- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 13,500 คน (+198)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 118 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 73 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 6 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศไม่อยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 1 ราย
- รักษาหายแล้ว 10,567 คน (+119)
- เสียชีวิตสะสม 73 คน (+1)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 198 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ 118 ราย จากค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 73 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด 6 ราย ผู้เดินทางจากต่างประเทศไม่เข้าสถานที่กักกัน 1 ราย ขณะที่วันนี้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 13,500 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 6,568 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 4,568 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,364 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 10,567 ราย เพิ่มขึ้น 119 ราย ขณะที่มียอดผู้เสียชีวิตสะสม 73 ราย
พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวให้รายละเอียดสำหรับผู้เสียชีวิตวันนี้ว่า เป็นหญิงไทยอายุ 73 ปี มีโรคประจำตัวคือความดันโลหิตสูง โรคสมองเสื่อมและโรคลมชัก ภูมืลำเนาอยู่จ.สมุทรสาคร มีประวัติเป็นผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในครอบครัวซึ่งมาจากจ.สมุทรสาครเช่นกัน มีอาการตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค. 64 มีอาการไอ เสมหะ อ่อนเพลีย เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมุทรสาคร
วันที่ 7 ม.ค.ตรวจหาเชื้อโควิด-19 เนื่องจากสอบถามประวัติว่าได้สัมผัสใกล้ชิดผู้ที่เป็นผู้ป่วยยืนยัน วันที่ 9 ม.ค.ผลยืนยันว่าผลเป็นบวก โดยผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยมากขึ้น และผลเอ็กซเรย์ปอดพบว่ามีการอักเสบรุนแรง ผู้ป่วยเหนื่อยมากขึ้น แพทย์ได้ให้การช่วยเหลือโดยใส่ท่อช่วยหายใจ และส่งตัวไปรักษาต่อที่รพ.ตากสิน
จากวันที่ 9 ม.ค. จนถึงวันที่ 20 ม.ค. ดูมีแนวโน้มอาการดีขึ้น จนสามารถเอาท่อช่วยหายใจออกได้ในวันที่ 20 ม.ค.แต่ยังมีรายงานเสมหะมาก เสมหะเหนียวข้น และยังไม่มีแรงไอขับเสมหะ จึงต้องใช้เครื่องดูดเสมหะเป็นระยะๆ แต่ว่าในวันที่ 23 ม.ค.พบว่าผู้ป่วยเรียกไม่รู้สึกตัว เรียกไม่ได้ยิน และหัวใจหยุดเต้น แพทย์ทำการกู้ชีพกว่า 30 นาที แต่ผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อการรักษา เสียชีวิตเวลา 01.33 น.
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า จากตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.จนถึงขณะนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อยังขึ้นๆลงๆ ยังวางใจไม่ได้ โดยเมื่อพิจารณารายจังหวัด ผู้ติดเชื้อรายใหม่ในวันนี้ 198 ราย มาจากจ.สมุทรสาคร 76 ราย กรุงเทพมหานคร 21 ราย นนทบุรี 1 ราย สมุทรสงคราม 7 ราย ราชบุรี 1 ราย สมุทรปราการ 12 ราย
และเป็นการคัดกรองเชิงรุกทั้งสิ้น 73 รายซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเช่นเคย มาจากจ.สมุทรสาคร 72 รายและจ.ระยอง 1 ราย
ส่วนผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ 7 ราย มาจากเบลเยี่ยม 1 ราย มาเลเซีย 1 ราย บาห์เรน 1 ราย ฝรั่งเศส 2 ราย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 1 ราย และผู้เดินทางจากต่างประเทศที่คัดกรอง ณ ด่านฯ เป็นเมียนมา 1 ราย
ทั้งนี้ ตัวเลขที่เฝ้าระวังเชิงรุก ได้แก่ จ.สมุทรสาครเป็นอันดับแรก กรุงเทพมหานครซึ่งวันนี้ตัวเลขขึ้นมาเป็น 21 ราย ยังต้องเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง
ตั้งแต่ 3-9 ม.ค. จะเห็นว่ามีพื้นที่ที่มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 51 ราย กระจุกตัวอยู่บริเวณส่วนกลางของประเทศ ส่วนภาคใต้มีพื้นที่สีส้ม และสีเหลือง ซึ่งพื้นที่สีส้มมีผู้ติดเชื้อไม่ถึง 50 ราย พื้นที่สีเหลืองมีผู้ติดเชื้อ 1-10 ราย ส่วนพื้นที่สีขาวคือไม่มีผู้ติดเชื้อ แต่ถ้าดูแนวโน้มสัปดาห์ที่ 2-4 มีกำลังใจมากขึ้น วันนี้จะเห็นภาพแผนที่ประเทศไทย ขาวเกือบทั้งหมด ซึ่งหมายความว่ามีหลายจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อในสัปดาห์ที่ผ่านมา
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ข้อสรุปจากที่ประชุม ศบค.เช้าวันนี้ จ.สมุทรสาคร มีจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อสูง ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการค้นหาเชิงรุก และได้ขอความร่วมมือชุมชน ตลาด โรงงาน ให้ร่วมมือกับทีมระบาดวิทยาที่เข้าไปตรวจหาเชื้อ ซึ่งเมื่อวันที่ 19 ม.ค.ได้ตรวจไปทั้งสิ้น 9,555 ราย และก็มีผลผู้ติดเชื้อรายวัน และวันนี้ (24 ม.ค.)ผ่านไป 5 วัน ตัวเลขที่ตรวจมากถึง 6-7 หมื่นราย ซึ่งได้ผลตรวจยืนยันผู้ติดเชื้อ จำนวน 5,332 ราย การตรวจแบบนี้ทำให้สามารถแบ่งจ.สมุทรสาครออกเป็นเขตอย่างชัดเจนในส่วนพื้นที่มีผู้ติดเชื้อ ทำให้ทั้งจังหวัดทราบข้อมูลคร่าวๆ หรือประมาณการ จากการค้นพบผู้ป่วย 5 พันกว่าราย จากการตรวจทั้งสิ้น 7 หมื่นราย หมายความว่า พบผู้ติดเชื้อ 7% คือตรวจ 1,000 ราย เจอ 70 ราย ตรวจ 10,000 ราย มีความเป็นไปได้ว่าจะเจอ 700 ราย แต่อาจจะเจอตัวเลขน้อยกว่านั้นได้
ใน 7 %ที่มีโอกาสพบผู้ติดเชื้อ ทำให้คาดการณ์ได้ว่าในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จากการระดมการตรวจวันละ 10,000 ราย จะยังพบเห็นตัวเลขที่ยังสูงขึ้น 5 วันถัดไปอาจจะพบถึง 2,000 – 3,000 ราย เป็นไปตามที่คาดการณ์ และนอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญ ทางจังหวัด จะนำตัวเลขไปเตรียมการรักษา โดยรองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร ได้รายงานถึง โรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม Factory Quarantine มีความพร้อมสูงสุด คือหากมีผู้ติดเชื้ออาการหนักส่งเข้ารพ.ทางรพ.มีเตียงพร้อม แต่หากไม่มีอาการหนักมีสถานที่กักกันเขาไม่ให้มีการแพร่เชื้อต่อไป ก็มีความพร้อม
ดังนั้นนายแพทย์สาธารณสุขฝากขอความร่วมมือประชาชนด้วย เพราะในช่วง 4-5 วันจะยังมีการตรวจเชิงรุกอย่างเข้มข้น ไม่ว่าจะเป็นโรงงานทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ตลาด ชุมชน หอพักคนงาน โดยนโยบายจะตรวจให้หมดให้เสร็จสิ้นภายใน 1 สัปดาห์ จากนั้นจะพยายามทำให้พื้นที่สีเขียว เช่น บ้านแพ้ว ซึ่งมีบางตำบลยังเป็นสีเหลือง เป้าหมายปลายสัปดาห์จะเห็นบ้านแพ้วเป็นสีเขียวให้หมดทั้งอำเภอ เป็นต้น หรือ อ.กระทุ่มแบน ซึ่งตอนนี้บางส่วนแดง บางส่วนเหลือง เราพยายามให้กลับมาเป็นพื้นที่สีเหลืองให้มากที่สุด
มาตรฐานดังกล่าวเช้มข้นเพื่อไปสู่การวางแผนมาตรการ โดยหลายฝ่ายสอบถามมาว่า โรงเรียนจะสามารถเปิดได้หรือยัง ตลาดกลางกุ้งจะเปิดเมื่อไหร่ และส่วนในชุมชน ร้านอาหาร หรือร้านประเภทใดเปิดได้ หรือประเภทไหนยังต้องเฝ้าระวังต่อ ตัวเลขเหล่านี้จะนำไปสู่การกำหนดมาตรการผ่อนคลาย ตั้งแต่ช่วงที่ 1 คือสัปดาห์หน้าทางจ.สมุทรสาครจะยังค้นหาเชิงรุกอย่างเข้มข้นตั้งเป้าหมายทำให้สำเร็จทั้งจังหวัด และจัดการดูแลให้เบ็ดเสร็จเพื่อให้มีพื้นที่สีเขียวมากขึ้น และส่วนที่เป็นสีแดงให้กลายมาเป็นพื้นที่สีเหลืองให้มากขึ้น จากนั้นในช่วง 1-7 ก.พ.จะมีการเก็บรายละเอียดในพื้นที่ที่ยังมีความเสี่ยง
และเชื่อว่าภายใน ช่วง 8-15 ก.พ.การติดเชื้อก็จะค่อนข้างเบาบาง ทั้งนี้ จ.สมุทรสาครจะเป็นตัวอย่างที่จะทำกันทั่วประเทศ ทั้งการกำหนดมาตรการผ่อนคลาย ใช้ตัวเลขและระยะใกล้เคียงกัน วันที่ 25-31 ม.ค.ทุกๆพื้นที่จะช่วยกันเฝ้าระวังอย่างเข้มข้นถึงที่สุด ดังนั้นพี่น้องประชาชนต้องร่วมมืออย่างสูงสุด
นอกจากนี้ วันนี้ได้มีการพูดคุยถึงสถาบันอุดมศึกษาด้วย ถ้าในสัปดาห์หน้าหากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังดีต่อเนื่องอย่างนี้ เราคาดการณ์ได้ว่าในช่วงต้นเดือนก.พ.สถานศึกษาอาจจะเปิดการเรียนการสอนในบางพื้นที่ ในส่วนของชุมชน สถานบริการ ร้านอาหารต่างๆ ให้เฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดในสัปดาห์นี้คงมีมาตรการออกมาให้ติดตามกัน
ทั้งนี้มีตรวจค้นหาเชิงรุกจ.สมุทรสาครทีมแพทย์จ.สมุทรสาครไม่เพียงพอแน่นอน จึงได้มีหน่วยแพทย์จากรพ.เอกชน โรงเรียนแพทย์ ซึ่งทีมแพทย์ได้ลงพื้นที่ในวันนี้แล้ว รวมทั้งภาคเอกชนไม่ว่าจะเป็นหอการค้าไทย สภาอุตสาหกรรม ตอนนี้ระดมกำลังกันอย่างหนักหน่วงเพื่อทำให้สมุทรสาครกลับมาเป็นพื้นที่สีเขียวได้ตามเป้าหมาย
สำหรับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลกล่าสุดมียอดผู้ติดเชื้อสะสมรวมทั้งสิ้น 99,322,604 ราย เสียชีวิต 2,130,293 ราย โดยประเทศที่มียอดผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 25,566,789 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,655,435 ราย อันดับสาม บราซิล 8,816,254 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 3,698,273 ราย อันดับห้า สหราชอาณาจักร 3,617,459 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 126
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลก ยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นระดับคงตัว เพิ่มขึ้นวันละ 5-6 แสนคน ส่วนเพื่อนบ้านเราได้แก่ อินเดีย อินโดนีเซีย ยังมีการติดเชื้อวันละหลักหมื่น ญี่ปุ่นติดเชื้อ 5,054 ราย มาเลเซีย 4,275 ราย และเมียนมามีผู้ติดเชื้อ 507 ราย จะเห็นว่าสถานการณ์มีผุ้ติดเชื้ออยู่เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นไทยก็ต้องเฝ้าระวังที่จะมีผู้ข้ามพรมแดนโดยผิดกฎหมาย ซึ่งฝ่ายความมั่นคงก็ใช้ความพยายามอย่างเต็มที่ ในการควบคุมสถานการณ์
สำหรับการระบาดระลอกใหม่นับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค.63 เป็นต้นมา ขณะนี้มีผู้ป่วยสะสม 9,263 ราย โดยมีผู้ติดเชื้อมากที่สุดในจ.สมุทรสาคร เพราะฉะนั้นถ้าเราสามารถควบคุมสถานการณ์ที่สมุทรสาครได้เร็ว การระบาดต่างๆ และสถานการณ์ในประเทศไทยก็จะดีขึ้น ได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน
ทั้งนี้ ในวันนี้ (24 ม.ค.) มีผู้ติดเชื้ออยู่จำนวน 7 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพและปริมณฑล ระยอง และจังหวัดในภาคกลาง ส่วนจังหวัดอื่นๆที่มีผู้ติดเชื้อเมื่อ 3-4 สัปดาห์ก่อนหน้านี้ ส่วนใหญ่ค้นหาผู้ป่วยได้รวดเร็วและควบคุมไม่ให้มีการแพร่ระบาดในจังหวัดของตนเองได้ ก็ถือว่าจังหวัดต่างๆก็สามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ดี เพราะฉะนั้นมาตรการที่ต้องดำเนินการต่อไปโดยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดต้องควบคุม ค้นหาผู้ป่วยที่เข้าไปในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงที ลดความเสี่ยงในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่างๆ ให้ได้มากที่สุด และปฏิบัติการตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด
สำหรับกรณีดีเจมะตูม เริ่มต้นที่สถานบันเทิง จ.เชียงใหม่ วันที่ 1-5 ม.ค.64 ซึ่งไม่ได้เว้นระยะห่างไม่มีการสวมใส่หน้ากากอนามัย แล้วมีผู้ติดเชื้อที่สถานบันเทิงดังกล่าวเป็นจำนวนมาก มีผู้ป่วยรายแรก อายุ 33 ปี นักท่องเที่ยวไม่มีอาการจากนั้นได้ไปงานปาร์ตี้วันเกิดของดีเจมะตูม มีผู้เกี่ยวข้องไปร่วมงานจำนวนมาก เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ส่วนผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ NBT จากการสอบสวนเบื้องต้นก็ได้ไปร่วมงานปาร์ตี้ว้นเกิดด้วยเช่นกัน จากนั้น ไปงานเลี้ยงอีกงาน รวมทั้งหมดเป็น 3 กลุ่มแต่เชื่อมโยงด้วยงานปาร์ตี้ โดยมีผู้ที่ติดเชื้อแล้วทั้งหมดที่เกี่ยวโยงกัน 19 คน ดังนั้นจะสังเกตุว่าจุดที่มีความเสี่ยง คือจุดที่เป็นสถานที่แออัด อากาศถ่ายเทไม่สะดวก คนที่มาร่วมกิจกรรมไม่ได้ใส่หน้ากากอนามัย และเวลารับประทานอาหารหรืออยู่ในงานเลี้ยงวันเกิด ซึ่งก็มีการเป่าเค้กวันเกิด หรือดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือสูบบุหรี่ เหล่านี้ล้วยเป็นปัจจัยเสี่ยง ว่าจะเป็นสาเหตุทำให้เกิดการติดเชื้อได้ เพราะคนส่วนใหญ่ที่ไปร่วมงานส่วนใหญ่ไม่มีอาการ บางคนก็จะคิดว่าไม่เป็นไร นี่ถือเป็นบทเรียน ความเสี่ยงเกิดจากการงานเลี้ยงสังสรรค์กันแม้จะอยู่ในหมู่คนรู้จักกัน ก็มีโอกาสติดเชื้อได้
ทั้งนี้ จากการที่มีการแพร่ระบาดในงานเลี้ยงดังกล่าวมีคนที่โหลดแอพ หมอชนะ ก็จะรู้ว่ามีใครมีโอกาสติดเชื้อระบบจะทำงานทันที จะมี sms แจ้งเตือนไปว่าไปสถานที่จัดงานในช่วงนั้นให้ไปพบแพทย์หรือสาธารณสุข อันนี้จะเป็นประโยชน์ของแอพ หมอชนะ เมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันก็จะมีแอพหมอชนะช่วยตรวจสอบ
ณ วันที่ 24 ม.ค.64 มีผู้ดาวน์โหลดแอพหมอชนะแล้ว 6.8 ล้านคน แต่สังเกตุระยะหลังการเพิ่มขึ้นการดาวน์โหลดแอพจะค่อนข้างน้อย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 ม.ค.ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันได้มีการแจ้งเตือนแล้ว 5,956 ราย การโหลดแอพหมอชนะ จะช่วยกันติดตามโรคควบคุมโรคเป็นไปอย่างรวดเร็ว
“ใน 2-3 เหตุการณ์ที่ผ่านมา เราพบว่า ผู้ที่ติดเชื้อ 1 คน ผู้ที่มีความเสี่ยงก็คือคนในครอบครัวจะเสี่ยงมากทีสุดเนื่องจากใช้เวลาอยู่ด้วยกันที่บ้าน แล้วส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ระมัดระวัง ทานอาหารร่วมกัน หรือบางครั้งเพื่อนก็มีงานเลี้ยงสังสรรค์กันก็เป็นจุดเสี่ยง เพราะฉะนั้น วิธีการป้องกันที่ดีก็ยังคงมาตรการไม่ว่าจะเป็นการอยู่ห่างกัน ใส่ mask ล้างมือบ่อยๆ เช็คชื่อทั้งไทยชนะ และโหลดหมอชนะ ก็จะเป็นมาตรการสำคัญในการป้องกัน”
นพ.โอภาส กล่าวซาบซึ้งต่อพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี ที่ทรงติดตามการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างใกล้ชิดที่แพร่ระบาดไปทั่วโลก และทรงคำนึงถึงความยากลำบากของราษฎรที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทุรกันดาร และพื้นที่แออัดให้สามารถเข้ารับบริการตรวจหาเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้อย่างรวดเร็วซึ่งกลับมาแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยในลักษณะเป็นกลุ่มก้อน ที่มีคนรวมตัวกันเป็นจำนวนมาก และด้วยสายวิสัยทัศน์อันกว้างไกลทรงให้ความสำคัญการวิเคราะห์ผลตรวจห้องปฏิบัติการว่าเป็นขั้นตอนจำเป็นที่ต้องดำเนินการให้รวดเร็วยิ่งขึ้น เพื่อให้ทราบผลและจำนวนผู้ติดเชื้อและสามารถออกมาตรการหรือควบคุมสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
โดยทรงมีพระราชดำริให้คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและทีมผู้เชี่ยวชาญสร้างห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่เพื่อออกไปตรวจวิเคราะห์ผลได้นอกโรงพยาบาลหรือหน่วยงานจะช่วยลดปัญหาการขนส่งตัวอย่าง และระยะเวลารอผลวิเคราะห์ โดยพระราชทานรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ ต้นแบบใช้งานคู่กับรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัย ในการค้นหาเชิงรุกแบบเบ็ดเสร็จในพื้นที่ ทราบผลที่รวดเร็วเพื่อให้ปวงชนพ้นจากโรคโควิด-19 ซึ่งได้มีการนำมาใช้ครั้งแรก เป็นการทดสอบในสถานการณ์จริง ปฏิบัติการค้นหาเชิงรุกโดยทันที กรณีพบผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 หรือ NBT ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร ติดเชื้อโควิด-19 ในวันที่ 22 ม.ค.64 โดยตรวจจำนวนตัวอย่าง 222 คน ผลออกมาเป็นลบ ได้ผลรวดเร็วตามที่คาดหมาย
วัตถุประสงค์ของรถพระราชทานนี้เพื่อเสริมการปฏิบัติงานของบุคคลากรด้านสาธารณสุขทั้งเก็บตัวอย่างและวิเคราะห์ผล ในพื้นที่อย่างรวดเร็วและแม่นยำและมีความปลอดภัยต่อบุคคลากรทางการแพทย์สูงสุดซึ่งลดปัญหาความล่าช้าการขนส่งสิ่งส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการของหน่วยงาน ที่โดดเด่นสามารถนำไปใช้วิเคราะห์เชื้ออื่นๆ ที่วิเคราะห์ด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกริยาโพลีเมอเลสโดยใช้เวลาวิเคราะห์เพียง 3 ชั่วโมง และวิเคราะห์ 70 ตัวอย่างต่อ 1 รอบเครื่องตรวจ
โดยตั้งแต่ที่ได้พระราชทานรถตรวจโรคติดเชื้อชีวนิรภัยจนถึงปัจจุบัน รถพระราชทานเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยซึ่งก.สาธารณสุขได้ขับเคลื่อนส่งต่อน้ำพระราชหฤทัย เพื่อเป็นกำลังใจให้แก่คนไทยทั่วประเทศ ด้วยปฏืบัติการตรวจบุคคลทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงเชิงรุก รวมแล้วกว่า 8 หมื่นราย เข้าถึงชุมชนเข้าถึงพื้นที่แพร่ระบาดได้รวดเร็วจึงกำลังจัดสร้างรถเก็บตัวอย่างชีวนิรภัยเพิ่มเติมอีกจำนวน 7 คันรวมเป็น 20 คันเพื่อก.สาธารณสุข จะได้นำไปใช้เป็นประโยชน์ต่อไป
สำหรับรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษเป็นห้องปฏิบัติการเคลื่อนที่ มีพื้นที่ใช้สอย 16.8 ตร.ม.ภายในประกอบด้วย 3 ห้องหลักได้แก่ องสกัดสารพันธุกรรม ห้องเตรียน้ำยาวิเคราะห์ และห้องวิเคราะห์ผลด้วยเทคนิคการเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกริยาโพลีเมอเรส ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถตรวจวิเคราะห์ผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำ สะดวกปลอดภัย มีห้องบัฟเฟอร์เพื่อควบคุมป้องกันการรั่วไหลของเชื้อโรคพร้อมเครื่องมือที่ติดตั้งในรถ ได้แก่ ตู้ปลอดเชื้อ ตู้ปฏิบัติงานซีซีอาร์ เครื่องสกัดสารพันธุกรรมอัตโนมัติ เครื่องเพิ่มสารพันธุกรรมดีเอ็นเอด้วยปฏิกริยาโพลีเมอเรส ตู้แช่แข็งลบ 20 องศาเซลเซียส ตู้ทำความเย็น 4 องศาเซลเซียส ช่องส่งตัวอย่าง เครื่องเขย่าผสมสาร เครื่องปั่นเหวี่ยงตกตะกอนไมโครไปเปต ระบบยูวีฆ่าเชื้อ ระบบสื่อสารสองทาง ระบบกล้องวงจรปิด และเครื่องมือแอลกอฮอล์อัตโนมัติ
รถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษ เป็นประโยชน์สามารถนำไปใช้คู่กับรถเก็บตัวอย่างพระราชทานชีวนิรภัยได้เป็นอย่างดี ในการตรวจหาเชื้อโควิด-19 มีความสมบูรณ์แบบมากขึ้น และสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในกรณีที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับภัยพิบัติอื่นๆ ทำให้สามารถเข้าช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที ซึ่งการรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษนี้ ได้รับการรับรองจากกรมวิทยาศาตร์การแพทย์ ก.สาธารณสุขเรียบร้อยแล้ว
นับเป็นข่าวที่ดี ในกรณีที่ผู้ประกาศข่าวสถานีโทรทัศน์ NBT ติดเชื้อโควิด-19 เนื่องจากท่านนี้เป็นผู้ทำงานเกี่ยวข้องกับคนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นการที่ทราบผลการตรวจได้อย่างรวดเร็วก็จะลดความตื่นตระหนกและสามารถให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, กรมควบคุมโรค, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, อภิสมัย ศรีรังสรรค์, โควิด-19, โอภาส การย์กวินพงศ์