นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงประสิทธิภาพของวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่รัฐบาลจะนำเข้ามาฉีดให้ประชาชน ว่า การพิจารณาเรื่องประสิทธิภาพนั้นอย่าไปยึดติดที่ตัวเลข ขอให้ยึดความเป็นจริง เนื่องจากผลทดสอบในแต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน
สำหรับวัคซีนของบริษัท ซิโนแว็กเทคโนโลยี จำกัด นั้น ทดสอบที่ตุรกีในบุคคลทั่วไปให้ประสิทธิภาพ 90%, อินโดนีเซียทดสอบในบุคคลทั่วไป 60% ขณะที่บราซิลทดสอบในบุคลากรทางแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูงให้ประสิทธิภาพเหลือ 50% ซึ่งวัตถุประสงค์ของการผลิตวัคซีนมี 3 ประการ คือ 1.ฉีดแล้วป้องกันการติดเชื้อ 2.ฉีดแล้วติดเชื้อแล้วแต่ไม่เป็นโรค และ 3.ฉีดแล้วเป็นโรคแล้วไม่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต
“ตอนนี้ตลาดเป็นของผู้ขาย เพราะกำลังขาดแคลน ถ้าจะให้เลือกวัคซีนที่ดีที่สุดอาจซื้อไม่ได้ แต่องค์การอนามัยโลกบอกป้องกันได้เกิน 50% ก็ยอมรับได้ ถึงแม้เราอยากได้ที่ป้องกันถึง 100%”
นพ.ยง กล่าว
ตนเองคงไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 แล้วจะมีภูมิต้านทานได้นานแค่ไหน เพราะเป็นโรคอุบัติใหม่ อย่างกรณีวัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใส ที่ก่อนหน้านี้ระบุว่าฉีดเข็มเดียวป้องกันได้ตลอดชีวิต ตอนนี้ต้องฉีดเพิ่มอีกเข็ม และจากการศึกษาเชื้อไวรัสโควิด-19 พบการกลายพันธุ์มีน้อยกว่าไวรัสไข้หวัดใหญ่ประมาณสิบเท่า ซึ้งไม่กระทบต่อการผลิตวัคซีน
“ถามว่าจะป้องกันได้กี่ปี นานแค่ไหน บอกได้เลยว่าไม่รู้ เพราะวัคซีนนำมาใช้แค่ 3-4 เดือน จะให้บอกว่าป้องกันนานแค่ไหน ไม่มีใครรู้ ต้องติดตามกันต่อไป ความรู้ใหม่จะเกิดขึ้น ถ้าฉีดแล้วยังติดเชื้อก็ต้องฉีดกระตุ้นใหม่ ซึ่งอาจจะอยู่ได้อีก 5 ปี” นพ.ยง กล่าว
ส่วนการตัดสินใจว่าจะฉีดวัคซีนหรือไม่ขึ้นอยู่ความเสี่ยงของแต่ละคน เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้สูงอายุจะมีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตสูง โดยผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปีมีโอกาสเสียชีวิต 3-4% ผู้ที่มีอายุเกิน 70 ปีมีโอกาสเสียชีวิต 10% และผู้ที่มีอายุเกิน 80 ปีมีโอกาสเสียชีวิต 20% แต่ถ้าเป็นผู้ที่อายุน้อยถึงจะติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ ต่อไปโรคนี้อาจเป็นโรคไข้หวัดธรรมดาที่ติดต่อได้ง่ายในเด็กๆ แต่ติดเชื้อแล้วไม่มีอาการ ร่างกายจะสร้างภูมิคุ้มกันเอง แต่ไวรัสชนิดนี้จะไม่มีวันหายไปแต่จะมีวิวัฒนาการที่ไม่ทำให้เกิดอาการรุนแรง
ปัจจุบันทั่วโลกมีการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ไปแล้วราว 30 ล้านโดส โดยเป็นวัคซีนชนิดเชื้อตายที่ฉีดในจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบาห์เรน และวัคซีนชนิด mRNA ของไฟเซอร์ฯ ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นโอกาสดีที่รัฐบาลจะเจรจานำวัคซีนที่มีใช้แล้วเข้ามาทดลองฉีดในประเทศไทยว่าจะมีการตอบสนองอย่างไร
ตนเองได้ทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน มีผู้ตอบแบบสอบถามกลับมากว่า 3.3 หมื่นคน โดยประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นที่จะรับการฉีดวัคซีน 55% มีผู้ที่ไม่ฉีด 5% เนื่องจากก่อนหน้านี้กระทรวงสาธารณสุขเกิดความกังวลว่าอาจสูญเสียงบประมาณไปเปล่าๆ หากมีการนำเข้าวัคซีนแล้วประชาชนไม่สนใจ นอกจากนี้ประชาชนส่วนใหญ่ยังให้ความเชื่อมั่นกับวัคซีนที่ผลิตจากประเทศแถบยุโรปและอเมริกามากกว่าวัคซีนที่ผลิตจากที่อื่น
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนยึดมั่นตามมาตรการชีวอนามัย เช่น สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย เว้นระยะห่าง ซึ่งตนเองมีประสบการณ์จากการลงพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร พร้อมกับผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขแล้วไม่ติดเชื้อหลังกักกันโรคครบกำหนดแล้ว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, ซิโนแว็ก, ซิโนแว็กเทคโนโลยี, ยง ภู่วรวรรณ, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, โควิด-19