นายองอาจ กิตติคุณชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ซันสวีท (SUN) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์” ว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 64 เติบโต 10-15% จากการมุ่งเน้นเพิ่มยอดขายผลิตภัณฑ์พร้อมทาน (Ready to Eat) ที่คาดว่าปีนี้สัดส่วนรายได้จะเติบโตเป็น 10-20% จากเดิม 10%
โดยเตรียมออกผลิตภัณฑ์ใหม่อีก 5 รายการ จากปัจจุบันมีสินค้าภายใต้แบรนด์สินค้า KC ประกอบด้วย ข้าวโพดหวานแบบฝักบรรจุถุงสุญญากาศ, ข้าวโพดข้าวเหนียว, มันหวานญี่ปุ่นเผา , มันม่วงญี่ปุ่นเผา, ถั่วลายเสือต้ม และธัญพืชรวม เป็นต้น ซึ่งเชื่อว่าสินค้าใหม่จะได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากลูกค้าและสร้างยอดขายให้เติบโตมากขึ้น
สำหรับผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวานในปีนี้ก็ยังมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋อง (Canned Corn) เนื่องจากได้รับอานิงส์จากการกักตุนอาหารในช่วงของการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศต่าง ๆ และข้าวโพดหวานแช่แข็ง (Frozen) คาดว่าจะมีการเติบโตถึง 40% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่อยู่ที่ 20%
ทั้งนี้ บริษัทมีแผนลงทุนขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์พร้อมรับประทาน 5 โรงงาน โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างการดำเนินงานในเฟสแรก วางงบลงทุนราว 34 ล้านบาท คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ในช่วงเดือน เม.ย.นี้ ส่งผลทำให้จะมีกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 50,000-70,000 ชิ้น/วัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 40,000-50,000 ชิ้น/วัน ซึ่งหากได้รับการตอบรับดี หรือมียอดขายเติบโตตามเป้าหมายที่วางไว้ บริษัทก็จะขยายกำลังการผลิตเพิ่มอีกในเฟสถัดไป เบื้องต้นคาดจะลงทุนในช่วงปลายปีนี้ หรือต้นปี 65 ขึ้นอยู่กับสถานการณ์
ขณะเดียวกันบริษัทยังมีแผนลงทุนนำซังข้าวโพดมาผลิตเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า เพื่อลดต้นทุนค่าไฟฟ้าภายในโรงงานลงราว 10% จากปัจจุบันที่มีค่าใช้จ่ายราว 3-4 ล้านบาท/เดือน คาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จได้ในไตรมาส 4/64 และจะลดค่าไฟฟ้าลงทันที ซึ่งในส่วนนี้วางงบลงทุนราว 63 ล้านบาท
สำหรับค่าเงินบาทปีนี้ที่มีแนวโน้มแข็งค่า บริษัทยังคงใช้กลยุทธ์ขายปิดความเสี่ยง 70% และเหลือไว้ 30% เพื่อดูทิศทางค่าเงินอีกทีหนึ่ง ซึ่งปัจจุบันทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีมาตรการควบคุมค่าเงินบาทที่แข็งค่า โดยให้ผู้ส่งออกฝากเงินตราต่างประเทศได้เสรี (บัญชี FCD) ทำให้บริษัทสามารถบริหารจัดการในเรื่องของค่าเงินได้ดีขึ้น หรือขายในราคาที่เหมาะสม ส่วนฤดูร้อน หรือหน้าแล้ง ซึ่งถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวโพด บริษัทได้ดำเนินกลยุทธ์ Smart Farm โดยนำโซลาร์เข้ามาใช้ในการผันน้ำ เพื่อลดความเสี่ยงในช่วงที่ฝนไม่ตก โดยที่ผ่านมาก็เริ่มทยอยดำเนินการไปบ้างแล้ว
“ปีนี้เราก็วางเป้าเติบโต 10-15% โดยหลักก็ยังมาจากผลิตภัณฑ์ข้าวโพดหวาน 70% ที่เหลือก็จะเป็นกลุ่มพร้อมรับประทาน ซึ่งเราจะมุ่งเน้นในส่วนนี้มากขึ้น เพื่อตอบรับกับความต้องการที่เพิ่มขึ้น เห็นได้จากช่วงโควิด-19 ที่มีความต้องการกักตุนอาหารเป็นอย่างมากโดยเฉพาะในต่างประเทศ ขณะที่การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ในประเทศ ปัจจุบันบริษัทยังไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่ยอดขายทรงๆ ตัว จากกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เราก็จะพยายามรักษายอดขายไว้ไม่ให้ต่ำกว่าปีก่อน หรือคงไว้ตามเดิมให้ได้ โดยปัจจุบัน SUN มีสัดส่วนการส่งออกคิดเป็น 70% ใน 50-70 ประเทศทั่วโลก และมีสัดส่วนการขายในประเทศที่ 30%”
นายองอาจ กล่าว
ส่วนผลการดำเนินงานในปี 63 บริษัทคาดว่ารายได้จะเติบโตเกินเป้าหมายที่วางไว้ที่ 10-15% จากปี 62 โดยในช่วง 9 เดือนของปี 63 ทำรายได้แล้ว 1,980.87 ล้านบาท สูงกว่าทั้งปี 62 ที่มีรายได้ 1,939 ล้านบาท และพลิกกลับมามีกำไรสุทธิแล้วที่ 153.10 ล้านบาท จากปี 62 มีผลขาดทุนสุทธิอยู่ที่ 41.88 ล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 64)
Tags: SUN, ซันสวีท, ผลิตภัณฑ์พร้อมทาน, ผลิตภัณฑ์อาหาร, หุ้นไทย, องอาจ กิตติคุณชัย