SCB กำไรปี 63 หด 33% รับผลตั้งสำรองฯพุ่ง-NPL เพิ่ม

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานในปี 63 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 27,218 ล้านบาท ลดลง 33% จากปี 62 เป็นผลจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น ทั้งนี้ กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองมีจำนวน 80,437 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน (ไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปีก่อน) ซึ่งเป็นผลจากการเติบโตของรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยที่แข็งแกร่งและการควบคุมค่าใช้จ่ายที่มีประสิทธิภาพ

รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 96,899 ล้านบาท ลดลง 3% จากปีก่อน สาเหตุหลักมาจากผลกระทบของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายหลายครั้งในช่วงครึ่งแรกของปี ในขณะที่สินเชื่อโดยรวมขยายตัว 7% จากปีก่อน จากความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจขนาดใหญ่และการสนับสนุนสินเชื่อซอฟท์โลนให้กับลูกค้าธุรกิจ

รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยมีจำนวน 47,869 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากปีก่อน (ไม่รวมกำไรพิเศษครั้งเดียวจากการขายหุ้นในบริษัทไทยพาณิชย์ประกันชีวิตในปี 2562) โดยรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่งยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปภายหลังจากการผ่อนคลายมาตรการปิดเมืองในช่วงปลายเดือนมิถุนายน

ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานมีจำนวน 64,330 ล้านบาท ลดลง 9% จากปีก่อน เป็นผลจากการที่ธนาคารสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้ของธนาคารในปี 2563 ปรับตัวดีขึ้นเป็น 44% เปรียบเทียบกับ 49% ในปีก่อน (หากไม่รวมรายการพิเศษครั้งเดียวในปี 2562)

ในปี 63 ธนาคารได้ตั้งสำรองจำนวน 46,649 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 29% จากปีก่อน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์เศรษฐกิจของการแพร่ระบาดของโควิด-19

อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL) ณ สิ้นปี 63 อยู่ที่ 3.68% เพิ่มขึ้นจาก 3.41% ในปีก่อน ส่วนใหญ่เป็นผลของการจัดชั้นลูกหนี้เชิงคุณภาพในกลุ่มลูกค้าที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอัตราส่วนค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพของธนาคารยังอยู่ในระดับสูงที่ 141% ในขณะที่เงินกองทุนตามกฎหมายของธนาคารยังอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 18.2%

“แม้ว่ากำไรสุทธิในปีที่ผ่านมาได้รับแรงกดดันจากการตั้งสำรองที่สูงขึ้น แต่ผลประกอบการจากธุรกิจหลักของธนาคารยังคงแข็งแกร่งและเงินกองทุนของธนาคารยังอยู่ในระดับสูง ตั้งแต่การเริ่มแพร่ระบาดของโควิด-19 ธนาคารได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าผ่านโครงการช่วยเหลือทางการเงินในด้านต่างๆ ไปแล้วมากกว่าหนึ่งล้านราย ซึ่งในช่วงครึ่งปีหลัง ลูกค้าที่ได้รับความช่วยเหลือได้ทยอยออกจากโครงการทำให้ยอดสินเชื่อภายใต้โครงการช่วยเหลือทางการเงินลดลงเป็นอย่างมาก โดย ณ สิ้นปี 2563 มียอดรวมอยู่ที่ประมาณ 402,000 ล้านบาท หรือ 18% ของยอดสินเชื่อรวมของธนาคาร”นายอาทิตย์ กล่าว

นายอาทิตย์ กล่าวอีกว่า สำหรับปี 64 การแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศทำให้ทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีความไม่แน่นอนสูง แม้ว่าจะมีพัฒนาการในการเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก็ตาม ดังนั้น ธนาคารจะยังคงมุ่งให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบเพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ และธนาคารยังคงมุ่งมั่นในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องโดยการพัฒนาธุรกิจที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี การขยายฐานรายได้จากธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ประกันผ่านธนาคารและธุรกิจการบริหารความมั่งคั่ง และการปรับเปลี่ยนองค์กรเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มศักยภาพ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ม.ค. 64)

Tags: , , ,