บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (OR) เตรียมเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้กับประชาชนทั่วไปครั้งแรก (IPO) จำนวน 2,610 ล้านหุ้น และได้เตรียมจัดสรรหุ้นส่วนเกิน (กรีนชู) อีกไม่เกิน 390 ล้านหุ้น
หุ้นที่เสนอขาย IPO จำนวน 2,610 ล้านหุ้น จัดสรรให้
- ผู้ถือหุ้นของบมจ.ปตท. (PTT) เฉพาะกลุ่มที่มีสิทธิได้รับการจัดสรรหุ้น จำนวน 300 ล้านหุ้น หรือ 11.5%
- ผู้จองซื้อรายย่อย 595.7 ล้านหุ้น หรือ 22.8%
- ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในประเทศ จำนวน 1,264.3 ล้านหุ้น หรือ 48.5%
- ผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในต่างประเทศ จำนวน 450 ล้านหุ้น หรือ 17.2%
ทั้งนี้ การเสนอขายหุ้นให้กับกลุ่ม Cornerstone Investors ทั้งในและต่างประเทศ จะมีจำนวนรวม 1,714.3 ล้านหุ้น หรือ 65.7% ซึ่ง OR เข้าทำสัญญาลงทุนในหุ้น (Cornerstone Placing Agreement) กับผู้ลงทุนสถาบันที่เป็นผู้ลงทุนหลักโดยเฉพาะเจาะจง (Cornerstone Investors) ที่จองซื้อในประเทศไทยและในต่างประเทศจำนวนรวม 28 ราย ในราคาเสนอขายสุดท้าย
สำหรับนักลงทุนกลุ่ม Cornerstone Investors ในประเทศที่ได้รับการจัดสรรมากสุดคือ บลจ.ไทยพาณิชย์ จำนวน 239 ล้านหุ้น รองลงมาเป็น บลจ.บัวหลวง และบลจ.กสิกรไทย ได้รับจัดสรรรายละเท่ากันที่ 143.5 ล้านหุ้น ส่วนกลุ่ม Cornerstone Investors ที่จองซื้อในต่างประเทศ ที่ได้รับจัดสรรมากสุด คือ GIC Private Limited จำนวน 215 ล้านหุ้น
OR กำหนดช่วงราคาเสนอขาย IPO ที่ 16-18 บาท/หุ้น คิดเป็นมูลค่าการเสนอขาย 41,760 -46,980 ล้านบาท (ไม่รวมจำนวนหุ้นส่วนเกิน) และจะกำหนดราคาเสนอขายสุดท้ายอย่างช้าภายในเวลา 9.00 น. ของวันที่ 3 ก.พ. สำหรับผู้ถือหุ้น PTT ที่ได้รับสิทธิการจองซื้อหุ้น OR และผู้จองซื้อรายย่อย จะต้องจองซื้อหุ้น OR ที่ราคาสูงสุด 18 บาท/หุ้น โดยผู้ถือหุ้น PTT จองซื้อระหว่างวันที่ 25-28 ม.ค.
ส่วนผู้จองซื้อรายย่อย จองซื้อระหว่างวันที่ 24 ม.ค. ถึงเวลา 12.00 น. ของวันที่ 2 ก.พ. ผ่าน 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB) โดยผู้จองซื้อรายย่อยจะต้องจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนขั้นต่ำจำนวน 300 หุ้น และจะต้องเพิ่มเป็นจำนวนทวีคูณของ 100 หุ้น
ส่วนนักลงทุนกลุ่ม Cornerstone Investors จะต้องชำระเงินค่าจองซื้อที่ราคาเสนอขายสุดท้าย ระหว่างวันที่ 3-5 ก.พ.
ทั้งนี้ อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ของ OR อยู่ที่ประมาณ 23.9-26.9 เท่า โดยอัตราส่วนดังกล่าวคำนวณจากช่วงราคาเสนอขายที่ 16-18 บาท/หุ้น หารด้วยกำไรสุทธิต่อหุ้น (Earnings Per Share) เท่ากับ 0.67 บาทต่อหุ้น (คำนวณจากกำไรสุทธิของบริษัทในช่วง 12 เดือนย้อนหลัง (ตั้งแต่ไตรมาสที่ 4/62 ถึงไตรมาสที่ 3/63) ซึ่งเท่ากับ 7,816.8 ล้านบาท หารด้วยจำนวนหุ้นสามัญทั้งหมดจำนวน 11,610 ล้านหุ้น (Fully Diluted) (บนสมมติฐานว่ามีการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนทั้งจำนวน 2,610 ล้านหุ้น และไม่รวมกรณีที่มีการจัดสรรหุ้นส่วนเกิน)
อัตราส่วนราคาหุ้นต่อกำไรสุทธิต่อหุ้น (P/E Ratio) ของบริษัทจดทะเบียนที่มีลักษณะการประกอบธุรกิจที่คล้ายคลึงหรือใกล้เคียงกับการประกอบธุรกิจของบริษัท ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ทั้งในและต่างประเทศ เฉลี่ยประมาณ 31.7 เท่า โดยอ้างอิงข้อมูลในช่วงระยะเวลา 6 เดือนย้อนหลังล่าสุดนับจากวันที่ 7 ก.ค.63-6 ม.ค.64
OR มีทุนจดทะเบียน 9,000 ล้านหุ้น พาร์หุ้นละ 10 บาท โดยมี PTT ถือหุ้น 100% หลังการเสนอขายหุ้น IPO (ภายใต้สมมติฐานว่าจะมีการใช้สิทธิซื้อหุ้นส่วนเกินทั้งจำนวนจะมีหุ้นจดทะเบียนจำนวน 12,000 ล้านหุ้น) PTT จะยังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ OR ด้วยการถือหุ้นในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 75%
สำหรับวัตถุประสงค์การระดมทุนของ OR ครั้งนี้จะรองรับการใช้เงินในช่วงปี 64-67 เพื่อขยายเครือข่ายสถานีบริการน้ำมันภายใต้แบรนด์ “ptt station” ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ, ขยายธุรกิจสำหรับการตลาดพาณิชย์ในกลุ่มธุรกิจน้ำมัน, การลงทุนคลังเก็บผลิตภัณฑ์และศูนย์กระจายสินค้าธุรกิจน้ำมัน, ขยายเครือข่ายร้านค้าปลีกให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุปสงค์ในตลาด, การลงทุนในธุรกิจต่างประเทศ และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ หรือใช้ชำระคืนเงินกู้ยืม
OR ประกอบธุรกิจจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและธุรกิจค้าปลีกสินค้าและบริการอื่น ๆ (Non-Oil) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งรวมถึงการจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในตลาดค้าปลีกและตลาดพาณิชย์ ธุรกิจกาแฟ ร้านอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ร้านสะดวกซื้อ และการบริหารจัดการพื้นที่ โดยมีแบรนด์สถานีบริการน้ำมัน คือ ptt station และแบรนด์ร้านกาแฟ คือ คาเฟ่อเมซอน
บริษัทจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) กลุ่มพลังงานและสาธารณูปโภค โดยมีที่ปรึกษาทางการเงินได้แก่ บล.ฟินันซ่า ,บล.เกียรตินาคินภัทร ,บล.บัวหลวง ,บล.กสิกรไทย และ บล.ทิสโก้
นายพงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า การเดินสายนำเสนอข้อมูลกับนักลงทุน (โรดโชว์) ของการเสนอขาย IPO ของ OR แบ่งเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ในวันนี้ (15 ม.ค. 64) บริษัทจะโรดโชว์กับนักลงทุนสถาบันในและต่างประเทศ ซึ่งได้รับการตอบรับจากสถาบันลงทะเบียนเข้ามารับฟังกว่า 40 ราย และในสัปดาห์หน้าจะทำโรดโชว์ในกลุ่มนักลงทุนรายย่อย โดยมีบล.ภัทร เป็นผู้รับผิดชอบ
สำหรับการจัดสรรสัดส่วนการกระจายหุ้น IPO ให้กับนักลงทุนรายย่อยจำนวน 595.76 ล้านหุ้น ที่จะเปิดให้จองซื้อในวันที่ 24 ม.ค.-2 ก.พ. 64 (ปิดรับจองซื้อเวลา 12.00 น.) จะเปิดให้นักลงทุนรายย่อยที่สนใจจองซื้อผ่านสาขาของธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และธนาคารกรุงไทย (KTB) เท่านั้น ซึ่งไม่ได้เปิดให้จองผ่านบริษัทหลักทรัพย์
นายพงศ์ศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่นักลงทุนให้ความสนใจหุ้น OR เป็นจำนวนมาก เนื่องจาก OR อยู่ในเครือ PTT มีศักยภาพจากการเป็นผู้นำในธุรกิจสถานีบริการน้ำมันที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุดในประเทศไทย และมีจำนวนสถานีบริการน้ำมันครอบคลุมทั่วประเทศ เป็นที่รู้จักของคนไทยเป็นอย่างดี
รวมทั้งมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการพาณิชย์และพื้นที่เช่าในสถานีบริการน้ำมันที่เสริมศักยภาพให้กับ OR โดยเฉพาะร้านคาเฟ่อะเมซอน ซึ่งเป็นธุรกิจที่ให้มาร์จิ้นดี และได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่ง OR ยังคงมีแผนเดินหน้าการขยายร้านคาเฟ่อะเมซอน ทำให้ OR มีความน่าสนใจเมื่อเทียบกับธุรกิจที่ใกล้เคียงกันในกลุ่มพลังงาน และค่อนข้างโดดเด่นเมื่อเทียบกับกลุ่มค้าปลีก
อีกทั้งช่วงราคา IPO ที่เสนอขาย 16-18 บาท/หุ้น เป็นราคาที่ให้ส่วนลดไปค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับศักยภาพการเติบโตของบริษัท
ด้านแหล่งข่าวจากวงการบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า กำหนดการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรกของ OR จะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์วันแรกในวันที่ 11 ก.พ. 64 หลังจากที่การกำหนดราคาเสนอขายสุดของหุ้น IPO ของ OR จะออกมาในช่วงต้นเดือน ก.พ.นี้
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ม.ค. 64)
Tags: IPO, OR, PTT, ปตท., ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก, พงศ์ศักดิ์ พฤกษ์ไพศาล, หุ้นไทย, โออาร์, ไอพีโอ