กรุงเทพโพลล์ โดยศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพเผยผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเรื่อง “ถอดบทเรียน 365 วัน กับ COVID-19 คนไทย…เรียนรู้อะไร” เก็บข้อมูลจากประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,186 คน ระหว่างวันที่ 18-20 มกราคม 2564 โดยผลสำรวจต่อการมีความหวังกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่กำลังจะมานี้เพียงใดว่าจะช่วยป้องกันและหยุดยั้งเชื้อในประเทศได้ พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ 51.3% มีความหวังระดับปานกลาง ขณะที่ 32.8% มีความหวังมากถึงมากที่สุด และ 15.9% มีความหวังน้อยถึงน้อยที่สุด
ส่วนความกังวลมากที่สุดเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 พบว่ามีความกังวลเรื่องผลข้างเคียงหลังจากฉีดวัคซีน 39.6% , กังวลเรื่องประสิทธิภาพของวัคซีน 17.0% ,กังวลว่าเชื้อกลายพันธุ์ต้องคิดค้นวัคซีนใหม่ 12.8% , กังวลว่าจะไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่รับวัคซีนฟรี 12.7% ,กังวลว่าค่าฉีดวัคซีนมีราคาแพงเกินไป 10.1% และกังวลว่าจะมีการลักลอบนำวัคซีนมาโดยไม่ผ่านอย. 7.8%
สำหรับตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา คนไทยได้เรียนรู้ที่จะปฏิบัติตัวอย่างไร เพื่อให้อยู่รอด ปลอดโควิด-19 มากที่สุด คือ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ และเว้นระยะห่าง 99.3% ,ระวังตัวมากขึ้นเวลาไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน 86.6% , เช็กไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อ เช็กข่าวพื้นที่เสี่ยง อยู่เสมอ 74.8% , ทานแต่อาหารร้อน ปรุงสุกใหม่ๆ 69.1% ,สแกนไทยชนะ หมอชนะ ทุกครั้ง 47.3% , ปรับวิธีทำงานให้สามารถทำทั้งที่บ้านและที่ทำงานได้ 46.1% ,ใช้จ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อเลี่ยงการสัมผัส 45.1%
อย่างไรก็ตามหากการระบาดของโควิด-19 ยืดเยื้อจะส่งผลกระทบต่อท่านในเรื่องใดมากที่สุด พบว่าในด้านรายได้ และการประกอบอาชีพ 50.1% ,ความวิตกกังวลว่าตนเองและคนในครอบครัวจะติดเชื้อ 27.4% , การเดินทาง 15.0% ,การซื้อสินค้า และอาหารตุนไว้อุปโภคบริโภค 4.0% , รายจ่ายสำหรับซื้ออุปกรณ์ป้องกัน 3.2% และอื่นๆ อาทิ การเรียน และการศึกษาของบุตร 0.3%
บทเรียนสำคัญที่คนไทยได้เรียนรู้จากโควิด-19 ในรอบ 1 ปี พบว่าการปล่อยให้มีการลักลอบเข้าประเทศส่งผลเสียรุนแรง 40.2% ,การปิดบังข้อมูลเท่ากับทำให้คนอื่นมีความเสี่ยง 20.3% , คนเพียงบางกลุ่มที่ไม่ระวังตัวทำให้คนส่วนมากเดือดร้อน 17.6% ,ความร่วมมือในมาตรการต่างๆ ทำให้จำนวนการแพร่เชื้อลดลง 8.8% ,
การรวมกลุ่ม ชุมนุมในพื้นที่จำกัด เป็นแหล่งแพร่เชื้อชั้นดี 5.2% ,การเดินทางข้ามจังหวัดเป็นเหตุหนึ่งที่ทำให้เชื้อแพร่กระจาย 4.4% การปิดประเทศทำให้ลดการรับเชื้อ 3.5%
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 ม.ค. 64)
Tags: กรุงเทพโพลล์, ผลสำรวจ, มหาวิทยาลัยกรุงเทพ