น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า สืบเนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 2563 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมผลิตอาหารนมไทย เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม และแรงงานในอุตสาหกรรมโคนมกว่า 1.2 แสนราย ยอดขายผลิตภัณฑ์นมในตลาดลดลงประมาณ 30%
เกษตรกรจึงได้แก้ปัญหาเบื้องต้นโดยการนำน้ำนมดิบไปแปรรูปเป็นนมยูเอชที ด้วยการบรรจุในกล่องนมโรงเรียน ประมาณ 200 ล้านกล่อง แต่ก็ไม่สามารถนำออกขายได้ เพราะมีเกษตรกรและผู้ประกอบการในโครงการอาหารเสริม (นม) โรงเรียนจำหน่ายอยู่แล้ว
ดังนั้น เพื่อเป็นการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม คณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติอนุมัติงบกลาง ประจำปีงบประมาณ 2564 จำนวน 1,477 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการเยียวยาเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์นม พลิกฟื้นเศรษฐกิจภาคการเลี้ยงโคนมและผลิตภัณฑ์นม เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับจัดซื้อนมโรงเรียนชนิดยูเอชที จัดสรรให้กับเด็กนักเรียนกว่า 7.03 ล้านคน ได้ดื่มนมเพิ่มขึ้นคนละ 30 กล่อง
“จะเป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างความแข็งแรงของนักเรียน ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ อีกทั้งยังเป็นการฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้มีการจ้างงานต่อเนื่อง โดยจัดสรรงบประมาณให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการจัดซื้อโรงเรียน ประกอบด้วย 1) องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1,098 ล้านบาท และ 2) กระทรวงศึกษาธิการ 326 ล้านบาท”
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ม.ค. 64)
Tags: นมโรงเรียน, ผลิตภัณฑ์นม, รัชดา ธนาดิเรก, เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม, เกษตรกรโคนม