พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เยี่ยมชมการนำเสนอผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อรองรับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในช่วงเช้าวันนี้ โดยผลงานวิจัยที่ได้การสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ : รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น ประจำปีงบประมาณ 2564 ได้แก่ ระบบติดตามลักษณะทางพันธุกรรมและการกลายพันธุ์ของเชื้อไวรัส โควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ เพื่อติดตามการระบาดและนำข้อมูลไปใช้เชิงลึกและใช้ในการพัฒนาคิดค้นวัคซีน ระบบปัญญาประดิษฐ์ในการประเมินการใส่หน้ากากอนามัย (AI MASK) เครื่องฆ่าเชื้อโควิด-19 โดยละอองนาโน และตู้อบฆ่าเชื้อไวรัสระบบไฮบริด
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วัคซีนจาก “แอสตร้า เซนเนก้า” ได้ผ่านการรับรองจากองค์การอาหารและยา (อย.) แล้ว และทุกวัคซีนสามารถขึ้นทะเบียนรับรองได้โดยไม่ปิดกั้น แต่มาตรฐานของไทย คือจะต้องผ่านการรับรองมาตั้งแต่ต้นทางก่อน ส่วนการฉีดต้องจัดลำดับตามความสำคัญ โดยระหว่างนี้ให้ศึกษาข้อมูลการฉีดวัคซีนของต่างประเทศ เพื่อเตรียมมาตรการป้องกัน
และในอนาคตอาจจะพิจารณาวัคซีนจากบริษัทอื่นที่มีคุณภาพ และราคาถูกลงมาให้บริการประชาชน พร้อมยืนยันว่าไม่มีการผูกขาด ซึ่งวัคซีนเป็นสินค้าควบคุมดูแลในระยะแรก และใช้เมื่ออยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีการแพร่ระบาด ซึ่งรัฐบาลต้องควบคุม ไม่ใช่ใครจะนำเข้ามาก็ได้
“เรื่องวัคซีน อย.เขาอนุญาตใช่มั้ย ภายในอาทิตย์นี้ เพราะแอสก้าซินิก้า เขาขอเข้ามา แล้วเราก็มีความพร้อมของบริษัท สยามไบโอไซด์ ซึ่งบริษัทอื่นยังไม่พร้อม ทุกวัคซีนขอขึ้นได้เราไม่ปิดกั้น”
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ส่วนเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่จากประเทศอังกฤษว่า ต้องระมัดระวัง ซึ่งประเทศไทยถือว่าสามารถควบคุมได้ตั้งแต่ต้นทาง และตรวจสอบคัดกรองได้ดี แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือพื้นฐานของเชื้อใกล้เคียงกัน แต่สายพันธุ์ใหม่แพร่ระบาดเร็วขึ้น แต่ความรุนแรงของโรคยังเท่าเดิม ดังนั้นวัคซีนที่จะใช้ต้องมีความปลอดภัย
นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัย หรือหน้ากากผ้า พร้อมสนับสนุนให้คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ ขณะที่เครื่องฆ่าเชื้อโควิด-19 โดยละอองนาโน ให้ไปศึกษาเพื่อผลิตเป็นสินค้าทางการค้าและดูว่าสถานที่ใดมีความจำเป็นที่จะต้องใช้งาน
จากนั้น นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และคณะผู้บริหาร ได้ประชาสัมพันธ์โครงการ “ฮาวทูแยก – แยกอย่างไรไม่ให้ติดเชื้อ” เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนทิ้งขยะติดเชื้อ เช่น หน้ากากอนามัย กระดาษชำระ เสื้อกาวน์จากเม็ดพลาสติก ชุดอุปกรณ์ป้องกันบุคลากรทางการแพทย์ (PPE) และถุงมืออย่างถูกต้อง โดยจะมีระบบนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ซึ่งโครงการนี้จะนำร่องใน 3 จังหวัดในพื้นที่เสี่ยง คือ จ.สมุทรสาคร ชลบุรี และระยอง
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า การกำจัดขยะต้องมีการบริหารจัดการให้ดี ซึ่งรัฐบาลมีแผนการตั้งโรงงานขยะ แต่ยังมีปัญหาในบางพื้นที่ ที่ประชาชนไม่ยินยอม โดยต้องขอความร่วมมือจากประชาชน เพราะหากไม่มีโรงงานขยะกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่ ก็จะมีปัญหาเรื่องการขนส่งข้ามจังหวัด ซึ่งจะเป็นอันตรายได้ ดังนั้นอยากให้มีโรงงานขยะในทุกจังหวัดหรือทุกภาค เพื่อลดระยะเวลาการขนส่ง ซึ่งท้องถิ่นต้องร่วมมือกัน พร้อมกับกล่าวว่า “ทุกวันนี้ ขยะพิษจากโควิด-19 เยอะอยู่แล้ว ขออย่าสร้างขยะสังคมขึ้นอีก”
ผู้สื่อข่าวยังถามถึงการผ่อนปรนมาตรการ และผ่อนคลายกิจการ/กิจกรรมต่างๆ ว่าภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้จะมีการผ่อนปรนหรือไม่นั้น โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวเพียงว่า ทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกันในการฝ่าฟันอุปสรรคนี้ไปให้ได้ และทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีการประเมินสถานการณ์การติดเชื้อรายวันอยู่แล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, ประยุทธ์ จันทร์โอชา, วัคซีนต้านโควิด-19, สยามไบโอไซด์, สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ, องค์การอาหารและยา, อนุชา นาคาศัย, อย., แอสตร้าเซนเนก้า, โควิด-19