ฟิทช์ จัดอันดับเครดิต SCGP ที่ A+(tha) แนวโน้มมีเสถียรภาพ

บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาวของ บมจ.เอสซีจี แพคเกจจิ้ง (SCGP) ที่ ‘A+(tha)’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ และจัดอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวโครงการหุ้นกู้ระยะกลาง (Medium-Term Notes Program หรือ MTN) ที่กำลังจะออกจำหน่าย มูลค่ารวมภายใต้โครงการไม่เกิน 4 หมื่นล้านบาท ที่ระดับ ‘A+(tha)’

อันดับเครดิตของ SCGP สะท้อนถึงสถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่งด้วยความเป็นผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งมีกระแสเงินสดที่ค่อนข้างสม่ำเสมอและมีสถานะทางการเงินที่ดี อันดับเครดิต ‘A+(tha)’ ได้รวมการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจากสถานะเครดิตโดยลำพัง (Standalone Credit Profile: SCP) ของ SCGP ซึ่งอยู่ที่ ‘a(tha)’ ซึ่งสะท้อนถึงความสัมพันธ์ระดับปานกลางระหว่างบริษัทฯ กับ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) (‘A+(tha)’,แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ) ซึ่งเป็นบริษัทแม่

ทั้งนี้ แม้ว่าตามหลักการจัดอันดับของฟิทช์ จะกำหนดจำนวนระดับของการปรับเพิ่มอันดับเครดิตจากสถานะโดยลำพังของ SCGP ไว้ได้สูงสุด 2 อันดับ สำหรับความสัมพันธ์ในระดับปานกลางกับ SCC แต่อันดับเครดิตสุดท้ายของ SCGP หลังจากรวมการปรับเพิ่มอันดับเครดิตดังกล่าว ไม่สามารถสูงเกินกว่าอันดับเครดิตของบริษัทแม่ที่ A+(tha) ได้ จำนวนระดับของการปรับเพิ่มจึงเป็นเพียงหนึ่งอันดับ อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP อ่อนแอลงมาอยู่ในระดับต่ำกว่า a(tha) โดยที่ความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ฟิทช์ก็จะสามารถปรับเพิ่มอันดับเครดิตจากสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ได้อีกหนึ่งอันดับ

หุ้นกู้ที่จะออกภายใต้โครงการ MTN จะเป็นหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิ และจะได้รับการจัดอันดับเครดิตในระดับเดียวกันกับอันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของบริษัทฯ เนื่องจากหุ้นกู้ดังกล่าวมีสถานะเท่าเทียมกับหนี้ไม่มีหลักประกัน และไม่ด้อยสิทธิของบริษัทฯ และ SCGP มีจำนวนหนี้สินที่มีหลักประกันและหนี้ที่มีลำดับสิทธิสูงกว่าอยู่ในระดับที่จำกัด เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้จะนำไปใช้สำหรับเงินทุนหมุนเวียนในธุรกิจ ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน หรือชำระคืนหนี้ที่ครบกำหนด

ปัจจัยที่มีผลต่ออันดับเครดิต

อัตราส่วนกำไรที่สม่ำเสมอ – ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย ต่อรายได้ (EBITDA Margin) ของ SCGP จะยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ประมาณร้อยละ 18-19 ในช่วงสองปีข้างหน้า ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประเภทของสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น การเพิ่มสัดส่วนของธุรกิจด้านบรรจุภัณฑ์ครบวงจร (Packaging Solutions) รวมถึงความสามารถในการลดต้นทุนของบริษัทฯ อย่างต่อเนื่อง SCGP ยังคงสามารถสร้าง EBITDA Margin ให้อยู่ในระดับประมาณร้อยละ 18 ได้ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563 (ช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2562 อยู่ที่ระดับร้อยละ 17.4) แม้ว่าราคากระดาษบรรจุภัณฑ์จะลดต่ำลง และ PT Fajar Surya Wisesa Tbk (Fajar) บริษัทย่อยในประเทศอินโดนีเซียจะมี EBITDA Margin ที่อ่อนแอลงก็ตาม ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนกำไรของ Fajar จะปรับเพิ่มขึ้นได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปในช่วงสามปีข้างหน้า จากราคากระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ปรับตัวดีขึ้นและการลดต้นทุน

ฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง – ฟิทช์คาดว่า SCGP จะสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกระแสเงินสดจากการดำเนินงานก่อนการเปลี่ยนแปลงของเงินทุนหมุนเวียน (FFO net leverage) ไว้ได้ที่ระดับต่ำกว่า 3.5 เท่า ได้ในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า แม้ว่าจะอาจมีการลงทุนซื้อกิจการเพิ่มขึ้น อัตราส่วนหนี้สินของบริษัทน่าจะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1.5 เท่า ณ สิ้นปี 2563 (สิ้นปี 2562 อยู่ที่ระดับ 4.1 เท่า) จากเงินที่ได้รับจากการเสนอขายหุ้นสามัญให้แก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในเดือนตุลาคม 2563 ประมาณ 4 หมื่นล้านบาท บริษัทฯ มีแผนที่จะนำเงินที่ได้จาก IPO บางส่วนไปใช้สำหรับการลงทุนซื้อกิจการในช่วงหนึ่งถึงสามปีข้างหน้า

ความสัมพันธ์กับบริษัทแม่ – อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวของ SCGP เป็นอันดับเครดิตที่รวมการปรับเพิ่มอันดับเครดิตสูงสุดไม่เกินสองอันดับจากสถานะเครดิตโดยลำพังของบริษัทฯ ซึ่งอยู่ที่ ‘a(tha)’ เป็นการสะท้อนถึงความสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์กับบริษัทแม่ที่อยู่ในระดับสูง แต่มีความสัมพันธ์ในเชิงกฎหมายและการดำเนินงานในระดับต่ำ ตามหลักการจัดอันดับเครดิตของฟิทช์ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทใหญ่กับบริษัทย่อย (Parent and Subsidiary Rating Linkage Methodology) ธุรกิจแพคเกจจิ้งของ SCGP เป็นหนึ่งในสามกลุ่มธุรกิจหลักของ SCC โดยกลุ่มธุรกิจอื่นได้แก่ กลุ่มธุรกิจเคมิคอลส์ และกลุ่มธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง โดย SCGP เป็นหนึ่งในธุรกิจหลักที่สร้างการเจริญเติบโตให้กับบริษัทแม่ ซึ่งสนับสนุนความสำคัญเชิงกลยุทธ์ของ SCGP ต่อบริษัทแม่ ฟิทช์คาดว่าสัดส่วน EBITDA ของ SCGP ต่อ EBITDA รวมของ SCC จะยังคงอยู่ที่ระดับประมาณร้อยละ 30 ในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า โดยนับรวมการขยายธุรกิจหรือการซื้อกิจการที่ผ่านมาแต่ยังไม่ได้นับรวมถึง EBITDA ส่วนเพิ่มจากการธุรกิจที่อาจเข้าซื้อเพิ่มเติมในอนาคต

ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์กระดาษชั้นนำในภูมิภาคอาเซียน – สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ที่ ‘a(tha)’ สะท้อนถึงสถานะความเป็นผู้นำตลาด ในฐานะผู้ผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยวัดจากกำลังการผลิต SCGP มีกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ทั้งสิ้นประมาณ 4.5 ล้านตันต่อปี และมีกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกทั้งสิ้นประมาณ 1.1 ล้านตันต่อปี ในปี 2563 โดยประเทศไทยและอินโดนีเซียเป็นฐานการผลิตที่ใหญ่ที่สุดของกลุ่ม ด้วยกำลังการผลิต 1.5 ล้านตันต่อปี ในแต่ละประเทศ SCGP มีส่วนแบ่งการตลาดกระดาษบรรจุภัณฑ์ประมาณร้อยละ 28 ในภูมิภาคอาเซียน ส่วนแบ่งการตลาดบรรจุภัณฑ์กล่องลูกฟูกประมาณร้อยละ 34 ในประเทศไทย และร้อยละ 7 ในประเทศเวียดนาม รายได้จากการขายของ SCGP มีการกระจายตัวทางภูมิศาสตร์ที่ดี โดยในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2563 มีสัดส่วนรายได้ ร้อยละ 52 จากประเทศไทย ร้อยละ 13 จากอินโดนีเซีย ร้อยละ 11 จากเวียดนาม และร้อยละ 3 จากฟิลิปปินส์

กระแสเงินสดที่สม่ำเสมอ – มากกว่าร้อยละ 50 ของรายได้จากบรรจุภัณฑ์ของ SCGP มาจากกลุ่มสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่หมุนเวียนเร็ว (Fast-Moving Consumer Goods หรือ FMCG) และกลุ่มสินค้าอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีความต้องการซื้อที่ค่อนข้างสม่ำเสมอตลอดช่วงวัฏจักรเศรษฐกิจและยังมีอัตราการเจริญเติบโตที่สูง นอกจากนี้ ธุรกิจของ SCGP ยังได้รับประโยชน์จากการขยายสายการผลิตสินค้าไปยังสินค้าขั้นต้น (Vertical Integration) เช่น กระดาษบรรจุภัณฑ์ซึ่งทำให้บริษัทฯ สามารถลดผลกระทบต่ออัตราส่วนกำไรจากการปรับเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบได้ในระดับหนึ่ง ฟิทช์คาดว่า SCGP จะมีกำลังการผลิตและความหลากหลายของสินค้าเพิ่มขึ้นในช่วงสามถึงห้าปีข้างหน้า เช่น การเพิ่มสัดส่วนรายได้จากบรรจุภัณฑ์ชนิดพิเศษซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละ 10 ของรายได้รวม ซึ่งจะช่วยเพิ่มส่วนแบ่งการใช้จ่ายเงินของลูกค้าในผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ ได้

การกระจายความเสี่ยงที่ดีขึ้นและธุรกิจที่ครบวงจรมากขึ้น – SCGP ได้รับประโยชน์จากการกระจายตัวของฐานการผลิตในภูมิภาคอาเซียน โดยบริษัทฯ มีโรงงานผลิตกว่า 40 โรงงานใน 5 ประเทศ โดยบริษัทฯ มีการรวมศูนย์การจัดซื้อวัตถุดิบ และเชื่อมโยงช่องทางการกระจายสินค้าและตลาดสินค้าของกลุ่มธุรกิจในภูมิภาค เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน SCGP เน้นการเจริญเติบโตทางธุรกิจด้วยการเข้าซื้อกิจการต่างๆ ในภูมิภาคในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา หลังจากที่ได้รับเงินจากการ IPO บริษัทฯ ก็มีแผนที่จะขยายการเติบโตด้วยการเข้าซื้อกิจการต่อไป โดยเน้นการเพิ่มกำลังการผลิตของสินค้าบรรจุภัณฑ์ขั้นปลายในภูมิภาค

การกำหนดอันดับเครดิตโดยสรุป

สถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP ใกล้เคียงกับอันดับเครดิตของบริษัทที่ฟิทช์จัดอันดับ ‘A(tha)’ ได้แก่ บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ), บมจ.สยามแม็คโคร (MAKRO) (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ) และ บมจ.ปูนซีเมนต์นครหลวง (SCCC) (A(tha)/แนวโน้มอันดับเครดิตเป็นลบ) โดยบริษัทเหล่านี้เป็นบริษัทที่อันดับเครดิตได้รับการสนับสนุนจากสถานะทางการตลาดที่แข็งแกร่งในกลุ่มธุรกิจของตนเอง

CPALL ซึ่งเป็นผู้ประกอบการเครือข่ายร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีสถานะทางธุรกิจที่เหนือกว่า SCGP โดย CPALL มีกระแสเงินสดตลอดวัฏจักรของธุรกิจที่สม่ำเสมอกว่าและมีความสามารถในการแข่งขันที่แข็งแกร่งกว่าส่งผลให้อัตราส่วนกำไรมีความสม่ำเสมอมากกว่า อย่างไรก็ตาม SCGP มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และมีสถานะทางการเงินที่ดีกว่า ทั้งสองบริษัทจึงมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกัน

MAKRO เป็นผู้ประกอบการเพียงรายเดียวในธุรกิจค้าส่งสมัยใหม่ประเภทอาหารในประเทศไทย โดยเน้นจำหน่ายสินค้าให้แก่ผู้ค้าปลีกรายย่อยแบบดั้งเดิม, ผู้จัดจำหน่าย, และผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหาร ฟิทช์มองว่า SCGP มีสถานะทางธุรกิจที่เหนือกว่า MAKRO โดยเฉพาะในด้านการกระจายความเสี่ยงของกลุ่มลูกค้าและทางภูมิศาสตร์ แม้ว่า MAKRO จะเผชิญการแข่งขันในประเทศที่น้อยกว่า แต่ต้องเผชิญความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของลูกค้าและที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ที่มากกว่า อย่างไรก็ตาม SCGP มีอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า MAKRO ทำให้ทั้งสองบริษัทมีอันดับเครดิตอยู่ในระดับเดียวกัน

SCCC เป็นผู้ผลิตปูนซีเมนต์รายใหญ่อันดับสองของประเทศไทย โดยมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่อ่อนไหวต่อวัฏจักรขาลงทางเศรษฐกิจมากกว่า SCGP เนื่องจาก SCCC มีธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ SCGP มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์และกลุ่มธุรกิจของลูกค้าที่หลากหลายกว่า รวมถึงความต้องการซื้อจากลูกค้าที่มีความสม่ำเสมอมากกว่า ส่งผลให้ SCGP สามารถรองรับอัตราส่วนหนี้สินที่สูงกว่า SCCC ได้ในอันดับเครดิตระดับเดียวกัน

สมมุติฐานที่สำคัญของฟิทช์ที่ใช้ในการประมาณการ

– รายได้รวมเติบโตในอัตราร้อยละ 3 ในปี 2563 เป็นผลมาจากการรวมผลการดำเนินการเต็มปีของ Fajar ที่เข้าซื้อในปีก่อนหน้า ในขณะที่รายได้จากธุรกิจเดิมของ SCGP ลดลงในอัตราร้อยละ 5-7 รายได้มีเติบโตในอัตราที่ดีขึ้นที่ประมาณร้อยละ 10 ในปี 2564 โดยได้รับการสนับสนุนจากการฟื้นตัวของความต้องการซื้อสินค้า การขยายกำลังการผลิต และรายได้ที่เพิ่มขึ้นจากกิจการที่มีการเข้าซื้อในช่วงที่ผ่านมา

  • EBITDA Margin อยู่ที่ระดับร้อยละ 18 ในปี 2563-2565 (เก้าเดือนแรกของปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 18.4 และปี 2562 อยู่ที่ร้อยละ 16.7)
  • ค่าใช้จ่ายเพื่อการลงทุน ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท ในช่วงปี 2563-2565
  • อัตราการจ่ายเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ (Dividend Payout) ที่ระดับร้อยละ 25-35 ในปี 2563-2565

ปัจจัยที่อาจมีผลกับอันดับเครดิตในอนาคต

ปัจจัยบวก: – การปรับเพิ่มอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCC หากความสัมพันธ์ระหว่าง SCGP และ SCC ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง
ปัจจัยลบ: – การปรับลดอันดับเครดิตภายในประเทศของ SCC
– ความสัมพันธ์ระหว่าง SCGP และ SCC ที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับสถานะเครดิตโดยลำพังของ SCGP

ปัจจัยบวก: – ฟิทช์ไม่คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มอันดับเครดิต เว้นแต่ SCGP จะมีสถานะทางธุรกิจที่ดีขึ้นอย่างนัยสำคัญ โดยมีขนาดทางธุรกิจที่ใหญ่ขึ้น โดยวัดจาก EBITDA มีการกระจายความเสี่ยงทางภูมิศาสตร์ที่ดีขึ้นและมีประเภทสินค้าที่หลากหลายขึ้น
ปัจจัยลบ: – FFO net leverage อยู่ในระดับสูงกว่า 3.5 เท่า อย่างต่อเนื่อง

สภาพคล่องเพียงพอ: SCGP มีหนี้สินที่ครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้านับถึงสิ้นเดือนกันยายน 2564 จำนวน 4.4 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วยเงินกู้ยืมระยะสั้นสำหรับใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ระยะยาวที่ครบกำหนดชำระประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท สภาพคล่องของ SCGP ได้รับการสนับสนุนจาก กระแสเงินสดจากการดำเนินงานประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาทต่อปี เงินที่ได้รับจาก IPO และความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ผ่านสินเชื่อจากสถาบันการเงินในประเทศ

อันดับเครดิตที่เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตอื่น

  • อันดับเครดิตของ SCGP เกี่ยวโยงกับอันดับเครดิตของ SCC

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ม.ค. 64)

Tags: , , , ,
Back to Top