นายเศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.แสนสิริ (SIRI) ประกาศแผนปี 64 “The Year of Hope” เดินหน้าด้วย 3 ความหวังแกร่งเติบโตยั่งยืน ด้วยยอดขาย 26,000 ล้านบาท และ ยอดโอน 27,000 ล้านบาท พร้อมสนับสนุน SME และพร้อมอุ้มอสังหาฯ รายเล็ก พยุงเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อ
ทั้งนี้ ในปี 64 เป็นอีกปีที่ท้าทายและพร้อมเดินหน้าต่อด้วย 3 ความหวังแกร่งคืนรอยยิ้มให้ลูกค้า ครอบครัวแสนสิริ และสังคม
- ความหวังในการมีบ้านของคนไทย เดินหน้าต่อด้วยแบรนด์ที่แข็งแกร่งและเข้าถึงได้ เปิดตัวโครงการใหม่ที่ราคาเข้าถึงง่าย เจาะกลุ่ม real-demand ใน product ที่หลากหลาย ตอบรับทุกระดับราคา ครอบคลุมทำเลทั้งกรุงเทพฯ ปริมณฑล ด้วยดีไซน์ที่ตอบโจทย์ทุกความชอบ เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบ้านของคนทุกกลุ่ม
- ความหวังในการเสริมความแข็งแกร่งของแสนสิริ ก้าวเร็วนำหน้าต่อด้วย Speed to Market และความแข็งแกร่งของ Cashflow ในปี 2564 พร้อมสนับสนุน SME และอุ้มอสังหาฯ รายเล็ก พยุงเศรษฐกิจไทยเดินหน้าต่อไปด้วยกัน
- ความหวังในการคืนรอยยิ้มสู่ครอบครัวแสนสิริและสังคม เดินหน้า Made for Life…Made for Everyone สู่แบรนด์ที่เข้าถึงได้ เตรียมจับมือ ยักษ์ใหญ่พาร์ทเนอร์กลุ่มธุรกิจอาหาร สร้างปรากฎการณ์เป็นครั้งแรกใน 2 กลุ่มธุรกิจ สร้างรอยยิ้มให้ลูกค้าและครอบครัวแสนสิริ เข้มข้นต่อเนื่องสู้โควิด ด้วย Sansiri Care พร้อมคืนรอยยิ้มสู่ภาค SME และสังคมด้วย Sansiri Sustainability Mission
นายเศรษฐา เปิดเผยว่า ในปีนี้บริษัทวางเป้าหมายเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยเป้าพรีเซล 26,000 ล้านบาท และเป้าโอน 27,000 ล้านบาท ด้วยแผนเปิด 24 โครงการใหม่ มูลค่ารวม 26,000 ล้านบาท ภายใต้การปรับตัวเร็วรองรับทุกสถานการณ์
สำหรับการตั้งเป้าหมายดังกล่าว เป็นไปในลักษณะ Conservative เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เผชิญกับความไม่แน่นอนของการแพรทระบาดโควิด-19 ที่กระทบต่อภาพรวมของเศรษฐกิจทั่วโลกและเศรษฐกิจไทย ทำให้บริษัทมองว่ากำลังซื้อในปีนี้จะยังคงชะลอตัวต่อเนื่องจากปี 63
ทั้งนี้ ประเมินว่ากำลังซื้อในประเทศจะชะลอตัวต่อไปในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า จากปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวกระทบมาถึงความไม่มั่นใจและชะลอตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยด้วย ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยในปี 64 ยังมีโอกาสชะลอตัวตามปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ไม่ดีมาต่อเนื่อง เป็นสาเหตุให้บริษัทตั้งเป้ายอดขายและยอดโอนในปี 64 ต่ำกว่าผลงานในปีก่อนที่ทำได้สูงสุดตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา โดยมียอดขายและยอดโอนในปี 64 ที่ 3.5 หมื่นล้านบาท และ 4.5 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ
แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศจะชะลอตัว แต่บริษัทยังคงต้องหาแนวทางกระตุ้นตลาดเพื่อให้เกิดการตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยให้เร็วขึ้น และช่วยธนาคารแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้าที่กำลังมองหาที่อยู่อาศัย ด้วยการทำให้เข้าถึงบ้านได้ง่ายและเร็วขึ้น โดยเฉพาะแคมเปญ “แสนสิริผ่อนให้ 24 เดือน” ซึ่งนำกลับมาใช้อีกรอบหลังจากประสบความสำเร็จไปในปีก่อน ทำให้บริษัทสามารถช่วงชิงโอกาสในการสร้างยอดขายและยอดโอนได้สูงสุด อีกทั้งช่วยบริษัทมีสภาพคล่องกลับเข้ามาได้อย่างรวดเร็ว และลดต้นทุนในการบริหารจัดการลง จากปริมาณสต็อกสินค้าที่อยู่อาศัยพร้อมอยู่ที่ลดลงไปค่อนข้างมาก ซึ่งในปี 64 บริษัทก็ยังคงเดินหน้าระบายสต็อกอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน บริษัทยังได้ปรับกลยุทธ์ในการพัฒนาโครงการใหม่ในที่จะหันมาจับกลุ่มที่อยู่อาศัยระดับราคาที่จับต้องได้ที่ 1 ล้านต้นๆ-2 ล้านบาทต้นๆ โดยจะเกิดตัวโครงการคอนโดมิเนียม 4 โครงการพร้อมกันเร็วๆ นี้ ในทำเลรามคำแหง เกษตร และรัชดาฯ จากแผนเปิดคอนโดมิเนียมในปีนี้ทั้งหมด 5 โครงการ มูลค่า 4.1 พันล้านบาท คาดว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า และเป็นการกลับมาทำคอนโดมิเนียมในระดับราคาล้านต้นๆของบริษัทอีกครั้งในรอบ 10 ปี
ส่วนโครงการแนวราบจะเปิดตัวอย่างต่อเนื่อง เพราะความต้องการซื้อยังมีอยู่มาก ซึ่งในปีนี้จะเปิดตัวทั้งหมด 19 โครงการ มูลค่ารวม 2.19 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น บ้านเดี่ยว 7 โครงการ มูลค่า 1.23 หมื่นล้านบาท ทาวน์เฮาส์ 9 โครงการ มูลค่า 6.9 พันล้านบาท และโครงการแนวราบแบบมิกซ์ 3 โครงการ มูลค่า 2.7 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตาม การพัฒนาโควงการใหม่ทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียมในปี 64 จะเน้นไปที่การพัฒนาโครงการขนาดเล็ก-กลาง มีมูลค่าและจำนวนยูนิตไม่สูงมาก ใช้ระยะเวลาการก่อสร้างที่ไม่นานเกินไป เป็นโครงการที่สามารถโอนได้ในระยะเวลาไม่นาน สามารถสรมางกระแสเงินสดกลับมบให้กับบริษัทได้อย่างรวดเร็ว
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ในปีนี้บริษัทจะรับรู้รายได้จากยอดขายรอโอน (Backlog) เข้ามาราว 1.21 หมื่นล้านบาท จาก Backlog ที่มีอยู่ทั้งหมด 3.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ไปถึงปี 66 และในปีนี้บริษัทตั้งงบซื้อที่ดินราว 5-7 พันล้านบาท
พร้อมกับเปิดกว้างการเข้าซื้อสินทรัพย์หรือที่ดินจากผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กมาพัฒนาต่อ ซึ่งบริษัทมองว่าในภาวะเศรษฐกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวนั้น กระทบต่อการดำเนินงานในการทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของผู่ประกอบการรายกลาง-รายเล็กอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการรายกลาง-รายเล็ก บางรายที่อาจจะไม่สามารถพัฒนาโครงการต่อได้ หรือมีการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การพัฒนาโครงการขายที่ดินหรือโครงการที่รอการพัฒนาหรือที่พัฒนาอยู่แล้วออกมา เพื่อนำเงินไปพยุงธุรกิจหรือนำไปลงทุนในโครงการอื่นๆต่อไป
“เป็นโอกาสทั้งของบริษัทและผู่ประกอบการรายใหญ่อื่นๆ ในการมองหาสินทรัพย์เข้ามาต่อยอดธุรกิจ โดยที่บริษัทมีการเจรจาซื้อที่ดินหรือโครงการจากผู้ประกอบการรายกาง-รายเล็กอยู่หลายดีล”
นายเศรษฐา กล่าว
ด้านความเสี่ยงในปี 64 ที่บริษัทมองว่าอาจจะส่งผลกระทบเกิดขึ้นต่อภาพรวมของธุรกิจและตลาดอสังหาริมทรัพย์ได้นอกเหนือจากความไม่แน่นอนของโควิด-19 การชะลอตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ บริษัทยังมีความกังวลเกี่ยวกับอัตราการปฏิเสธสินเชื่อที่ยังมีโอกาสเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 63 โดยเฉพาะในส่วนของลูกค้าที่ซื้อโครงการของ SIRI ซึ่งมีแนวโน้มจะมีโอกาสเพิ่มขึ้นไปมากกว่า 30% หลังจากกำลังซื้อลดลง สะท้อนความสามารถในการกู้ยืมสินเชื่อที่ลดลงตาม และภาระหนี้สินครัวเรือนที่สูง โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าระดับกลาง-ล่าง ที่มีภาระผ่อนชำระสินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต และรถยนต์ อีกทั้งธนาคารต่างๆยังคงเข้มงวดการปล่อยสินเชื่ออย่างต่อเนื่องเพื่อควบคุมคุณภาพหนี้
นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า ในฐานะที่บริษัทเป็นผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ในตลาดรายหนึ่งมองว่าแนวทางที่จะช่วยภาคอสังหาริทรัพย์ไทยและช่วยให้คนไทยเข้าถึงและมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองได้นั้น ภาพรัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมีแนวทางในการเข้ามาสนับสนุนเพิ่มเติบ โดยเฉพาะหน่วยงานที่เกี่ยวข่องกับสถาบันการเงิน อย่างเช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่าควรจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงให้ต่ำกว่า 0.50% ได้อีก เพื่อช่วยให้คนมีเงินในกระเป๋ามากขึ้น และภาระค่าใช้จ่ายลงส่งผลต่อความสามารถในการกู้ที่เพิ่มขึ้น และควรยกเลิกมาตรการ LTV ออกไป ซึ่งเป็นปัจจัยที่กดดันภาคอสังหาริมทรัพย์ไทยอย่างมาก ทำให้ผู้ที่มีความสามารถในการซื้อที่อยู่อาศัยชะลอการตัดสินใจซื้อ
ส่วนภาครัฐแม้ว่าจะกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศโดยการแจกเงินในโครงการต่างๆแล้ว แต่สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ก็ควรเร่งหามาตรการออกมากระตุ้นทั้งการเร่งพิจารณาต่ออายุมาตรการเดิมในส่วนของการลดค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง รวมทั้งพิจารณามาตรการกระตุ้นอื่นๆ เพิ่มเข้ามา ช่วยทั้งคนไทยที่ต้องการซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง และช่วยเหลือผู้ประกอบการในตลาดให้ดำเนินธุรก้จผ่านพ้นวิกฤติไปได้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 64)
Tags: SIRI, อสังหาริมทรัพย์, เศรษฐา ทวีสิน, แสนสิริ