รัฐบาลแคนาดาเตรียมยกเลิกคำสั่งห้ามเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ขึ้นบินในวันที่ 20 ม.ค. ซึ่งสอดคล้องกับประเทศอื่นๆ รวมถึงสหรัฐ ที่อนุญาตให้นำเครื่องบินรุ่นดังกล่าวขึ้นบินอีกครั้ง หลังจากที่สั่งระงับบินเป็นเวลาเกือบ 2 ปี อันเนื่องมาจากเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ประสบอุบัติตก 2 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 346 ราย
คณะกรรมการกำกับดูแลด้านการขนส่งของแคนาดาได้ออกข้อกำหนดสมควรเดินอากาศ (Airworthiness Directive) ให้กับบรรดาเจ้าของเครื่องบิน, วิศวกรด้านการบำรุงรักษาเครื่องบิน และหน่วยงานกำกับดูแลด้านการบินพลเรือนในต่างประเทศ รวมทั้งข้อกำหนดเกี่ยวกับการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้กับลูกเรือของสายการบินต่างๆ
ทางด้านสายการบินแอร์แคนดาประกาศว่าจะนำเครื่องบินโบอิ้ง 737 Max ขึ้นบินในวันที่ 1 ก.พ.นี้ และจะเริ่มกลับมาให้บริการเส้นทางอเมริกาเหนืออย่างค่อยเป็นค่อยไป
เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2563 สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ (FAA) ได้ยกเลิกคำสั่งระงับการใช้งานเชิงพาณิชย์ของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX หลังดำเนินการตรวจสอบความปลอดภัยอย่างครอบคลุมและรอบคอบ ซึ่งใช้เวลานาน 20 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ของ FAA สามารถระบุและแก้ไขปัญหาด้านความปลอดภัยที่มีส่วนทำให้เกิดเหตุโศนาฏกรรมเครื่องบินตกที่คร่าชีวิตผู้โดยสารเครื่องบิน 346 ราย ในเที่ยวบินที่ 302 ของสายการบินเอธิโอเปียแอร์ไลน์ส และเที่ยวบินที่ 610 ของสายการบินไลออน แอร์
ทางด้านสำนักงานความปลอดภัยด้านการบินยุโรป (EASA) ประกาศยกเลิกคำสั่งห้ามเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ขึ้นบินในยุโรปในเดือนม.ค.ปีนี้ โดยนายแพทริค คี ผู้อำนวยการบริหารของ EASA เปิดเผยว่า EASA ได้ทำการทดสอบบินและตรวจสอบความปลอดภัยของเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ด้วยตนเอง และผลการศึกษาพบว่าเครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX สามารถกลับมาให้บริการได้อีกครั้ง
รายงานระบุว่าเมื่อวันที่ 8 ม.ค.ปีนี้ บริษัทโบอิ้งได้ตกลงจ่ายเงินกว่า 2.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อยุติการสอบสวนของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐกรณีเหตุการณ์เครื่องบินโบอิ้ง 737 MAX ตก 2 ครั้ง ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 346 ราย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 ม.ค. 64)
Tags: Airworthiness Directive, FAA, สำนักงานบริหารการบินแห่งชาติสหรัฐ, เครื่องบิน, เอธิโอเปียแอร์ไลน์ส, แคนาดา, โบอิ้ง 737 Max, ไลออน แอร์