SET ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,547.31 จุด เพิ่มขึ้น 7.46 จุด (+0.48%) มูลค่าการซื้อขาย 106,700.02 ล้านบาท โดยดัชนีปิดสูงสุดในรอบเกือบ 1 ปี นักวิเคราะห์ระบุรับแรงซื้อกลุ่มหลัก นำโดยพลังงาน โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี และแบงก์ จากคาดการณ์งบไตรมาส 4/63 มีทิศทางดีและยังมีแนวโน้มดีขึ้นในปีนี้ตามการฟื้นตัวราคาน้ำมัน ช่วงบ่ายเผชิญแรงขายทำกำไรบ้างหลังขึ้นไปทดสอบ 1,555 จุดแต่ยืนไม่อยู่ ซึ่งไม่ได้ทำให้ทิศทางตลาดแย่ลง ขณะที่นักลงทุนรอการทยอยประกาศงบกลุ่มแบงก์ และทิศทางลงทุนต่างชาติ รวมถึงสถานการณ์โควิดในประเทศ พรุ่งนี้คาดตลาดฯแกว่งบวกลบในกรอบ 10 จุด ให้แนวต้าน 1,555-1,560 จุด และแนวรับ 1,540 จุด
- ตลาดหลักทรัพย์ปิดวันนี้ที่ระดับ 1,547.31 จุด เพิ่มขึ้น 7.46 จุด (+0.48%) มูลค่าการซื้อขาย 106,700.02 ล้านบาท
- การซื้อขายหุ้นวันนี้ ดัชนีหุ้นไทยเคลื่อนไหวในแดนบวกตลอดทั้งวัน โดยดัชนีทำระดับสูงสุดที่ 1,561.66 จุด และทำระดับต่ำสุดที่ 1,542.42 จุด
- ส่วนหลักทรัพย์เปลี่ยนแปลงวันนี้ เพิ่มขึ้น 732 หลักทรัพย์ ลดลง 765 หลักทรัพย์ และไม่เปลี่ยนแปลง 408 หลักทรัพย์
นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์และนักกลยุทธ์ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) กล่าวว่า การซื้อขายของตลาดหุ้นไทยในช่วงบ่ายมีความผันผวน โดยดีดตัวขึ้นแรงในช่วงต้นภาคบ่ายก่อนจะอ่อนตัวลงช่วงท้ายตลาดจากแรงขายทำกำไรออกบ้างหลังดัชนีขึ้นไปทดสอบบริเวณ 1,555 จุด แต่ยังไม่สามารถยืนได้ ทำให้มีจังหวะของการอ่อนตัวลงมา เนื่องจากระยะสั้นตลาดยังไม่มีปัจจัยบวกหรือลบเข้ามาชัดเจน
ขณะเดียวกันนักลงทุนยังรอติดตามการประกาศผลประกอบการไตรมาส 4/63 ของกลุ่มแบงก์ที่จะทยอยออกมาในช่วงวันที่ 14-21 ม.ค.นี้ โดยเฉพาะตัวเลขหนี้เสีย รวมถึงผลประกอบการของกลุ่มอื่น ๆ และสถานการณ์โควิด-19 ภายในประเทศ ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ของสหรัฐ ที่ระยะสั้นมองว่าจะเป็นผลกระทบทางลบต่อตลาดหุ้นไทย เพราะจะทำให้ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าส่งผลให้เงินไหลเข้าชะลอตัวลง แต่ในระยะยาวมาตรการดังกล่าวก็จะเป็นผลดีต่อภาพรวมการลงทุน
ส่วนทิศทางการลงทุนของต่างชาติเริ่มเห็นแรงซื้อชะลอลงทั้งภูมิภาค หลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของสหรัฐพุ่งขึ้น ทำให้เม็ดเงินไหลเข้าชะลอลง
อย่างไรก็ตาม วันนี้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวขึ้นได้จากแรงซื้อที่มีเข้ามาในหุ้นกลุ่มพลังงาน โรงไฟฟ้า ปิโตรเคมี และแบงก์ โดยแรงซื้อที่เข้ามาในกลุ่มโรงไฟฟ้าจากคาดการณ์ผลประกอบการไตรมาส 4/63 น่าจะดีจากเงินบาทแข็งค่า เนื่องจากกลุ่มดังกล่าวมีเงินกู้สกุลต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่จึงน่าจะมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน ขณะที่ในไตรมาส 1 และ 2 ยังเป็นช่วงไฮซีซั่นของกลุ่มโรงไฟฟ้าด้วย
ส่วนกลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ได้รับปัจจัยหนุนจากราคาน้ำมันดิบและส่วนต่าง (สเปรด) ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่ฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/63 ก็ส่งผลดีต่อผลประกอบการที่จะออกมาด้วย
ทั้งนี้ มองภาพรวมของตลาดแม้จะมีแรงขายออกมาบ้าง แต่ก็ยังให้น้ำหนักของตลาดในทางบวกมากกว่าลบ โดยมองว่าการเคลื่อนไหวของดัชนีในวันพรุ่งนี้ (14 ม.ค.) จะแกว่งตัวบวก-ลบในกรอบประมาณ 10 จุด โดยมีแนวต้านที่ 1,555-1,560 จุด ส่วนแนวรับที่ 1,540 จุด
ส่วนหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุด 5 หลักทรัพย์ ได้แก่
PTT มูลค่าการซื้อขาย 5,777.01 ล้านบาท ปิดที่ 44.50 บาท เพิ่มขึ้น 0.75 บาท
EA มูลค่าการซื้อขาย 5,535.71 ล้านบาท ปิดที่ 67.00 บาท เพิ่มขึ้น 2.50 บาท
GPSC มูลค่าการซื้อขาย 5,442.50 ล้านบาท ปิดที่ 85.75 บาท เพิ่มขึ้น 2.25 บาท
PTTEP มูลค่าการซื้อขาย 4,270.86 ล้านบาท ปิดที่ 112.50 บาท เพิ่มขึ้น 5.50 บาท
KBANK มูลค่าการซื้อขาย 2,415.03 ล้านบาท ปิดที่ 121.50 บาท เพิ่มขึ้น 2.00 บาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 64)
Tags: กิจพณ ไพรไพศาลกิจ, ตลาดหุ้น, ยูโอบี เคย์เฮียน, หุ้นไทย