นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า การนำบมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) หรือโออาร์ เข้าระดมทุนด้วยการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ราว 25% เพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) นั้น
แม้ว่าจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของ ปตท.ลดลงเหลือราว 75% จากเดิมที่ 100% แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ ปตท. เพราะการที่โออาร์สามารถระดมทุนเพื่อใช้ขยายงาน โดยเฉพาะในธุรกิจนอนออยล์และต่างประเทศ ซึ่งมีศักยภาพเติบโตที่ดีก็จะส่งผลบวกต่อมูลค่าที่เพิ่มขึ้นของ ปตท.เช่นกัน
“อยากให้เห็นภาพอย่างนี้ ตัวเปอร์เซนต์ก็เรื่องหนึ่ง เราถือ 100% จากขนาดของปัจจุบัน กับถือ 75% กับขนาดของบริษัทที่จะโตขึ้นอีกหลายเปอร์เซนต์ การถือ 75% กับที่จะโตขึ้นอีกหลายเปอร์เซนต์ อาจจะมีมูลค่ามากกว่า 100% ในปัจจุบัน เหมือน ปตท.ก่อนที่จะเข้าตลาด กระทรวงการคลังถือ 100% มูลค่า ปตท.ก็ประมาณ 3-4 หมื่นล้านบาท ทุกวันนี้กระทรวงการคลังถือ 51% บวกวายุภักษ์ เป็นกว่า 60% แต่บนมูลค่าของ ปตท.ที่อยู่ประมาณ 1.1 ล้านล้านขึ้นไป คิดเป็นเปอร์เซนต์แล้วมากกว่าเดิม”
นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า สำหรับเงินที่ได้จากการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯราว 4-5 หมื่นล้านบาทนั้น จะนำไปใช้ขยายการลงทุนใน 3 กลุ่มธุรกิจของโออาร์ ทั้งในส่วนของน้ำมัน (oil) , ส่วนที่ไม่ใช่ธุรกิจน้ำมัน (non-oil) และต่างประเทศ โดยเตรียมที่จะรุกตลาดมากขึ้นในส่วนของกลุ่มธุรกิจที่มีศักยภาพทั้งในส่วนของนอนออยล์ที่มีมาร์จิ้นสูง และต่างประเทศ คาดหวังว่าสัดส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ของนอนออยล์และต่างประเทศ จะเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ราว 25% และ 6% ตามลำดับ ส่วนที่เหลืออีก 69% มาจากธุรกิจน้ำมัน
สำหรับต่างประเทศ จะเน้นขยายไปยังอาเซียนและจีน ที่มีศักยภาพ โดยวางเป้า 5 ปีข้างหน้า มีสถานีบริการน้ำมันเป็นกว่า 600 แห่งจากกว่า 300 แห่งในปัจจุบัน และร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน เพิ่มเป็น 500-600 แห่งจากราว 270 แห่งในปัจจุบัน รวมถึงยังมองหาโอกาสใหม่จากการทำดีลร่วมทุน (JV) หรือซื้อกิจการ (M&A) นอกเหนือจากปัจจุบันที่ได้ร่วมมือกับกลุ่มเซ็นทรัล เปิดร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ในเวียดนาม
ส่วนธุรกิจนอนออยล์ วางเป้าหมายจะมีร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ในประเทศเพิ่มเป็นราว 5,300 แห่ง จาก 3,100 แห่งในปัจจุบัน รวมถึงยังจะขยายธุรกิจแบรนด์กาแฟในระดับไฮเอนท์ Pacamara หลังจากได้เข้าซื้อหุ้น 65% ในบริษัท พีเบอร์รี่ ไทย จำกัด ซึ่งทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกาแฟอย่างครบวงจรในไทย ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพการจัดหาวัตถุดิบและอุปกรณ์รองรับการขยายเครือข่ายของคาเฟ่อเมซอนด้วย
นอกจากนี้ ธุรกิจนอนออยล์ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะในธุรกิจกาแฟ แต่ได้รวมถึง Mobility Ecosystem ซึ่งล่าสุดได้เข้าถือหุ้นราว 9% ใน Flash Express ผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ จัดส่งพัสดุอันดับ 3 ของไทย รองจาก Kerry และไปรษณีย์ไทย ตลอดจนขยายไปสู่ Life Style Ecosystem เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคใหม่
อย่างไรก็ตาม แม้โออาร์จะรุกหนักในกลุ่มธุรกิจต่างประเทศและนอนออยล์ ก็จะยังคงขยายธุรกิจน้ำมันต่อเนื่อง โดยวางเป้าหมาย 5 ปีข้างหน้าจะมีสถานีบริการน้ำมัน ptt station ในไทยเพิ่มเป็นราว 2,500 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 1,968 แห่ง หรือขยายปีละ 108 แห่ง และร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน เพิ่มเป็น 5,300 แห่ง จากราว 3,100 แห่งในปัจจุบัน
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า การนำโออาร์เข้าตลาดหุ้นครั้งนี้ ปตท.ได้เปิดโอกาสให้คนไทยทุกคนร่วมเป็นเจ้าของสถานีบริการน้ำมัน หรือร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ด้วยวิธีการกระจายที่มั่นใจว่าจะทำให้ผู้ที่สนใจจองซื้อหุ้นสามารถเป็นเจ้าของได้ทุกราย ส่วนราคาหุ้น OR ภายหลังการขายเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นแล้วนั้น ก็ขึ้นกับสภาวะตลาด แต่ต้องการให้นักลงทุนคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานของโออาร์เป็นหลัก
“หุ้นที่เรานำมากระจายเบื้องต้น 595 ล้านหุ้น คนที่เล่นในตลาดหุ้นในปัจจุบันไม่ถึง 1 ล้านคน ถ้าเราให้เริ่มต้นคนละ 300 หุ้นเท่ากัน ก็จะรับคนได้เกือบ 2 ล้านคน คิดว่าด้วยปริมาณการกระจายและวิธีการคนที่สนใจอยากจะเข้ามาเล่นหุ้นในตลาดก็น่าจะมีโอกาส”
นายอรรถพล กล่าว
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า การประกอบธุรกิจของโออาร์ เมื่อเทียบกับคู่แข่งบริษัทน้ำมันในไทย แม้โออาร์จะไม่มีโรงกลั่นน้ำมันเป็นของตัวเอง แต่ก็มีขนาดของธุรกิจค้าปลีกที่ใหญ่มาก โดยโออาร์มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ที่ 40% ห่างจากอันดับสองที่มีกว่า 10% หลายเท่าตัว ซึ่งโออาร์มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดทั้งในสถานีบริการน้ำมัน และก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ขณะที่ธุรกิจนอนออยล์ก็มีสัดส่วน 25% ของ EBITDA
ทั้งนี้ OR อยู่ระหว่างเตรียมเสนอขายหุ้น IPO จำนวนไม่เกิน 2,610 ล้านหุ้น (ไม่รวมกรีนชู) และมีกรีนชูอีก 390 ล้านหุ้น กำหนดช่วงราคาเสนอขาย IPO ที่ 16-18 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 41,760 – 46,980 ล้านบาท (ไม่รวมกรีนชู) โดยระดมทุนเพื่อรองรับการใช้ในช่วงปี 64-67 ขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์ “PTT station” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ, ขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน, การลงทุนคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจน้ำมัน, ขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุปสงค์ในตลาด, การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ หรือใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ม.ค. 64)
Tags: IPO, OR, PTT, ปตท., ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก, หุ้นไทย, อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์, โออาร์