นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวก่อนการประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2564 ว่า ที่ประชุมจะมีการพิจารณาแผนจัดเก็บเงินค่าประกันภัยและประกันชีวิตจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาในไทย คล้ายกับลักษณะซาโยนาระแท็กซ์ของประเทศญี่ปุ่น และนำมาบริหารรูปแบบกองทุน
โดยจะมีการเรียกเก็บจากนักท่องเที่ยว คนละประมาณ 10 เหรียญ ซึ่งการเก็บเงินค่าประกันเป็นการสร้างความปลอดภัยให้กับนักท่องเที่ยวว่าจะได้รับการดูแลทุกขั้นตอนอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นเจ็บป่วย ประสบอุบัติเหตุ หรือไปจนถึงเสียชีวิต ซึ่งหากที่ประชุมให้ความเห็นชอบก็จะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)ต่อไป
นายพิพัฒน์ กล่าวถึงมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโควิด-19ในระยะสั้นว่า ทางกระทรวงได้มีการหารือร่วมกับสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว สมาคมโรงแรม สมาคมการจัดประชุมและแสดงสินค้า ได้มีข้อสรุปอยากให้มีการผ่อนผันดอกเบี้ยเงินต้น การเข้าถึงขอสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน รวมถึงการเยียวยาแรงงานในกิจการโรงแรมต่างๆ ซึ่งจะมีการนำข้อสรุปไปหารือกับกระทรวงแรงงาน เพื่ออยากให้มีการออกมาตราการช่วยเหลือในลักษณะ Co-pay รัฐช่วย 50 เอกชนออก 50 โดยมีเงื่อนไขว่าผู้ประกอบการต้องไม่มีการปลดพนักงาน เพื่อช่วยแรงงานประมาณ 4 แสนคน และช่วยเหลือเป็นเวลา 2 เดือน คือ ในเดือนก.พ.และมี.ค. นี้
ส่วนความคืบหน้ากรณี 7 สายการบิน ได้ขอสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลนจากรัฐบาล ว่า เรื่องนี้อยู่ในขั้นตอนการหารือ ร่วมกันระหว่างกระทรวงคมนาคมกับกระทรวงการคลัง
“เรื่องนี้ก็น่าจะมีความคืบหน้าในระยะเวลาสั้นๆนี้ น่าจะทันในการที่จะเริ่มมีการเดินทางใหม่ ซึ่งรัฐบาลคงไม่ปล่อยทิ้งใครไว้ด้านหลังอย่างที่นายกฯพูดไว้ตลอดเวลา”
นายพิพัฒน์ กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 64)
Tags: การท่องเที่ยว, ค่าประกันภัย, นักท่องเที่ยวต่างชาติ, ประกันชีวิต, พิพัฒน์ รัชกิจประการ, สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว, โรงแรม