นายธนเดช รังษีธนานนท์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” ว่า ภาพรวมผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 4/63 คาดว่าจะมีกำไรสุทธิ 3 หมื่นล้านบาท ลดลงประมาณ 36% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/62 (YoY)
เป็นผลกระทบจากระดับหนี้ NPLs เพิ่มขึ้นและรายได้จากค่าธรรมเนียมก็ลดลง ประกอบกับ ไตรมาสสุดท้ายของปีธนาคารพาณิชย์จะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงกว่าปกติ แต่หากเทียบกับไตรมาส 3/63 (QoQ) คาดว่าจะลดลงเล็กน้อยประมาณ 1-2% เท่านั้นหลังการแพร่ระบาดโควิด-19 ผ่อนคลายในรอบแรกเป็นปัจจัยสนับสนุนการจับจ่ายใช้สอยกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง
“ผมคิดว่าหุ้นกลุ่มแบงก์พาณิชย์กำลังจะพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วในไตรมาส 3/63 หรือก็อาจจะเป็นจุดต่ำสุดในไตรมาส 4/63 เพราะตามสถิติกำไรปกติของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ก่อนภาวะโควิด-19 จะอยู่ระดับกว่า 4 หมื่นล้านบาท หรือภาวะที่ดีอาจไปถึงกว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าไตรมาส 1/64 กำไรของกลุ่มแบงก์พาณิชย์จะกลับขึ้นไปยืนเหนือกว่า 3 หมื่นล้านบาทอีกครั้งก่อนจะค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับ ส่วนหนี้ NPLs คิดว่าน่าจะยังไม่ถึงจุดสูงสุด เบื้องต้นประเมินว่าหนี้ NPLs มีโอกาสขึ้นไปแตะจุดสูงสุดช่วงกลางปี 65 คงจะต้องใช้ระยะเวลากว่า 1 ปีภาวะหนี้ NPLs จะเริ่มเห็นสัญญาณผ่อนคลาย”นายธนเดช กล่าว
สำหรับในมุมมองการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์น่าจะเห็นการเก็งกำไรเข้ามาก่อนการรายงานผลประกอบการอย่างเป็นทางการ ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์รายใดมีกำไรที่ดีหรือควบคุมหนี้ NPLs ได้ดีก็อาจเกิดภาวะ “Buy On Fact” ได้เช่นกัน
“คงตอบยากว่าจะมีเซอร์ไพรส์หรือไม่ แต่หากวิเคราะห์จากนักวิเคราะห์หลายๆค่ายมองว่ากำไรลดลงเมื่อเทียบกับ YoY จะคล้ายๆกัน แต่หากเทียบกับ QoQ ก็มีความเห็นที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งมีบางค่ายก็ประเมินเป็นบวก คงต้องมาดูที่การตั้งสำรองของแต่ละแบงก์จากโมเมนตัมเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวทั้งกิจกรรมสินเชื่อและรายได้ค่าเนียมหรือไม่ตามการฟื้นตัวของการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ แต่ต้องยอมรับว่าตัวเลขการตั้งสำรองเป็นสิ่งที่คาดเดายาก เพราะมีตัวแปรใหม่เข้ามาคือการแพร่ระบาดโควิด-19 รอบสองประกอบกับแบงก์ชาติก็เหมือนจะให้แบงก์พาณิชย์ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม ดังนั้นก็ต้องมาดูว่าท่าทีของแบงก์พาณิชย์จะทำอย่างไรกับนโยบายการตั้งสำรองช่วงหลังจากนี้”นายธนเดช กล่าว
นายธนเดช กล่าวต่อว่า สำหรับภาพรวมของกำไรสุทธิของธนาคารพาณิชย์ปี 64 คาดว่าจะเติบโตประมาณ 8% และปี 65 จะเติบโต 9% มาจากการตั้งสำรองลดลง , หนี้ NPLs เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้น และรายได้ค่าธรรมเนียมกลับมาเติบโตตามการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ
อย่างไรก็ตาม คงต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์วิกฤติโควิด-19 หากผ่อนคลายก็สามารถลดการตั้งสำรองหนี้ได้ ส่วนศักยภาพทำกำไรผ่าน NIM หรือส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ เป็นเครื่องชี้ที่สะท้อนความสามารถในการหารายได้ของธนาคารพาณิชย์จากส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยรับและดอกเบี้ยจ่าย มองว่ามีแนวโน้มเป็นขาลงหลังจากก่อนหน้านี้ทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยหลายรอบ ส่งผลกระทบเต็มที่ในปี64 ซึ่งการที่ NIM จะกลับมาดีขึ้นอีกครั้งคือต้องถึงรอบของดอกเบี้ยขาขึ้นอีกครั้ง มีโอกาสเห็นช่วง 2-3 ปีข้างหน้า
ทั้งนี้ หากอ้างอิงตามข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังบ่งชี้ว่าฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ของไทยมีความแข็งแกร่ง แม้ว่าจะผ่านมรสุมผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่จากตัวเลข BIS Ratio หรืออัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่สถาบันการเงินดำรงไว้เพื่อรองรับความเสี่ยงคงอยู่ระดับ 20% สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนด 12% เรียกว่ามีสถานะกองทุนแข็งแรง
เช่นเดียวกับการตั้งสำรองต่อระดับหนี้ที่ไม่ให้เกิดรายได้ (NPLs) อยู่ระดับ 150% เป็นที่มาของความสามารถการจ่ายเงินปันผลงวดสิ้นปี 63 แต่ท่ามกลางความเสี่ยงของการแพร่ระบาดรอบสอง ธปท. มีนโยบายให้ธนาคารพาณิชย์จ่ายเงินปันผลเป็นอัตราไม่เกินกว่าที่จ่ายในปี 2562 และไม่เกิน 50% ของกำไรสุทธิปี 63 ส่วนหนึ่งเป็นการผ่อนคลายความกังวลฐานะทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ แต่ยังต้องระมัดระวังความเสี่ยงที่อาจจะเผชิญต่อในปี64
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ มองว่าทิศทางราคาหุ้นน่าจะเริ่มเห็นสัญญาณการขยับขึ้นเป็นลักษณะ Sideway up หากต้องการลงทุนระยะกลาง-ยาวเป็นโอกาสเข้าสะสมได้ ส่วนผู้ลงทุนระยะสั้นกำลังสนใจหุ้นธนาคารพาณิชย์แนะนำใช้เทคนิคเข้าไปประกอบการตัดสินใจด้วย
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 64)
Tags: ธนาคารพาณิชย์, ธนเดช รังษีธนานนท์, ผลประกอบการ, สัมภาษณ์พิเศษ