลักเกณฑ์และมาตรการเกี่ยวกับหลักทรัพย์ที่มี Free Float ต่ำ ซึ่งจะทำให้ดัชนีนั้นไม่ปรับตัวผันผวนจนเกินไป และยังเป็นหลักกณฑ์ที่ใช้ในดัชนีสำคัญระดับโลก เช่น MSCI, FTSE, S&P เป็นต้น ทั้งนี้ หากเกิดขึ้นจริงจะกระทบกับสมาชิกที่อยู่ในดัชนีปัจจุบันพอสมควร โดยเฉพาะดัชนีสำคัญ เช่น SET50 และSET100 จากการศึกษาอ้างอิงกับราคาปิดของหุ้นแต่ละตัวเมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมาพร้อมกับสมมติฐานข้อมูลต่าง ๆ พบว่า หุ้นที่คาดว่าจะได้รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นมากสุดหากมีการปรับเปลี่ยนวิธีคำนวณดัชนีใหม่ ได้แก่ BBL,SCC, SCB, KBANK, BDMS, INTUCH, CPALL, PTT, CPN, TISCO หุ้นที่คาดว่าจะถูกลดน้ำหนักมากที่สุดคือ DELTA,AOT, GULF, ADVANC, GPSC, PTTEP, SCGP, AWC, BJC, CBG
นอกจากนี้จากการคำนวณพบว่าหุ้นที่มีโอกาสถูกลดน้ำหนักส่วนใหญ่เป็นหุ้นที่มีน้ำหนักค่อนข้างมากในดัชนีปัจจุบันหากนับเฉพาะ 10 ตัวแรกของดัชนี SET50 และ SET100 พบว่าเกณฑ์ใหม่จะทำให้หุ้น 10 ตัว นี้มีน้ำหนักรวมกันลดลงในดัชนี SET50 ลง 2.4% และ SET100 ลง 2.5% หมายความว่าระหว่างทางที่จะไปคำนวณรอบใหม่นั้น หากนักลงทุนสถาบันบางส่วนตัดสินใจ ทยอยลดน้ำหนักหุ้นเหล่านี้ลง จะส่งผลให้ SET Index ปรับตัวลงโดยสุทธิได้ เนื่องจากยังเป็นช่วงของการคำนวณแบบ Full market cap อยู่ สอดคล้องกับผลการศึกษา Put-Call ratio ก่อนหน้านี้ โดย SET Index มืโอกาสปรับตัว Sideways down หลังจากนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือตัวหุ้น OR ที่กำลังจะ IPO จะเข้าสู่ตลาดด้วย Free foat เพียงแค่ 22.5-25% เท่านั้น ดังนั้นหลัง OR ถูกบรรจุเข้าสู่ดัชนี SET50 และ SET100 ผ่านเกณฑ์ Fast track ในช่วงเดือนหน้า หากตลท.ปรับเปลี่ยนวิธีคำนวณดัชนีใหม่จริงจะทำให้ OR เป็นหนึ่งในหุ้นที่มีโอกาสลดน้ำหนักด้วยเช่นกัน
สำหรับเงินบาทในสัปดาห์นี้ (25-29 ม.ค.) ธนาคารกสิกรไทยประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทไว้ที่ 29.80-30.20 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม คือ ผลการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐ และสัญญาณการระบาดของโควิด-19 ทั่วโลก และตลาดยังรอติดตามรายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนธ.ค. 63 ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ด้วยเช่นกัน
“เงินบาททยอยแข็งค่าขณะที่เงินดอลลาร์ฯอ่อนค่าจากสัญญาณเร่งผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ฯ ของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 ม.ค. 64)
Tags: PODCAST, SET, SET Index, กรุงไทย ซีมิโก้, ค่าเงินบาท, ณัฐชาต เมฆมาสิน, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, ถนอมศักดิ์ สหรัตน์ชัย, ทรีนีตี้, ธนาคารกสิกรไทย, หุ้นไทย, เงินบาท