ดัชนีกลุ่มแบงก์ขยับขึ้น 2.74% มาอยู่ที่ 361.19 จุด เพิ่มขึ้น 9.63 จุด เมื่อเวลา 10.28 น.โดยหุ้นในกลุ่มแบงก์ขยับขึ้นยกแผง นำโดยหุ้น KBANK บวก 4.74% มาอยู่ที่ 121.50 บาท เพิ่มขึ้น 5.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,897.68 ล้านบาท
- หุ้น TMB บวก 3.48% มาอยู่ที่ 1.19 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท มูลค่าซื้อขาย 191.96 ล้านบาท
- หุ้น SCB บวก 3.04% มาอยู่ที่ 93.25 บาท เพิ่มขึ้น 2.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 327.84 ล้านบาท
- หุ้น KTB บวก 2.50% มาอยู่ที่ 12.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท มูลค่าซื้อขาย 133.93 ล้านบาท
- หุ้น BBL บวก 2.06% มาอยู่ที่ 124.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 386.59 ล้านบาท
บล.เอเซีย พลัส ระบุในบทวิเคราะห์ฯว่า แนวคิดที่จะแก้ปัญหาการเก็งกำไรในหุ้นที่มี Free Float ต่ำโดยกำหนดวิธีคำนวณดัชนีใหม่ที่เรียกว่า Free float Adjusted Market Cap ซึ่งเป็นการนำตัวเลข Free Float ของแต่ละบริษัทมาถ่วงน้ำหนักใน Market Cap ก่อนคำนวณเป็นดัชนี ฝ่ายวิจัยศึกษาข้อมูล Free float ของตลาดหุ้นไทยพบว่าทั้งตลาดมีค่าเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักที่ 44% โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีค่าเฉลี่ยสูงกว่าระดับดังกล่าวก็มีโอกาสที่จะได้รับการถ่วงน้ำหนักมากขึ้น อย่างเช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์, รับเหมาฯ, วัสดุฯ, เกษตรฯ และ ICT
ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) คือ หุ้นที่มีน้ำหนักต่อดัชนีเพิ่มขึ้นมากสุด โดยส่งผลต่อ SET Index เพิ่มขึ่น 1.7% (มีน้ำหนักต่อดัชนีเพิ่มขึ้นจาก 1.4% เป็น 3.1%) หรือ ทุก ๆ 1% ที่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นของ BBL จะส่งผลต่อ SET เพิ่มขึ้นเป็น 0.47 จุด จากเดิม 0.21 จุด ในอีกมุมหนึ่ง คือ กองทุน Passive Fund มีโอกาสเพิ่มเม็ดเงินลงทุนใน BBL ขึ้นถึง 125% จากเม็ดเงินเดิมที่ลงทุนอยู่แล้ว
ด้านบล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) ระบุว่า ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีกำไรสุทธิปี 63 ลดลง 24% จากปี 63 แต่ดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดราว 40% คาดว่าจะเป็นข่าวบวกกับหุ้นในระยะสั้นได้ ขณะที่ยังต้องรอติดตามงบแบงก์ขนาดใหญ่ที่จะทยอยออกมาเช่น SCB, KTB ส่วนใหญ่ลดลงเพราะตั้งสำรองฯเพิ่ม แต่กำไรดำเนินงานกลับดีขึ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ม.ค. 64)
Tags: BBL, Free Float, KBANK, KTB, SCB, TMB, กลุ่มแบงก์, ดีบีเอส วิคเคอร์ส, ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารพาณิชย์, เอเซีย พลัส