ทีเส็บ-13 ภาคีเอกชนต่อยอดโครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่าลดผลกระทบโควิด

นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่าผลจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในรอบใหม่นี้ ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมไมซ์ ทำให้ทีเส็บ และ 13 ภาคีภาคเอกชน ร่วมหารือแสวงหามาตรการที่เหมาะสมในการปกป้องอุตสาหกรรมไมซ์ในระยะเฉพาะหน้า และเตรียมพร้อมแผนงานในระยะยาว

ที่ประชุมได้ข้อสรุปที่จะให้ความสำคัญต่อการกระตุ้นให้เกิดการจัดกิจกรรมไมซ์ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยยึดมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณสุข และส่งเสริมให้เกิดธุรกิจในพื้นที่ต่าง ๆ กระจายสู่ทั่วประเทศ

หนึ่งในโครงการหลักที่จะดำเนินงาน คือ ต่อยอดโครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่า สนับสนุนงบประมาณกระตุ้นการจัดกิจกรรมไมซ์และการเดินทางในประเทศ โดยใช้ไมซ์เป็นเครื่องมือช่วยบรรเทาปัญหาของประเทศ ที่ทีเส็บและภาคีร่วมกันทำเมื่อปีที่แล้ว และประสบความสำเร็จอย่างดีมาก กล่าวคือ มีองค์กรภาคเอกชนจัดกิจกรรมไมซ์มากถึง 1,049 กลุ่ม มีการเดินทางของประชาชน 62,000 คนไปในกว่า 50 จังหวัด ซึ่งที่ผ่านมาภายในเวลาสั้น ๆ ความร่วมมือของบริษัท ห้างร้าน ช่วยกระจายเม็ดเงินไปไม่นอยกว่า 130 ล้านบาทไปในทั่วภูมิภาค ทำให้มั่นใจว่าโครงการนี้จะไปต่อได้ และเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเบื้องต้นจะปรับใช้แผนงบประมาณภายในสำหรับโครงการนี้ประมาณ 20 ล้านบาท

แบ่งการดำเนินงานเป็น 6 ด้าน ประกอบด้วย

  1. การส่งเสริมตลาดเพื่อผู้ประกอบการ กระตุ้นการจัดประชุมสัมมนาในประเทศ สานต่อโครงการประชุมเมืองไทยปลอดภัยกว่าต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา สนับสนุนงบประมาณขยายผลให้ครอบคลุมทั่วประเทศ ปรับเกณฑ์ขอรับการสนับสนุนให้เข้าถึงง่าย สะดวกรวดเร็วขึ้น และศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงกับโครงการอื่นๆ ของรัฐ ทั้งยังคงสนับสนุนผู้ประกอบการในการเตรียมความพร้อมสถานที่ตามมาตรฐานความปลอดภัยและสุขอนามัย (Safety & Hygiene) และการฝึกอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรเพื่อรองรับความต้องการเฉพาะกลุ่ม
  2. กระตุ้นกิจกรรมในภูมิภาคเพื่อฟื้นฟูท้องถิ่น โดยให้เอกชนจัดทำแผนงานกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยกิจกรรมไมซ์ประเภทต่างๆ และนำเสนอของบประมาณผ่านทีเส็บ เน้นให้ภาคเอกชนบูรณาการการทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยแบ่งการจัดทำโครงการเป็น 3 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มการแสดงสินค้า (Exhibition) กระจายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ การจัดอีเวนต์และเทศกาลระดับพื้นที่ โดยเน้นกระตุ้นในพื้นที่ที่มีความพร้อมในการจัดงาน การจัดอีเวนต์และเทศกาลขนาดใหญ่ระดับภูมิภาคหรือระดับประเทศที่ต่อเนื่องมีระยะเวลาหลายเดือน เพื่อส่งเสริมการเดินทางข้ามภูมิภาค
  3. การเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยสาธารณสุขของงาน โดยทีเส็บจะเน้นประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดงานอย่างปลอดภัย โดยส่งเสริมมาตรฐานและความปลอดภัย (Safety & Hygiene) ในการจัดงานและสถานที่จัดงาน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้นักเดินทางไมซ์และสาธารณชนในวงกว้าง ขณะเดียวกันจะผลักดันให้มีการกำหนดแผนฟื้นฟูร่วมกัน เช่น การพัฒนาต่อยอดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดกิจกรรมไมซ์ทุกประเภท
  4. ส่งเสริมการจัดกิจกรรมโดยหน่วยราชการ โดยผลักดันให้มีนโยบายกระตุ้นการจัดประชุมสัมมนาของหน่วยงานภาครัฐ โดยเฉพาะการจัดงานในวันธรรมดา เพื่อกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นและภูมิภาค พร้อมมีการติดตามผลเพื่อการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง รวมถึงผลักดันให้หน่วยงานภาครัฐเสนอตัวเป็นเจ้าภาพดึงงานและการประชุมระดับนานาชาติที่มีความสำคัญเข้ามาจัดในประเทศไทย
  5. ดึงงานไมซ์ในอนาคตเข้าสู่ประเทศไทย เช่น งานประชุมนานาชาติ เพื่อขับเคลื่อนการเป็นศูนย์กลางการประชุมนานาชาติของไทย ตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ ตลอดจนพัฒนาเครือข่ายตัวแทนการตลาดและพันธมิตรเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการทำการตลาด ดึงงาน และสร้างงานต่างๆ ในแต่ละอุตสาหกรรมตามนโยบายรัฐบาล
  6. การสนับสนุนในระดับนโยบายจากรัฐบาล เช่น จัดงบประมาณให้กับภาคเอกชนไปดำเนินการจัดกิจกรรมการประชุมสัมมนา หรืองานแสดงสินค้า การประกาศให้หน่วยงานภาครัฐจัดการประชุมสัมมนา หรือการผ่อนคลายมาตรการด้านการจัดซื้อจัดจ้างของทางภาครัฐ เพื่อผู้ประกอบการรายย่อยจะได้มีโอกาสในการจ้างงานมากขึ้น โดยทีเส็บเป็นตัวกลางในการรวบรวมข้อเสนอต่างๆ เพื่อนำเสนอกับรัฐบาลตามลำดับขั้นตอนต่อไป

จากการประชุมเพื่อร่วมกันกระตุ้นอุตสาหกรรมไมซ์ จะมีการดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพต่อไป โดยทีเส็บและภาคี ได้แก่

  • สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (TCT)
  • สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (ADT)
  • สมาคมสมาพันธ์ธุรกิจการท่องเที่ยวส่วนภูมิภาคแห่งประเทศไทย (TFOPTA)
  • สมาคมส่งเสริมการประชุมนานาชาติ (ไทย) (TICA)
  • สมาคมการแสดงสินค้าไทย (TEA)
  • สมาคมโรงแรมไทย (THA)
  • สมาคมการค้าผู้จัดงานกีฬามวลชนไทย (TMPSA)
  • สมาคมเครือข่ายผู้สร้างสรรค์ธุรกิจบันเทิงไทย (TECNA)
  • สมาคมการค้าส่งเสริมการจัดมหกรรมและเทศกาลนานาชาติไทย (TIEFA)
  • เครือข่ายจัดตั้งสมาคมส่งเสริมอุตสาหกรรมศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (CAPT)
  • สมาคมธุรกิจสร้างสรรค์การจัดงาน (EMA)
  • สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA)
  • สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 64)

Tags: , , ,
Back to Top