นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า หลักเกณฑ์การพิจารณาเลือกวัคซีนของประเทศไทยนั้นจะคำนึงถึงเรื่องคุณสมบัติว่ามีคุณภาพและประสิทธิภาพว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ ราคาเป็นอย่างไรเนื่องจากต้องใช้งบประมาณจำนวนมาก และจำนวนเพียงพอที่ต้องการหรือไม่ เพราะมีรายงานว่าบางรายมีคุณภาพดีแต่จะส่งมอบได้ต้องรอถึงปลายปี อีกทั้งวัคซีนที่นำมาใช้ต้องไม่เกิดอาการที่ไม่พึงประสงค์
ทั้งนี้มีรายงานข่าวที่อาจทำให้เกิดความวิตกกังวลว่า ผลทดลองใช้วัคซีนระยะ 3 ของบริษัท ซิโนแว็ก ของสถาบันบูตันตันในบราซิลที่ออกมาว่ามีประสิทธิผล 50.4% เท่านั้น โดยวัคซีนดังกล่าวเป็นตัวเดียวกับที่เราสั่งซื้อไว้ 2 ล้านโดส และจะเริ่มทยอยนำเข้า 2 แสนโดสแรกในเดือน ก.พ.64 ซึ่งเรื่องนี้ไม่ส่งผลกระทบต่อแผนนำเข้าวัคซีนจากบริษัท ซิโนแว็ก
“ข้อมูลการแถลงมีค่อนข้างจำกัด ขณะนี้เราขอข้อมูลโดยตรงไปยังบริษัท ซิโนแว็ก รอตอบมาว่าข้อเท็จจริงคิดอะไร ซึ่งในขั้นตอนการยื่นขอขึ้นทะเบียนต่อ อย.เขาก็ต้องเปิดเผยข้อมูลทั้งหมดให้เราทราบ…ขอให้ความมั่นใจกับประชาชนว่าวัคซีนที่จะนำมาใช้ต้องมีคุณภาพยอมรับได้”
นพ.ศุภกิจ กล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวว่า คำว่าประสิทธิภาพในภาพรวม 50.4% นั้นหมายความว่า ระหว่างผู้ที่ฉีดวัคซีนกับไม่ฉีดวัคซีนจะมีอัตราการติดเชื้อแตกต่างกัน โดยสามารถป้องกันไม่ให้ติดเชื้อได้เลย 50.4% ซึ่งทดลองในพื้นที่ที่มีการระบาดสูงกับบุคลากรทางการแพทย์ แต่มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าวัคซีนดังกล่าวสามารถป้องกันการป่วยได้ 78% และไม่มีอาการหนัก 100%
“ไม่ว่าบริษัทใดที่มีผลการศึกษาเฟส 3 ออกมา เป็นผลการทดลองในระยะต้นๆ การทดลองที่สมบูรณ์แบบต้องใช้เวลาอีก 1 ปี ถึง 1 ปีครึ่ง”
นพ.ศุภกิจ กล่าว
ข้อดีวัคซีนของจีนคือผลิตจากเชื้อตาย โดยนำเชื้อโควิด-19 มาน็อคให้หมดฤทธิ์แล้วฉีดเข้าไปในร่างกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิมที่เป็นเทคโนโลยีที่เราคุ้นชิน และทางการจีนได้นำไปฉีดให้กับทหารและบุคลากรทางการแพทย์เป็นจำนวนมากพอสมควรหลายแสนราย และไม่พบผลข้างเคียง
นพ.สุรโชค ต่างวิวัฒน์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวว่า การขึ้นทะเบียนวัคซีนนั้นจะต้องมีการตรวจสอบ โดยมีหลักการประเมิน 3 ประการ คือ
- คุณภาพ
- ความปลอดภัย
- ประสิทธิภาพ
โดยผู้ขอขึ้นทะเบียนจะต้องยื่นข้อมูลให้พิจารณา เนื่องจากเป็นสถานการณ์เร่งด่วน ครั้งนี้จึงให้ทยอยยื่นข้อมูลได้ ขณะเดียวกันจะมีผู้เชี่ยวชาญจากทั่วประเทศมาร่วมพิจารณาไปล่วงหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดความรวดเร็วขึ้นแต่ครบถ้วนตามขั้นตอนภายในเดือน ม.ค.64 โดยปัจจุบันมีผู้ขอทะเบียนแล้ว 2 ราย คือ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า และบริษัท ซิโนแว็ก นอกจากนี้ อย.ยังพร้อมให้เอกชนยื่นขอขึ้นทะเบียนเพื่อนำเข้าวัคซีนได้เช่นกัน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, กระทรวงสาธารณสุข, คณะกรรมการอาหารและยา, ซิโนแว็ก, ซิโนแวค, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, ศุภกิจ ศิริลักษณ์, สุรโชค ต่างวิวัฒน์, โควิด-19