นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการรายงานสถานการณ์และคุณภาพอากาศประเทศไทย โดยเฉพาะพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) มีค่าอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเป็นผลจากการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ของรัฐบาลที่ได้บูรณาการความร่วมมือจากหลายฝ่ายในการป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
ดังนั้น เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับปัญหาดังกล่าว กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาไว้ทั้ง 3 กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ ภาคอุตสาหกรรม ภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ และภาคเกษตรอุตสาหกรรม ทั้งมาตรการเร่งด่วนและมาตรการระยะยาว
โดยในส่วนของมาตรการเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรม ให้ตรวจสอบ เฝ้าระวัง และบังคับใช้กฎหมายกับโรงงานอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้หม้อน้ำ หรือแหล่งกำเนิดความร้อน และอุปกรณ์การเผาไหม้ในพื้นที่ กทม. และจังหวัดปริมณฑล พร้อมกับขอความร่วมมือผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรม ตรวจสอบ ควบคุมระบบบำบัดมลพิษทางอากาศ ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการปรับแผนการผลิตและขอความร่วมมือให้มีการติดตั้งระบบตรวจสอบ การระบายมลพิษอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS) และเชื่อมโยงข้อมูลมายังกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) รวมทั้งการปรับแต่งการเผาไหม้เชื้อเพลิงจากหม้อน้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้และลดปัญหามลพิษทางอากาศ
ส่วนมาตรการระยะยาว จะดำเนินการขยายผลการติดตั้งระบบตรวจสอบการระบายมลพิษอากาศแบบอัตโนมัติต่อเนื่อง (CEMS) โดยมีการเชื่อมโยงข้อมูลให้ครอบคลุมพื้นที่ และประเภทการประกอบกิจการเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมจำพวก 3 เตาเผาที่มีการใช้เชื้อเพลิง ชีวมวล และหม้อน้ำตามขนาดที่กำหนด รวมถึงการทบทวนและปรับปรุงมาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานให้เข้มงวดมากขึ้น ตลอดจนการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และการออกกฎหมายรายงานการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR)
สำหรับมาตรการในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้จัดทำมาตรการจูงใจเพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าผ่านมาตรฐานที่เกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ประกาศใช้แล้ว 37 มาตรฐาน จากทั้งหมด 63 มาตรฐาน โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ 2564 พร้อมทั้งจัดหาเครื่องมือ อุปกรณ์ เพื่อรองรับการทดสอบรถยนต์หรือชิ้นส่วนยานยนต์ไฟฟ้า ส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในส่วนราชการ ส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้เกิดการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และรถบัสไฟฟ้า ภายในประเทศ และการกำหนดอัตราค่าไฟคงที่ทุกช่วงเวลาสำหรับการชาร์ตยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งจัดทำแผนการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมทั่วประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีมาตรการในภาคเกษตรอุตสาหกรรม ด้วยการกำหนดนโยบายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ : อ้อยสด เป็นร้อยละ 20:80 ในฤดูการผลิตปี 2563/2564 โดยมีมาตรการกำหนดราคาอ้อยสดกับราคาอ้อยไฟไหม้ที่แตกต่างกัน เพื่อให้ชาวไร่อ้อยที่ตัดอ้อยไฟไหม้หันกลับมาตัดอ้อยสด จัดซื้อรถสางใบอ้อย เพื่อให้ชาวไร่อ้อยรายเล็กได้ยืมไปใช้ และมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในการสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตร โดยโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยอย่างครบวงจรปีงบประมาณ 2562-2564 วงเงินปีละ 2,000 ล้านบาท รวมระยะเวลา 3 ปี เป็นจำนวน 6,000 ล้านบาท ตั้งเป้าเพื่อการพัฒนาแหล่งน้ำ และการบริหารจัดการน้ำในไร่อ้อย จัดซื้อรถตัดอ้อย รถคีบอ้อย รถแทรกเตอร์ รถบรรทุกอ้อย และเครื่องจักรกลการเกษตรอื่น ๆ
“กระทรวงฯ มีการตรวจสอบ และติดตามสถานการณ์โรงงานที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่สามารถก่อให้เกิด ฝุ่นละออง PM2.5 ทั่วประเทศ โดยเฉพาะโรงงานที่มีการใช้พลังงานในหม้อน้ำ หม้อต้ม ที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อนและอุปกรณ์การเผาไหม้อื่นๆ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ”
ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าว
ที่ผ่านมา กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ได้จัดโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการเผาไหม้สำหรับหม้อน้ำและหม้อต้มที่ใช้ของเหลวเป็นสื่อนำความร้อน เพื่อการอนุรักษ์พลังงานและลดฝุ่นละออง PM2.5 ของโรงงานในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งการปรับแต่งการเผาไหม้นอกจากจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตแล้ว ยังช่วยลดปัญหาฝุ่นละอองแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่เข้าร่วมโครงการเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม กระทรวงฯ ได้กำชับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ตรวจ ติดตาม โรงงานอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงสร้างปัญหาฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด เพื่อผลักดันให้โรงงานลดการปล่อยมลพิษรวมถึงฝุ่น PM2.5 ให้เหลือน้อยที่สุด
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ม.ค. 64)
Tags: PM2.5, กระทรวงอุตสาหกรรม, กอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์, คุณภาพอากาศ, ฝุ่นพิษ, ฝุ่นละออง, รถยนต์, สภาพอากาศ, โรงงานอุตสาหกรรม