นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการ ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวถึงมาตรการแจกเงิน 3,500 บาท จำนวน 2 เดือนของรัฐบาลว่า ถือเป็นการแก้ปัญหาที่ตรงประเด็น โดยเป็นการโอนเงินเข้าถึงมือประชาชนเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อ กระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีกว่าวิธีอื่น เพราะมาตรการ “คนละครึ่ง” ก็ถือว่าเต็มที่แล้ว และมีข้อจำกัดในการขยาย จากจำนวนผู้รับสิทธิ 15 ล้านคน แม้ว่าจะมีการเปิดเพิ่มอีก 1 ล้านสิทธิก็ยังเป็นตัวเลขตามกรอบเดิม รวมถึงมาตรการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ก็ยังมีข้อจำกัดจากสถานการณ์โควิดทำให้คนไม่สามารถออกไปท่องเที่ยวได้
“จากมาตรการแจกเงิน ประเมินว่าจะมีเงินเติมเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อชดเชยส่วนที่หายไปได้ไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาท น่าจะเพียงพอที่จะจุนเจือสถานการณ์ โดยประเมินว่าหากมีการแจกเงินถึง 15 ล้านคน ก็จะใช้เงินมากกว่า 1.5 แสนล้านบาท เศรษฐกิจไทยในปี 64 ก็จะมีโอกาสโตได้เพิ่มอีก 0.5-0.6% และมีโอกาสขยายตัวมากกว่า 2.5%”
นายธนวรรธน์ กล่าว
จากมาตรการช่วยเหลือที่รัฐบาลออกมา ถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์ ซึ่งหอการค้าไทยประเมินว่า ความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ จะอยู่ที่ 1 แสนล้านบาทต่อเดือน ซึ่งหากสถานการณ์ยืดเยื้อ 1 เดือนครึ่ง-3 เดือน ก็จะมีความเสียหายประมาณ 3-4 แสนล้านบาท แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ โดยสถานการณ์ทั้งหมดจะคลี่คลายในเดือน ก.พ.64 ซึ่งความเสียหายทางเศรษฐกิจจะอยู่ที่ประมาณ 1.5-2 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจปี 64 หดตัวเหลือ 2.2% จากที่คาดการณ์เดิมที่ 2.8%
นายธนวรรธน์ เชื่อว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาโควิด-19 ให้คลี่คลายได้ภายในเดือน มี.ค.64 และหลังจากนั้นจะต้องมีมาตรการออกมาเพิ่มเติม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส 2-3 ของปี 64 ซึ่งอาจจะยังทำได้ไม่มาก จึงต้องใช้มาตรการเดิมที่มีอยู่ไปก่อน เช่น มาตรการคนละครึ่ง และเที่ยวด้วยกัน ซึ่งหอการค้าเสนอให้รัฐบาลขยายระยะเวลาโครงการให้ครอบคลุมถึงไตรมาส 2-3 ปี 64 รวมทั้งมาตรการอื่น ๆ เช่น การสนับสนุนให้เกิดการเดินทาง อบรมสัมมนา การดูแลค่าเงินบาท การให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการพยุงการจ้างงานไม่ให้มีการปลดคนงาน
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 ม.ค. 64)
Tags: GDP, คนละครึ่ง, จีดีพี, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เราชนะ, เราเที่ยวด้วยกัน, เศรษฐกิจไทย, แอปพลิเคชัน