นักวิเคราะห์ฯคาดตลาดหุ้นไทยเช้านี้แกว่ง Sideway Down คล้ายตลาดภูมิภาคที่เช้านี้แกว่งในแดนลบ -0.3% ถึง -0.6% จากกังวลการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกหลังยอดค้าปลีกสหรัฐฯแย่กว่าคาด-จีนล็อกดาวน์หลายเมืองหลังโควิดระบาดระลอกใหม่-นอร์เวย์ใช้วัคซีนต้านโควิดแล้วมีคนตายกว่า 20 คนหวั่นการใช้วัคซีนอาจล่าช้า ส่วนบ้านเราเล็งต่างชาติ-สถาบันยังปรับพอร์ตลงทุนหวังจะไปซื้อหุ้น IPO ตัวใหญ่ พร้อมให้แนวรับ 1,515-1,500 แนวต้าน 1,525-1,530 จุด
นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้คาดว่าจะแกว่ง Sideway Down คล้ายตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียที่เช้านี้เคลื่อนไหวในแดนลบราว -0.3% ถึง -0.6% จากความกังวลการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก หลังยอดค้าปลีกของสหรัฐออกมาแย่กว่าตลาดคาดไว้ และประเทศจีนก็มีการล็อกดาวน์หลายเมืองมากขึ้นหลังมีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ อีกทั้งการใช้วัคซีนต้านไวรัสโควิด-19 ในประเทศนอร์เวย์ มีผู้เสียชีวิตกว่า 20 คน ทำให้อาจมีความล่าช้าในการใช้วัคซีน
ส่วนบ้านเราอาจยังเผชิญการปรับพอร์ตลงทุนของนักลงทุนสถาบัน และนักลงทุนต่างชาติ เพื่อเตรียมเงินไว้ซื้อหุ้นที่เสนอขายให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) ขนาดใหญ่ตัวใหม่ นอกจากนี้สัปดาห์นี้ให้ติดตามการทยอยประกาศผลประกอบการของกลุ่มแบงก์ และติดตามพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐของนายโจ ไบเดน ในวันที่ 20 ม.ค.นี้ รวมถึงติดตามการประชุมธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในสัปดาห์นี้ด้วย
พร้อมให้แนวรับ 1,515-1,500 จุด ส่วนแนวต้าน 1,525-1,530 จุด
ประเด็นพิจารณาการลงทุน
- ตลาดหุ้นนิวยอร์กล่าสุด (15 ม.ค.) ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดที่ 30,814.26 จุด ลดลง 177.26 จุด (-0.57%), ดัชนี S&P500 ปิดที่ 3,768.25 จุด ลดลง 27.29 จุด (-0.72%) และดัชนี Nasdaq ปิดที่ 12,998.50 จุด ลดลง 114.14 จุด (-0.87%)
- ตลาดหุ้นเอเชียเปิดตลาดวันนี้ ดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีน ลดลง 11.58 จุด, ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ลดลง 280.5 จุด และดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกง ลดลง 119.27 จุด
- ตลาดหุ้นไทยปิดล่าสุด (15 ม.ค.) 1,519.13 จุด ลดลง 16.85 จุด (-1.10%)
- นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 589.27 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 ม.ค.64
- ราคาน้ำมันดิบ WTI ส่งมอบเดือน ก.พ. ในตลาดไนเม็กซ์ปิดทำการล่าสุด (15 ม.ค.) ปิดที่ 52.36 ดอลลาร์/บาร์เรล ร่วงลง 1.21 ดอลลาร์ หรือ 2.3%
- ค่าการกลั่นอ้างอิงตลาดสิงคโปร์ปิดล่าสุด (15 ม.ค.) อยู่ที่ 1.68 ดอลลาร์/บาร์เรล
- เงินบาทเปิด 30.09 อ่อนค่าตามตลาดโลกหลังดอลล์แข็ง ตลาดจับตาการเมืองในสหรัฐฯ
- สรรพสามิต ฟุ้งรีดภาษี 3 เดือนแรกปีงบ 64 ยังฉลุย อานิสงส์ภาษีรถยนต์-น้ำมันหนุน ประเมินโควิด-19 ไม่กระทบแผนจัดเก็บรายได้ หลังรัฐบาลงัดมาตรการเข้มร้านอาหารปิดไม่เกิน 3 ทุ่ม เบรกจำหน่ายแอลกอฮอล์ เชื่อเป็นแค่มาตรการระยะสั้น ลุ้นภาพเศรษฐกิจฟื้นต่อเนื่อง หนุนคนใช้จ่ายคึกคัก
- กมธ.คมนาคม ชี้ กทม.ขึ้นค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาท ซ้ำเติมวิกฤติประชาชน ไม่สนใจข้อท้วงติง เชื่อทำราคาได้ต่ำกว่า 65 บาท เตรียมเรียกแจง 21 ม.ค.นี้
- นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) ได้ประเมินอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แบ่งเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คืออุตสาหกรรมที่ได้รับอานิสงส์และผลิตขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้มีการแพร่ระบาด โควิด-19 คาดว่าเพิ่มขึ้น 1-4% เทียบกับปีก่อน ได้แก่ อุตสาหกรรมอาหาร เช่น เนื้อไก่แช่แข็งและแช่เย็น ผักผลไม้ แช่แข็ง ผลไม้และผักบรรจุกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป, อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน ได้แก่ ตู้เย็น ไมโครเวฟ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ วงจรรวมและฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เนื่องจากนโยบายการทำงานที่บ้าน
หุ้นเด่นวันนี้
- JAK (บมจ.จักรไพศาล เอสเตท) เทรดวันนี้วันแรก ในตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ (mai) โดยราคาขาย IPO 1.45 บาท/หุ้น ทั้งนี้ บริษัทฯเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อขายทั้งแนวราบและคอนโดมิเนียม โดยโครงการแนวราบที่ผ่านมาของบริษัทอยู่ในเขตจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา ชลบุรี และฉะเชิงเทรา มีโครงการที่ปิดการขายแล้วรวม 6 โครงการ ในส่วนคอนโดมิเนียม บริษัทพัฒนาในรูปแบบ Low Rise ในพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งปิดการขายแล้ว 2 โครงการ
- PTG (ฟินันเซีย ไซรัส) “ซื้อ”เป้า 24.50 บาท คาดกำไร Q4/63 ทำ New High +6% Q-Q, +59% Y-Y จากค่าการตลาดที่ทรงตัวในระดับที่ดี 1.8-1.9 บาทต่อลิตร ปริมาณขายที่สูงขึ้น รวมถึง EBITDA ของธุรกิจ Non-Oil ที่ฟื้นตัว ส่วนแนวโน้ม Q1/64 ได้รับผลกระทบบ้างจากการระบาดของ โควิด-19 ระลอกใหม่ แต่คาดไม่หนักเท่าปีก่อน ขณะที่กำไรธุรกิจไบโอดีเซลที่สูงขึ้นจากนโยบายสนับสนุนของรัฐ คาดกำไรปี 2564-2565 โตต่อเนื่อง 11% Y-Y และ 7% Y-Y ตามลำดับ
- JMT (กรุงศรี) “ซื้อ”เป้าสูงสุด IAA Consensus 40.25 บาท คาดกำไรสุทธิ Q4/63 ทำ All time high ยอดเรียกเก็บเงินเพิ่มขึ้น และเป็นหนี้ที่ตัดต้นทุนหมดแล้ว เศรษฐกิจไม่ดีเป็นโอกาสของ JMT ในการซื้อหนี้เข้าพอร์ตรองรับการเติบโตในอนาคต
- BEM (เคทีบีเอสที) เป้าเชิงกลยุทธ์ 8.50 บาท คาดกำไรไตรมาส 4 โต YoY จากต้นทุนค่าเสื่อม (ศรีรัช A, B, C) ที่ตัดจำหน่ายหมดไปแล้ว และเทรนผู้โดยสารและผู้ใช้ทางด่วนค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น การ Partial Lock รอบใหม่กระทบต่อรายได้น้อยกว่าครั้งก่อน พร้อมประเมินกำไรสุทธิใน ปี 2563-2564 ที่ 2.15 พันล้านบาท และ 3.99 พันล้านบาท -60%YoY, +86%YoY ตามลำดับ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ม.ค. 64)
Tags: BEM, JAK, JMT, PTG, SET, SET Index, ตลาดหุ้น, ตลาดหุ้นไทย, ทิสโก้, หุ้นไทย, อภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล