ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ของไทยนับจากต้นปีที่ผ่านมา รวมถึงแนวโน้มระยะปานกลางถึงยาวอาจทยอยปรับตัวสูงขึ้นตามทิศทางตลาดพันธบัตรในต่างประเทศในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยมีแรงหนุนจากสองส่วนหลัก คือ
1) โอกาสการปรับขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้รับอิทธิพลจากพัฒนาการทางการเมืองของสหรัฐฯ ที่นำมาสู่การดำรงตำแหน่งของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีคนใหม่ซึ่งก็มาพร้อมกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ โดยหากสหรัฐฯ สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจชุดใหม่มีความคืบหน้าในระยะที่เหลือของปีนี้ ซึ่งน่าจะส่งผลทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ มีโอกาสทยอยปรับสูงขึ้นว่าระดับปัจจุบัน แม้อาจจะยังไม่กลับสู่ระดับก่อนเกิดวิกฤตโควิดรอบแรกภายในปีนี้
2) การคาดการณ์ว่า ภารกิจในการประคองทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย จะทำให้ทางการไทยมีความต้องการระดมทุนในระดับสูงต่อเนื่องจากปีก่อน ทั้งเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณปี 64 และการกู้ยืมเพื่อใช้สำหรับโครงการ/แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจต่างๆ ที่รวมๆ แล้ว น่าจะมีวงเงินสูงกว่าระดับ 1 ล้านล้านบาท
ดังนั้นแล้ว แม้ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรน่าจะทยอยขยับขึ้น แต่ขนาดและจังหวะความเร็วในการปรับตัวขึ้นนั้น ยังคงขึ้นอยู่กับอีกหลายตัวแปร โดยปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ความคืบหน้าของการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ การควบคุมโควิด-19 และแรงหนุนจากวัคซีน ตลอดจนสัญญาณการฟื้นตัวของตลาดแรงงานและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในภาพรวม ขณะที่จุดสนใจของตลาดพันธบัตรในช่วงครึ่งหลังของปีน่าจะอยู่ที่สัญญาณของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) โดยเฉพาะการทบทวนจังหวะการถอยออกจากนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างมาก ซึ่งแม้จะไม่เกิดในปีนี้ แต่ก็อาจเกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่ปี 65
“ทิศทางดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรไทยในปีนี้มีโอกาสทยอยไต่ระดับขึ้น น่าจะเป็นสถานการณ์ที่ตอกย้ำว่า การบริหารต้นทุนทางการเงินจะเป็นหนี่งในปัจจัยสำคัญสำหรับภาคธุรกิจที่มีแผนจะต้องเข้าระดมทุนผ่านตลาดหุ้นกู้ และ/หรือต้องออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อทดแทนรุ่นที่ครบกำหนด ซึ่งคาดว่าในปี 64 นี้จะมีตราสารหนี้ระยะยาวครบกำหนดประมาณ 7.2 แสนล้านบาท
ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่าอัตราดอกเบี้ยส่วนเพิ่มจากพันธบัตรรัฐบาล หรือ Credit Spread ของการออกหุ้นกู้ภาคเอกชนยังไม่ได้ปรับตัวดีขึ้นอย่างทั่วถึงในทุกกลุ่มอันดับความน่าเชื่อถือ และยังคงไม่ได้ปรับตัวลดลงมามากนักนับจากช่วงการระบาดของโควิดรอบแรกในปี 63 ที่ผ่านมา ซึ่งเท่ากับว่า ต้นทุนการกู้ยืมที่สะท้อนความเสี่ยงด้านเครดิตในตลาดหุ้นกู้ยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ และนักลงทุนบางส่วนอาจจะยังมีความกังวลในการกลับเข้าลงทุนในภาวะที่ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูง”
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สภาพคล่องในระบบที่ยังคงอยู่ในระดับสูงยังเพียงพอรองรับแนวโน้มการระดมทุนของทั้งภาครัฐและเอกชนที่รวมกันแล้วน่าจะไม่ต่ำว่าระดับ 2 ล้านล้านบาทในปี 64 นอกจากนี้การขยับขึ้นของต้นทุนดอกเบี้ยในตลาดพันธบัตรน่าจะถูกจำกัดกรอบไว้บางส่วนจากแนวโน้มการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับต่ำต่อเนื่องตลอดทั้งปี 64 ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ขณะที่สถานการณ์ตลาดพันธบัตรในต่างประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐฯ ยังคงขึ้นอยู่กับอีกหลายตัวแปร โดยเฉพาะความสามารถในการควบคุมการระบาดของไวรัสรอบใหม่ ความก้าวหน้าของการฉีดวัคซีนในประเทศ และแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 64)
Tags: ตราสารหนี้, บริหารต้นทุน, พันธบัตร, พันธบัตรรัฐบาล, อัตราดอกเบี้ย