นายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส (ASPS) กล่าวผ่านรายการ Economic Update ของเพจห่วงใย Thai Business โดยมองว่าการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ส่งผลกระทบต่อตลาดการเงินและเศรษฐกิจแตกต่างกัน โดยเฉพาะการตีความของตลาดการเงิน แม้จะมีการประกาศจำนวนผู้ติดเชื้อฯใหม่รายวันเพิ่มขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลต่อตลาดการเงินมากนัก เนื่องด้วยสภาพคล่องในระบบการเงินล้นระบบ, ความมั่นใจที่ดูดีขึ้น จากการประกาศความสำเร็จในเรื่องของวัคซีนต้านโควิด-19 และการนำเข้ามาฉีดให้กับประชาชน ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะเริ่มฉีดวัคซีนเข็มแรกในเดือนก.พ.นี้
เช่นเดียวกับตลาดต่างประเทศ หลังหลายประเทศก็ได้ดำเนินการฉีดวัคซีนเข็มแรกมาตั้งแต่เดือนธ.ค.63 ตลาดหุ้นก็ตอบสนองในเชิงบวก จากความมั่นใจว่าใกล้ถึงจุดสิ้นสุดของโควิด-19 โดยตลาดฯไม่ได้สนใจจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อมากนัก แม้ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อทั่วโลกรวมอยู่ที่ 95 ล้านคน และคาดว่าจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 100 ล้านคนได้ภายในสิ้นเดือนม.ค.นี้ ทั้งนี้ มองว่าระยะเวลาต่อจากนี้ตลาดฯ จะยังคงตอบสนองในเชิงบวกอยู่
แต่อย่างไรก็ตามตลาดฯอาจต้องกลับมาพิจารณาถึงจำนวนและอัตราผู้เสียชีวิตทั่วโลกหลังมีการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในแต่ละประเทศ โดยปัจจุบันประเทศที่มีจำนวนผู้เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีน คือ นอร์เวย์ พบถึง 33 ราย จากจำนวนผู้ฉีดวัคซีน 42,003 ราย รวมถึงยังมีประเทศอื่นๆ อีก ซึ่งส่วนใหญ่จะเสียชีวิตภายหลังได้รับวัคซีนของไฟเซอร์ และทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุเกิน 75 ปี ทำให้คนเริ่มมีความกังวลว่าจะรับการฉีดวัคซีนหรือไม่ จากผลข้างเคียงที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต
ดังนั้น ระยะเวลาที่มีการคาดการณ์ถึงจุดสิ้นสุดของโควิด-19 ก็มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะมีความคาดเคลื่อน เนื่องจากการฉีดวัคซีนเพื่อให้เห็นผล หรือระงับการแพร่ระบาด ซึ่งต้องฉีดวัคซีนมากกว่า 50% ของประชากรทั่วโลกนั้น เมื่อมีผลข้างเคียงเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้การฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้าลงได้
ทั้งนี้ ตามเป้าหมายทั่วโลก คาดการณ์ว่าภายในสิ้นปี 64 จะมีประชากรโลกที่ได้รับวัคซีนราว 5.96 พันล้านคน หรือคิดเป็นราว 76.5% ของประชากรโลกที่ 7.79 พันล้านคน จากปัจจุบันมีจำนวนการฉีควัคซีนทั่วโลก หรือมีผู้ได้รับวัคซีนแล้วจำนวน 19.7 ล้านคน หรือคิดเป็น 0.3% ของประชากรทั่วโลก ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และหากสิ้นปีนี้ทำไม่ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ มองว่าภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจก็อาจจะเกิดขึ้นล่าช้ากว่าที่คิด และตลาดฯก็อาจกลับมาตีความในเชิงลบอีกครั้งหนึ่ง
นายเทิดศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนผลกระทบของโควิด-19 ต่อภาพเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย ทำให้เห็นการปรับลดประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP) ตั้งแต่ต้นปี เริ่มตั้งแต่ธนาคารกลางโลก ที่ปรับลด GDP โลกลงเหลือ 4% จากเดิมที่คาดว่าปี 64 จะอยู่ที่ 4.2% และปรับลด GDP ลงเกือบทุกประเทศ เว้นแต่โซนเอเชีย เช่น จีน, อินเดีย ที่ปรับประมาณการขึ้น
ขณะที่ไทยปรับลงเล็กน้อยเหลือ 4% จากเดิม 4.1% และส่งผลให้เกิดกระแสการปรับลด GDP ในประเทศตามมาอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม มองว่าหากไม่สามารถควบคุมได้ภายในไตรมาส 1/64 ความเสี่ยงที่จะเห็นการปรับลดประมาณการก็ยังมีอยู่ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ต้องระวัง
ขณะที่ในส่วนของ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจภายใต้ภาวะโควิด-19 ในปีนี้จะอยู่ที่ 2.2-2.7%
นอกจากนี้ หากมองในส่วนของมาตรการรัฐบาล ที่จะเข้ามาขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปีนี้ คาดว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) น่าจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงได้อีก 1 ครั้ง จาก 0.5% เหลือ 0.25%, มาตรการสินเชื่อ จากการให้สินเชื่อซอฟท์โลนแก่เอสเอ็มอี วงเงินคงเหลือ 3.77 แสนล้านบาท ด้านกระทรวงการคลังก็มีการออกอัดฉีดเงิน ผ่านพ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท ที่มีวงเงินคงเหลือ 4.98 แสนล้านบาท โดยจะใช้ในด้านของสาธารณสุข 3.11 หมื่นล้านบาท, เยียวยาประชาชน 2.06 แสนล้านบาท และฟื้นฟูเศรษฐกิจ 2.61 แสนล้านบาท และอื่นๆ เช่น งบกลาง วงเงิน 1.39 แสนล้านบาท รวมวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.03 ล้านล้านบาท คิดเป็น 6.5% ของ GDP
พร้อมกันนี้ยังมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุด ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติวันนี้ ได้แก่ มาตรการ จ่ายเงินเยียวยา 3,500 บาท นาน 2 เดือน (เราชนะ) เป้าหมายราว 30 ล้านคน วงเงินราว 2.17 แสนล้านบาท รวมถึงมาตรการก่อนหน้านี้ทั้งในส่วนของการลดภาระค่าครองชีพ ลดค่าไฟฟ้า,ค่าน้ำ ในเดือนก.พ.-มี.ค.64 ตลอดจนคาดว่าจะมีมาตรการอื่น ๆ ตามมา เช่น ลดค่าอินเทอร์เน็ตนาน 3 เดือน, มาตรการอสังหาริมทรัพย์ ลดค่าธรรมเนียมการโอนจาก 2% เหลือ 0.01%, ลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 90%, มาตรการสวัสดิการสังคม ลดหย่อนเงินสมทบนายจ้างและผู้ประกันตน เป็นต้น
ทั้งนี้ รัฐบาลยังเหลือเม็ดเงินที่สามารถกู้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ หากยังกำหนดเพดานหนี้สาธารณะไว้ที่ 60% ของ GDP จะสามารถกู้ได้ราว 9.5 ล้านล้านบาท และปัจจุบันที่มีหนี้สาธารณะอยู่แล้ว ณ เดือนต.ค.63 ที่ 7.8 ล้านล้านบาท ทำให้ยังเหลือส่วนต่างการกู้ที่ 1.7 ล้านล้านบาท อีกทั้งยังมีเม็ดเงินตาม พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เห็นว่าด้วยน้ำหนักของเม็ดเงินที่จะใส่ลงไปในมาตรการนั้นมีจำนวนลดลง ทำให้มีความกังวลว่าหากจะมีนโยบายการคลังแบบเดียวจะเพียงพอให้พยุงเศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้หรือไม่ จึงมองว่ามาตราการ นโยบายการเงิน ก็อาจจะนำมาใช้ในการขับเคลื่อน ซึ่งประเมินว่าอาจเห็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงอีกครั้ง จากสัญญาณบ่งชี้ดังกล่าว และโควิด-19 รอบใหม่ส่งผลกระทบรุนแรง ซึ่งหากควบคุมไม่ได้อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจปรับตัวลงติดลบอีกหนึ่งปี
“เรามองว่าเม็ดเงินจากมาตรการการคลังนั้นมีข้อจำกัดอยู่เหมือนกัน ฉะนั้นนโยบายการเงิน การลดอัตราดอกเบี้ยก็มีความจำเป็นเอามาใช้ในการเข้ามาช่วยพยุงเศรษฐกิจ รวมถึงสัญญาณ Bond yield 1 ปีของไทย ล่าสุดปรับลดลงมาอยู่ที่ 0.356% ทำจุดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ต่ำกว่าดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งสะท้อนทิศทางการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายลงในระยะถัดไป และยังช่วยในเรื่องของเงินบาท ที่ปัจจุบันแข็งค่าพอสมควร”
นายเทิดศักดิ์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 64)
Tags: ASPS, GDP, เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม, เอเซีย พลัส