นายประสัณห์ เชื้อพานิช กรรมการใน คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และประธานกรรมการสมาคมส่งเสริมสถาบันกรรมการบริษัทไทย (IOD) เปิดเผยในงานเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดและถอดบทเรียนจากเคสตัวอย่างการทุจริตที่เกิดขึ้นจริงว่า การที่จะศึกษาและทำความเข้าใจกับบริษัทที่มีการขยายกิจการโดยการเข้าซื้อกิจการ (M&A) จะต้องติดตามหลายๆปัจจัย โดยเริ่มจากฝ่ายจัดการที่ต้องมีการบริหารด้วยความซื่อสัตย์หรือไม่ ต่อมาคือกรรมการตรวจสอบมีความรู้ความเข้าใจในธุรกิจ และมีความรับผิดชอบที่มากเพียงพอหรือไม่
“ผมชอบคำพูดหนึ่งของ IOD ที่บอกว่า กรรมการตรวจสอบคือ สติ ฝ่ายจัดการคือ สมอง ที่จะต้องช่วยกันในการทำงานร่วมกับหลายๆฝ่าย”
นายประสัณห์ กล่าว
ในส่วนของการคัดเลือก Internal audit นั้นมีความสำคัญมากเนื่องจากจะต้องเป็นผู้ที่รายงาน แนะนำต่อกรรมการว่ามีระบบควบคุมภายในจุดไหนที่มีข้อบกพร่อง ต่อมาคือ Regulater จะต้องทำหน้าที่ที่เป็นมืออาชีพมากขึ้น ในส่วนของ Invester ก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบมากยิ่งขึ้นด้วย
โดยมองว่าการทุจริตนั้นเกิดขึ้นได้ในทุกๆประเทศทั่วโลกไม่ใช่เพียงแค่ประเทศตลาดเกิดใหม่เท่านั้น โดยมีรูปแบบการทุจริตอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ๆคือ การค่อยๆนำเงินออกจากบริษัท ต่อมาคือในรูปแบบของการตกแต่งบัญชี
นางสาวภัทรลดา สง่าแสง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ด้านการเงินและบัญชี บมจ. พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) กล่าวว่า การเติบโตอย่างก้าวกระโดดในรูปแบบของการเข้าซื้อกิจการ (M&A) จะต้องคำนึงถึงหลายปัจจัย โดยเริ่มจากการบริหารด้านความเสี่ยงทั้งเรื่องของการเติบโตที่เป็นไปได้จริง ต้นทุนทางด้านการเงิน และโอกาสในเรื่องของตลาด ซึ่งการขยายกิจการในรูปแบบของ M&A นั้น มีอยู่ตลอดทั้งในช่วงที่สถานการณ์เศรษฐกิจปกติ และในสถานการณ์ที่เศรษฐกิจเกิดวิกฤติ ซึ่งทุกครั้งที่มีวิกฤติมักมีโอกาสในการลงทุนเสมอ
แต่อย่างไรก็ตามสำคัญที่สุดคือมองออกหรือไม่ว่าการเติบโตระยะยาวจะเกิดขึ้นจริง การเข้าซื้อกิจการจะต้องเป็นการสร้าง Synergy ระหว่างกัน ไม่ทับซ้อนตลาดกัน และไม่เกิดการแข่งกันกันเอง ต้องมีการตรวจสอบแผนงานสม่ำเสมอ และแผนงานต้องมีตัวชี้วัดที่แน่นอนด้วย
“การขยายกิจการแบบ M&A มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ต้องมีการคำนึงถึงหลายๆด้านให้เหมาะสมทั้งในระยะสั้น ระยะยาว และแผนงานที่ชัดเจน มีการตรวจสอบเสมอ หากบริษัทวางแผนตรวจสอบดีก็จะช่วยให้บริหารงานได้อย่างยั่งยืน”
นางสาวภัทรลดา กล่าว
ด้านนายธวัชชัย เกียรติกวานกุล ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกำกับบัญชี สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการ (M&A) จะต้องมองถึงการเข้าซื้อที่ช่วยให้มีการเติบโต ต้องมีกรรมการตรวจสอบที่ดีที่จะเข้ามาช่วยตรวจสอบกิจกรรมต่างๆอย่างสุจริต ที่สำคัญคือจะต้องมีที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ที่ดี โดยเลือกจาก 1.คือ ก.ล.ต. รับรอง 2.มีชื่อเสียง ประสบการณ์มากเพียงพอต่อธุรกิจ และมีความเหมาะสมต่อกิจการนั้นๆ
ขณะที่นางสาวชวนา วิวัฒน์พนชาติ หุ้นส่วนสำนักงานสอบบัญชี บริษัท สำนักงานปีติเสวี จำกัด กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการ (M&A) หลักการคือราคาที่เข้าซื้อจะต้องมีความเหมาะสมมีความสมเหตุสมผล โครงการต่างๆจะต้องมีความเหมาะสม โครงการต่างๆมีอยู่จริงสามารถตรวจสอบได้
พร้อมกันนี้ยังต้องมองถึงโครงการต่างๆด้วยว่าจะสามารถเติบโตได้ในระยะยาว และมองถึงภาพที่แย่ที่สุดด้วยว่าจะเป็นอย่างไร ไม่ใช่มองภาพเพียงแค่ภาพบวกเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
“ธุรกิจจะต้องมีอยู่จริง ไม่ใช่แค่การเข้าซื้อๆอย่างเดียว บางบริษัทบอกว่ามีการลงทุนแต่อาจจะไม่มีอยู่จริงจะต้องมีการตรวจสอบควบคุมที่ดี การควบคุมบัญชีต้องดี ราคาเข้าซื้อต้องมีความเหมาะสมในการเติบโตระยะยาว”
นางสาวชวนา กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 64)
Tags: M&A, PTTGC, ก.ล.ต., ชวนา วิวัฒน์พนชาติ, ธวัชชัย เกียรติกวานกุล, ประสัณห์ เชื้อพานิช, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, ภัทรลดา สง่าแสง, สำนักงานปีติเสวี