น.สพ.พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล รองกรรมการผู้จัดการ ด้านระบบมาตรฐานอาหารสากล บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากวิกฤติที่ทั่วโลกกำลังเผชิญครั้งใหญ่ คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ต่างส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน และทำให้ใครหลายคนรู้ดีว่าหากไม่มีการตั้งรับที่ดี ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน จะส่งผลกระทบที่รุนแรงในด้านสุขภาพ การเงิน วิถีชีวิต ขยายวงกว้างไประดับประเทศจนถึงทั่วโลก
เหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ความปกติใหม่ หรือ New Normal ชัดเจนและเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ผู้คนเกิดการปรับตัวอย่างรวดเร็ว หนึ่งในนั้นคือ การรักษาสุขภาพ ใส่ใจบริโภคอาหารปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
ซีพีเอฟ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งในเรื่อง “คุณภาพและความปลอดภัยของอาหาร” ผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทผ่านกระบวนการผลิตโดยใช้เครื่องจักรและเทคโนโลยีที่ทันสมัย และนำระบบการบริหารระดับสากลและระบบมาตรฐานที่ตรงตามความต้องการของลูกค้าที่หลากหลายมาประยุกต์ใช้ ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านชุมชนสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยของอาหารและการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิทัล
นอกเหนือจากมาตรฐานคุณภาพระดับประเทศของไทยแล้ว ธุรกิจอาหารของซีพีเอฟยังได้รับการรับรอง มาตรฐานสากล เช่น มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยสำหรับธุรกิจค้าปลีกอาหารของประเทศอังกฤษ (BRC-British Retail Consortium) มาตรฐานคุณภาพและความปลอดภัยอาหารที่ครอบคลุมทุกขั้นตอนในกระบวนการผลิตของประเทศเยอรมนี (QS Quality Scheme for Food) มาตรฐานสากลระดับโลกสำหรับการผลิตสินค้าเกษตร (Global Good Agricultural Practices – Global G.A.P.) มาตรฐานรับรองผลิตภัณฑ์อาหารตามบัญญัติศาสนาอิสลาม (Halal Certification)
น.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าวว่า ซีพีเอฟมีโมเดลธุรกิจผลิตอาหารแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ จึงเป็นข้อดีที่บริษัทสามารถควบคุมและตรวจสอบย้อนกลับคุณภาพของวัตถุดิบตลอดทั้งห่วงโซ่การผลิต และมีการใช้เทคโนโลยีในการผลิตที่ทันสมัย จึงเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้ผลิตภัณฑ์อาหารซีพีเอฟเป็นที่ยอมรับในด้านคุณภาพ และความปลอดภัยจากผู้บริโภคในประเทศไทยและในต่างประเทศทั่วโลก
“ด้วยวิสัยทัศน์จากประธานคณะผู้บริหารฯ ได้กำหนดนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับแบบดิจิตัลสำหรับการผลิตอาหารของซีพีเอฟ(CPF Digital Traceability) วัตถุประสงค์เพื่อระบบตรวจสอบย้อนกลับมีความแม่นยำ ถูกต้องและรวดเร็ว ตลอดห่วง โซ่คุณค่าของซีพีเอฟ อีกทั้งเพื่อนำไปปฏิบัติในทุกกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศไทยและในทุกประเทศทั่วโลกที่บริษัทไปลงทุน สร้างความเชื่อมั่นการตรวจสอบย้อนกลับข้อมูลได้อย่างโปร่งใสในทุกขั้นตอน เริ่มตั้งแต่กระบวนการผลิตอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ในฟาร์ม การแปรรูปอาหารครอบคลุมไปถึงวัตถุดิบที่เป็นส่วนประกอบอาหาร บรรจุภัณฑ์ คลังสินค้า ระบบขนส่งและการกระจายสินค้า”
น.สพ.พยุงศักดิ์ กล่าว
ตามนโยบายการตรวจสอบย้อนกลับด้วยระบบเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีการออกแบบและพัฒนาขึ้นรองรับผลิตภัณฑ์ของซีพีเอฟโดยเฉพาะ สามารถตรวจสอบย้อนกลับประวัติ กระบวนการผลิต และการส่งมอบสินค้าไปยังลูกค้าภายในเวลาอันรวดเร็ว โดยในปี พ.ศ. 2560 ได้นำระบบ CPF Digital Traceability มาใช้ในสายธุรกิจไก่เนื้อได้เป็นผลสำเร็จ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ซีพีเอฟ มุ่งมั่นผลิตอาหารปลอดภัย โดยคำนึงถึงคุณค่าและโภชนาการอาหาร รวมถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นหลัก ควบคู่ไปกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนในการดำเนินธุรกิจ คือ ประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และบริษัท รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 64)
Tags: CPF, ซีพีเอฟ, ธุรกิจอาหาร, พยุงศักดิ์ สมยานนทนากุล, อุตสาหกรรมผลิตอาหาร, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร