- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 11,680 คน (+230)
- เป็นผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการ = 83 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากการตรวจเชิงรุกในชุมชน = 126 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 21 ราย
- รักษาหายแล้ว 8,906 คน (+618)
- เสียชีวิตสะสม 70 คน (+1)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 230 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 83 ราย ค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน 126 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ 21 ราย โดยเป็นผู้ที่เข้าสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ทั้งหมด ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศล่าสุดอยู่ที่ 11,680 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 6,027 ราย และการตรวจคัดกรองเชิงรุก 3,386 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,267 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 8,906 ราย เพิ่มขึ้น 618 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ราย รวมเสียชีวิตสะสมอยู่ที่ 70 ราย
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.เปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตรายล่าสุดนี้เป็นชายไทย อายุ 67 ปี ภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการสอบสวนประวัติโรคประจำตัว จากไทม์ไลน์พบว่า วันที่ 21 ธ.ค. และ 23 ธ.ค.63 ไปเที่ยวที่สถานบันเทิง จากนั้นวันที่ 24-27 ธ.ค.63 เริ่มมีอาการไข้ ไอ มีเสมหะ และมีน้ำมูก วันที่ 29 ธ.ค.63 ทราบข่าวว่าพนักงานของสถานบันเทิงที่ไปเที่ยวติดโควิด จึงเดินทางไปตรวจที่ รพ. วันที่ 30 ธ.ค.63 ผลตรวจออกมาว่าพบเชื้อโควิด จึงเข้ารับการรักษาที่ รพ.จนถึงวันที่ 14 ม.ค.64 โดยระหว่างที่อยู่ รพ.มีอาการปอดอักเสบ โดยอาการเริ่มแย่ลง พบปอดอักเสบรุนแรงมากขึ้น มีภาวะไตวายฉับพลัน และเสียชีวิตในวันที่ 14 ม.ค. 64
“การระบาดรอบใหม่นี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 10 ราย ซึ่งกองระบาดฯ ได้ทำรายงานประวัติของผู้เสียชีวิตออกมา และมีประเด็นที่ต้องย้ำว่า แม้จะเป็นผู้ที่มีอายุน้อย แต่หากมีโรคประจำตัว ก็จะกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตได้…ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ต้องรายงานให้ทราบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มีการปฏิบัติและดูแลตัวเองอย่างเคร่งครัด”
โฆษก ศบค.ระบุ
ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุขยังมีข้อมูลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รอบใหม่ในช่วง 1 เดือน โดยจำแนกแต่ละกลุ่มก้อนออกมา ซึ่งมีทั้งหมด 4 กลุ่มใหญ่ คือ 1.กลุ่มบ่อนพนันในภาคตะวันออก มีผู้ป่วย 702 ราย เสียชีวิต 1 ราย 2.กลุ่มสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ มีผู้ป่วย 197 ราย เสียชีวิต 1 ราย 3.กลุ่มสนามชนไก่ในอ่างทอง มีผู้ป่วย 129 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และ 4.กลุ่มตลาดกลางกุ้งในสมุทรสาคร มีผู้ป่วย 564 ราย (ไม่รวมแรงงานต่างด้าวอีกประมาณ 3 พันราย) ซึ่งในกลุ่มก้อนนี้ ทำให้มีผู้ป่วยที่เป็นผู้สัมผัสกระจายไปถึง 43 จังหวัดทั่วประเทศ
นพ.ทวีศิลป์ ยังกล่าวถึงสถานการณ์การระบาดในพื้นที่กรุงเทพฯ ว่า ยังมีความน่ากังวล เนื่องจากตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นแต่ละวันยังอยู่ในระดับสองหลัก ซึ่งจากการระบาดรอบใหม่นี้ ในพื้นที่กรุงเทพฯ พบผู้ป่วยต่อวันเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 49 รายเมื่อวันที่ 7 ม.ค.64 แม้ว่ารัฐบาลจะได้ออกมาตรการควบคุมสถานการณ์มาตั้งแต่วันที่ 4 ม.ค.ก็ตาม แต่ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังเพิ่มขึ้นในระดับสองหลัก
ปัญหาสำคัญที่ได้วิเคราะห์กันในที่ประชุมของกระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูงหลายรายที่ไม่แสดงอาการได้เดินทางไปยังสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้มีการแพร่เชื้อออกไปในวงกว้าง ดังนั้นจึงแนะนำว่าถ้ารู้ว่าตัวเองเป็นผู้มีประวัติเสี่ยงสูง ควรรีบไปเข้ารับการตรวจหาเชื้อ ซึ่งการตรวจจำเป็นต้องทำ 2 ครั้งจึงจะได้ผลที่ชัดเจน และระหว่างที่รอผลตรวจ ขอให้กักตัวอยู่บ้านไม่ควรออกไปยังสถานที่ต่างๆ ขณะเดียวกัน การกักตัวอยู่ที่บ้านก็ควรแยกห้องพักและไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับกับบุคคลในบ้านด้วย
“ปัญหาที่เราคุยกัน คือจะทำอย่างไรให้ผู้มีประวัติเสี่ยงสูงที่เป็นผู้สัมผัสกับผู้ป่วยรายก่อนหน้า ขอให้อยู่กับบ้าน หากรู้ว่าเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงจะต้องรีบไปตรวจทันที ซึ่งการตรวจต้องทำ 2 ครั้ง ถ้าผลตรวจครั้งยังไม่เจอ ซึ่งอาจจะเป็นได้ทั้งไม่ป่วยเลย หรืออยู่ในระยะฟักตัว จะต้องรอวันที่ห้าถึงวันที่เจ็ดเพื่อไปตรวจซ้ำอีก และระหว่างที่รอผลนี้จะต้องอยู่บ้านไม่ออกไปไหน นี่คือสิ่งสำคัญที่สุด เพราะเราเริ่มเห็นคลัสเตอร์การติดไปสู่คนในบ้านแบบไม่รู้ตัว ทั้งเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งเราต้องแยกห้อง แยกสำรับอาหารออกมา”
นพ.ทวีศิลป์กล่าว
ส่วนสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก ล่าสุดวันนี้ มียอดผู้ติดเชื้อรวม 94,309,732 ราย เสียชีวิต 2,017,798 ราย โดยประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสูงสุด อันดับแรก สหรัฐอเมริกา 4,102,429 ราย อันดับสอง อินเดีย 10,543,659 ราย อันดับสาม บราซิล 8,394,253 ราย อันดับสี่ รัสเซีย 3,520,531 ราย และอันดับห้า สหราชอาณาจักร 3,316,019 ราย ส่วนประเทศไทย อยู่ในอันดับที่ 127
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, โควิด-19