- พาณิชย์ เผยส่งออก เดือน ธ.ค.63 ขยายตัว 4.71% จากตลาดคาดว่าจะหดตัว -1.3 ถึง -2.4% ส่วนนำเข้า เดือน ธ.ค. ขยายตัว 3.62% โดยเกินดุลการค้า 963.58 ล้านเหรียญฯ
- สำหรับทั้งปี 63 ส่งออกของไทยหดตัว -6.01% นำเข้าหดตัว -12.39% โดยเกินดุลการค้า 24,476.55 ล้านเหรียญฯ
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ แถลงตัวเลขการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือน ธ.ค.63 โดยการส่งออกไทยมีมูลค่า 20,082.74 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 4.71% จากตลาดคาดหดตัว -1.3 ถึง -2.4% ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 19,119.16 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 3.62% ส่งผลให้ดุลการค้า เกินดุล 963.58 ล้านเหรียญฯ
ทั้งนี้ การส่งออกของไทยขยายตัวเป็นบวกเช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียที่ฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญที่ปรับตัวดีขึ้น
ขณะที่ภาพรวมของปี 63 การส่งออกมีมูลค่ารวม 231,468.44 ล้านเหรียญฯ หดตัว -6.01% ส่วนการนำเข้ามีมูลค่ารวม 206,991.89 ล้านเหรียญฯ หดตัว -12.39% ส่งผลให้เกินดุลการค้า 24,476.55 ล้านเหรียญฯ
น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.63 พลิกกลับมาเป็นบวกในรอบ 8 เดือน และมีอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 เดือน แม้จะมีการระบาดของไวรัสโควิดรอบสอง แต่หลายประเทศมีการบริหารจัดการที่ดีขึ้น โดยประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เฉพาะจุดในบางพื้นที่ จึงทำให้ภาคการผลิตและขนส่งยังสามารถดำเนินต่อไปได้
นอกจากนี้ ผลจากการระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนในหลายภูมิภาค ช่วยกระตุ้นอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสามารถรักษาทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์ 3) สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกอย่างมากในช่วงนี้
ด้านตลาดส่งออกสำคัญขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า โดยตลาดหลัก ขยายตัว 10.4% เช่น สหรัฐฯ ขยายตัว 15.7% ญี่ปุ่น ขยายตัว 14.8% เป็นต้น ขณะที่ตลาดศักยภาพสูง ขยายตัว 2.6% เช่น จีน ขยายตัว 7.2% เอเชียใต้ ขยายตัว 14.9% เป็นต้น ส่วนตลาดศักยภาพรอง ขยายตัว 1.5% เช่น ตะวันออกกลาง ขยายตัว 15% เป็นต้น
มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร กลับมาขยายตัว 2.1% ในรอบ 3 เดือน ส่วนมูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม กลับมาขยายตัว 6.7% ในรอบ 8 เดือน
“ภาพรวมการส่งออกในเดือนธ.ค. มีสัญญาณที่ดีขึ้นหลายตัว ทั้งสินค้าอุตสาหกรรมที่ฟื้นตัวจากก่อนหน้านี้ที่มีปัญหาจากสงครามการค้า และสถานการณ์โควิด ขณะที่รายตลาดก็ฟื้นตัวดีเช่นกัน ขณะที่ทั้งปี 63 มูลค่าส่งออกดีกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ที่ -7% มีสัญญาณดี เพราะมีการนำเข้าสินค้ากลุ่มทุน และกลุ่มวัตถุดิบ ทำให้มีการเกินดุลการค้า แต่อาจจะทำให้เงินบาทในระยะต่อไปแข็งค่าได้ ซึ่งถือว่าเรื่องค่าเงินจะเป็นปัจจัยที่ท้าทายสำหรับปี 64”
น.ส.พิมพ์ชนกระบุ
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกไทยในปี 64 ว่าได้รับปัจจัยบวกจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยกระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกในปี 2564 จะเติบโตที่ 4% เนื่องจากได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีน และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ช่วยให้ประเทศคู่ค้ามีกำลังซื้อมากขึ้น ประกอบกับนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะกลับมายึดถือตามกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) จะช่วยให้การแก้ปัญหาความขัดแย้งจากสงครามทางการค้ามีความเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงกลุ่มความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ที่จะมีผลบังคับใช้ในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ก็เป็นที่คาดหมายว่าจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าของประเทศสมาชิกรวมถึงไทย
ขณะที่ปัจจัยลบต่อการส่งออก ได้แก่ ค่าเงินบาทที่ยังอยู่ในทิศทางแข็งค่าขึ้นเทียบกับสกุลเงินของคู่แข่งในภูมิภาค ส่งผลกระทบต่อการแข่งขันสำหรับสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อราคา รวมถึงอุปสรรคด้านการขนส่งสินค้าจากการขาดแคลนตู้สินค้า ทำให้ผู้ส่งออกมีภาระต้นทุนด้านโลจิสติกส์เพิ่มสูงขึ้นหลายเท่าตัว และอุปสรรคในการเจรจาความตกลงการค้า อาทิ CPTPP ซึ่งไทยยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ทำให้สินค้าส่งออกของไทยในอนาคต อาจมีความเสี่ยงที่จะสูญเสียแต้มต่อด้านภาษีนำเข้า และเสียเปรียบคู่แข่งขันในภูมิภาคเดียวกัน
อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่การส่งออกไทยจะขยายตัวได้มากกว่า 4% โดยอาจขยายตัวได้ 5% จากเหตุผลในเรื่องการกระจายวัคซีนโควิดที่สามารถทำได้อย่างทั่วถึงไปทั่วโลก ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อเพิ่มขึ้น เป็นผลดีต่อปริมาณการค้าโลกและการส่งออกไทย
ทั้งนี้ การส่งออกไทยในปี 64 ที่คาดว่าจะขยายตัว 4% คิดเป็นมูลค่ารวม 2.40 แสนล้านเหรียญฯ โดยมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนอยู่ที่ 20,061 ล้านเหรียญฯ แต่หากการส่งออกสามารถขยายตัวได้ 5% จะมีมูลค่ารวมที่ 2.43 แสนล้านเหรียญฯ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกเฉลี่ยต่อเดือนที่ 20,253 ล้านเหรียญฯ โดยในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ การส่งออกอาจจะยังไม่ฟื้นตัวขึ้นมาก แต่ก็จะเริ่มเห็นทิศทางที่ดีขึ้น
“จากที่ในปลายปี 63 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น ทำให้การส่งออกของไทยและประเทศคู่แข่งเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นเช่นกัน ดังนั้นในปี 64 นี้ คาดว่าการค้าจะเริ่มแข่งขันกันรุนแรงมากขึ้น แต่เชื่อว่าสินค้าไทยยังมีความเข้มแข็ง และสามารถต่อยอดสินค้าได้ ทำให้สินค้าส่งออกของไทยมีมูลค่าเพิ่มขึ้น”
ผู้อำนวยการ สนค.กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 64)
Tags: กระทรวงพาณิชย์, ส่งออก