นายนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พ.ศ…. กล่าวว่า ในการประชุม กมธ. วันที่ 21 ม.ค. จะทบทวนปฏิทินการทำงานตามที่นายวิรัช รัตนเศรฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล และประธาน กมธ. ได้ตกลงร่วมกับ วิปฝ่ายค้านว่า จะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภา วันที่ 23 – 25 ก.พ. เพื่อให้ที่ประชุมพิจารณาในวาระสอง
ดังนั้น กมธ.ต้องปรับตารางการทำงาน เพื่อให้สอดคล้องกับช่วงเวลาดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังตอบไม่ได้ว่าการพิจารณาจะแล้วเสร็จเมื่อใด หรือกรอบการพิจารณาจะมีลำดับอย่างไร เพราะต้องให้ที่ประชุม กมธ.พิจารณาให้ความเห็น
สำหรับการพิจารณาในส่วนของการลงมติเพื่อตัดสินในรายละเอียดนั้น เชื่อว่าจะใช้วิธีการลงคะแนนตัดสิน เบื้องต้นมี 3 กรอบใหญ่ที่ต้องลงมติ คือ
- เกณฑ์การออกเสียงเห็นชอบต่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญในการแก้ไขมาตรา 256,
- ที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และ
- การออกเสียงประชามติหลังจากที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จ
นายนิกร กล่าวว่า ส่วนตัวเชื่อว่าในประเด็นสำคัญ คือ การกำหนดให้มี ส.ส.ร.นั้นจะไม่มีปัญหาใดในระหว่างกรรมาธิการฯ ที่มาจากฝ่ายต่างๆ เพราะแต่ละฝั่งล้วนเห็นชอบกับหลักการใหญ่ที่ให้มี ส.ส.ร. ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนรายละเอียดที่เกี่ยวข้องนั้นถือเป็นประเด็นปลีกย่อย ทั้งนี้ กมธ.ต้องหารือด้วยว่าจะใช้จังหวะใดเพื่อนำประเด็นหลักดังกล่าวลงมติ ทั้งการลงมติให้กรอบใหญ่ จากนั้นจึงลงสู่รายละเอียด หรือคุยกันให้ครบทุกประเด็นของร่างแก้ไข จากนั้นจึงนัดลงมติในตอนท้าย รวมถึงการเสนอคำแปรญัตติของสมาชิกรัฐสภา ทั้ง 103 คนที่จะพิจารณาว่าจะเป็นช่วงเวลาใดและใช้การจัดกลุ่มรูปแบบใด
นายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ฐานะโฆษกกมธ. กล่าวว่า ในกลุ่มของพรรคร่วมฝ่ายค้าน เห็นว่าควรเพิ่มวันประชุม เพื่อเร่งพิจารณาเนื้อหาให้แล้วเสร็จภายในเดือนม.ค.นี้ โดยสัปดาห์นี้จะพิจารณาคุณสมบัติของส.ส.ร. ส่วนประเด็นว่าด้วยที่มา ส.ส.ร.จำนวน 200 คน ที่ร่างแก้ไขของฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านมีความแตกต่างกัน คือ ฝ่ายค้านเห็นว่าควรมาจากเลือกตั้งโดยประชาชน ทั้ง 200 คน ส่วนร่างของพรรคร่วมรัฐบาล เห็นว่าให้เลือกตั้ง 150 คนและมาจากการสรรหา 50 คนนั้น ฝ่ายค้านอยู่ระหว่างพูดคุยกับ กมธ.เพื่อให้เห็นคล้อยตามกับร่างของฝ่ายค้าน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 64)
Tags: การเมือง, นิกร จำนง, พรรคชาติไทยพัฒนา, พรรคพลังประชารัฐ, พรรคเพื่อไทย, ร่างรัฐธรรมนูญ, วิรัช รัตนเศรฐ, สมคิด เชื้อคง, แก้รัฐธรรมนูญ