นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอส และเป็นบริษัทย่อย บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค. กทม.ได้เรียก BTSC หารือเรื่องค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ กทม.จะเก็บค่าโดยสารทั้งเส้นทางสายสีเขียว จากเดิมราคาสูงสุด 158 บาท/เที่ยว โดยจะปรับลงลงมาที่ราคาสูงสุด 104 บาท/เที่ยว เริ่มตั้งแต่ 16 ก.พ.64 เพราะมองว่าราคาเดิม 158 บาทประชาชนคงรับไม่ได้
ดังนั้นการเก็บอัตราค่าโดยสารสูงสุด ไม่เกิน 104 บาท จะส่งผลให้บริษัทมีผลขาดทุนประมาณ 3 พันล้านบาท/ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้โดยสารด้วย หากมีมากก็อาจขาดทุนน้อยลง แต่หากมีน้อยก็ส่งผลให้ขาดทุนเพิ่ม
ทั้งนี้ การเก็บค่าโดยสารใหม่ จะเก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียว เริ่ม 15 – 104 บาท โดยแบ่งเป็น
- ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งเป็นส่วนสัญญาสัมปทาน จะคงอัตราค่าโดยสาร 16-44 บาท
- ส่วนต่อขยายหมอชิต-คูคต ค่าโดยสาร เริ่ม 15 – 45 บาท โดยปรับขึ้นสถานีละ 3 บาท
- ส่วนต่อขยายอ่อนนุช-เคหะสมุทรปราการ เริ่ม 15 – 45 บาท โดยปรับขึ้นสถานีละ 3 บาท
- ส่วนต่อขยายสะพานตากสิน-บางหว้า เริ่ม 15 – 33 บาท โดยปรับขึ้นสถานีละ 3 บาท
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า การเก็บค่าโดยสารใหม่ กทม.จะใช้แค่ชั่วคราว เนื่องจาก กทม.มีภาระค่าใช้จ่ายมาก ขณะเดียวกันก็มีหนี้ค้างชำระค่าจ้างเดินรถกับบีทีเอส เกือบ 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งติดค้างมาตั้งแต่เดือน พ.ค.62 หรือ 20 เดือน ซึ่งหากกทม.มีรายได้จะทยอยชำระคืนให้กับบีทีเอสได้
ขณะเดียวกันก็รอเรื่องการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งความคืบหน้าคือต้องรอ 3-4 หน่วยงานตอบกลับมา ได้แก่ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งทั้งกระทรวงการคลัง และป.ป.ช.คาดว่าจะตอบกลับมาในสัปดาห์หน้า
ทั้งนี้ ตามเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะกำหนดให้บริษัทเก็บค่าโดยสารในอัตราไม่เกิน 65 บาท และให้มีการขยายเวลาสัมปทานออกไป 30 ปี โดยโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีจำนวน 59 สถานี รวมระยะทาง 68.25 กม. สามารถเชื่อมโยงการเดินทางครอบคลุมถึง 3 จังหวัด ได้แก่ ปทุมธานี, กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ โดยเปิดได้ครบทั้งเส้นทางเมื่อ 16 ธ.ค.63 ที่ผ่านมา
นายสุรพงษ์ ยังกล่าวว่าจากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ ทำให้จำนวนผู้โดยสารหายไปครึ่งหนึ่ง เช่นเดียวกับรถไฟฟ้าสายอื่น ซึ่งในช่วงก่อนเกิดการระบาดรอบใหม่ บีทีเอสมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้น 80% จึงคาดว่าปีนี้จะไม่ขาดทุน แต่กำไรอาจปรับตัวลงมากจากปีก่อน แต่ส่วนหนึ่งได้ปรับลดค่าใช้จ่ายลง
ส่วนงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (ช่วงแคราย-มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ช่วงลาดพร้าว-สำโรง) ยังมีรายได้งานก่อสร้างเข้ามา ซึ่งงานล่าช้าไม่ถึง 1-2% และขณะนี้กำลังเร่งรัดงานอยู่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 64)
Tags: BTS, BTSC, ค่าตั๋ว BTS, ค่าโดยสาร, บีทีเอส, รถไฟฟ้าบีทีเอส, สุรพงษ์ เลาหะอัญญา