นายสุกิจ อุดมศิริกุล กรรมการผู้จัดการ สายงานวิจัย บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 64 มีแนวโน้มสดใสกว่าปี 63 จากความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจที่ลดลง เนื่องจากอยู่ในช่วงของผลการดำเนินงานที่ฟื้นตัวต่อเนื่องถึงปี 65 โดยเฉพาะธุรกิจที่ขึ้นกับวัฏจักรเศรษฐกิจ (พลังงาน ปิโตรเคมี ธนาคาร การบริโภค และ การท่องเที่ยว เป็นต้น) โดยคาดการณ์กำไรของบริษัทจดทะเบียนจะฟื้นตัว 40% YoY ในปี 64 และ 19% YoY ในปี 65
อย่างไรก็ตาม ความผันผวนจะยังอยู่จากระดับราคาหุ้นที่ปรับตัวขึ้นเร็วและความเสี่ยงภายนอกที่สูงขึ้น ประเมินระดับเหมาะสมของ SET Index ปี 2564 อยู่ที่ 1,450-1,500 จุด อ้างอิงจากปัจจัยพื้นฐาน โดยคาดว่า SET Index ในบางช่วงเวลามีโอกาสแกว่งตัวขึ้นไปเกินกว่าระดับดังกล่าว 5-10% จากปัจจัยหนุนของสภาพคล่องในตลาดการเงินที่สูง เงินทุนต่างประเทศที่กลับเข้ามาลงทุน และความคาดหวังต่อการฟื้นตัวของผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องถึงปี 65
นายสุกิจ กล่าวว่า ปี 64 เป็นปีของความคาดหวังการฟื้นตัวของธุรกิจและเศรษฐกิจจากโควิด-19 หลังจากเริ่มมีการแจกจ่ายวัคซีน แต่อย่างไรก็ตามการฉีดวัคซีนในวงกว้างอาจจะทำได้ไม่เร็ว ดังนั้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปและยังไม่กลับไปเป็นปกติดังเช่นก่อนเกิดโควิด-19 ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะมีการฟื้นตัวหลากหลายรูปแบบ ซึ่งเศรษฐกิจจีนและสหรัฐจะมีการฟื้นตัวเร็ว ส่วนยุโรป ญี่ปุ่น และไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วแต่จะฟื้นตัวช้าเนื่องจากต้องพึ่งพาความต้องการจากต่างประเทศและการท่องเที่ยวสูง นอกจากนั้นนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะเป็นอีกปัจจัยที่สนับสนุนการฟื้นตัว
ด้านเศรษฐกิจไทยปี 64 คาดการณ์ว่าจะเติบโต 3% YoY โดยมีแรงขับเคลื่อนหลักจากการบริโภคภายในประเทศและการส่งออกเป็นสำคัญ หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปีที่ผ่านมา ได้เห็นการปรับตัวของหลายๆ อุตสาหกรรมในประเทศไทยและมองว่าอุตสาหกรรมที่จะเห็นการฟื้นตัวอย่างโดดเด่นในปีนี้ คือ กลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี, ประกัน, อาหาร, บรรจุภัณฑ์, การแพทย์ และขนส่งทางบก
สำหรับกลุ่มโรงแรมและสายการบินอาจจะเห็นการฟื้นตัวอย่างโดดเด่นเช่นกัน แต่ยังมองว่าผลประกอบการน่าจะยังขาดทุนต่อเนื่องจากปีก่อน แต่การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในปัจจุบัน เชื่อว่าทุกภาคส่วนมีความพร้อมในการรับมือมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ภาคการท่องเที่ยวยังคงได้รับผลกระทบมากทำให้คาดว่าการฟื้นตัวจะเริ่มเห็นในไตรมาส 4/64 เป็นต้นไป
กลยุทธ์การลงทุนไตรมาสแรกปี 64 เน้นเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่มวัฏจักรเศรษฐกิจมากขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ รวมถึง ซื้อสะสมหุ้นที่เกี่ยวข้องกับเทรนด์ในอนาคต ได้แก่ พลังงานสะอาด การดูแลสุขภาพ และ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี หุ้นแนะนำ ได้แก่
BDMS : Healthcare เทรนด์นี้ไม่มี Out : บริษัทรุกตลาดผู้ป่วยมีประกันช่วยหนุนกำไรยั่งยืน ขณะที่คาดผลการดำเนินงานผ่านจุดต่ำสุดแล้ว โดยปี 2564 คาดกำไรปกติจะพลิกเติบโต 29%YoY ส่วนปัจจัยที่ติดตาม คือ การฟื้นตัวของผู้ป่วยต่างชาติจากมาตรการล็อคดาวน์ การแข่งขันในกลุ่ม รพ. เอกชนระดับบน และ มาตรการภาครัฐ เช่น การคุมราคายาและค่ารักษา
EA : New S-Curve จากธุรกิจแบตเตอรี่ : ในอีก 3-5 ปีข้างหน้างบลงทุนส่วนใหญ่จะอยู่ที่ธุรกิจแบตเตอรี่ ซึ่งมองว่าเป็นธุรกิจพลังงานใหม่และสะอาดที่มีศักยภาพเติบโตสูงในอนาคต ส่วนปัจจัยที่ติดตามคือ การลงทุนขนาดใหญ่ในโรงงานแบตเตอรี่เฟสที่ 2 การส่งมอบรถยนต์ไฟฟ้าคาดว่าจะเกิดขึ้นใน 2H64 และการประมูลรถโดยสารประจำทางจำนวน 3,000 คัน ใน 1Q64
MINT : ปรับตัวเร็วในภาวะวิกฤติ : คาดว่าผลการดำเนินงานจะฟื้นตัวเด่นหลังสถานการณ์ COVID-19 ดีขึ้น อีกทั้งบริษัทยังปรับตัวได้เร็วทั้งการเพิ่มทุนและออก Perpetual Debenture ปีก่อนเพื่อเพิ่มสภาพคล่องและการคุมค่าใช้จ่ายอย่างเข้มข้น ปัจจัยที่ติดตามคือ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศ การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรงอาจจะกระทบต่อศักยภาพทำกำไรของโรงแรมและการแข็งของค่าเงินบาท
SCGP : ผู้นำธุรกิจบรรจุภัณฑ์ในอาเซียน : กำไรปกติคาดเติบโตแกร่งเฉลี่ยปีละ 16% ในปี 2562-2565 จากกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น อัตรากำไรที่สูงขึ้น และดอกเบี้ยจ่ายที่ลดลงหลังจากชำระคืนหนี้ ส่วนปัจจัยที่ติดตามคือ การแข่งขันในอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และทิศทางต้นทุนวัตถุดิบเศษกระดาษรีไซเคิล (RCP)
SPALI : หุ้นที่อยู่อาศัยที่ไม่ควรมองข้าม : ปี 2564 คาดมีกำไรสุทธิ 5.1 พันลบ. เติบโต 29% YoY สูงสุดของกลุ่ม ขณะที่ผลตอบแทนจากเงินปันผลน่าสนใจราวปีละ 6% ส่วนปัจจัยที่ติดตามคือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการตอบรับของ Presales ในโครงการใหม่ ความเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อและ Rejection Rate
IIG : ผู้นำในยุค Digital Transformation : อยู่ในอุตสาหกรรมที่เติบโตชัดเจน โดยเฉพาะการทำ CRM (60% ของรายได้) จากระบบซอฟต์แวร์ของ Salesforce ซึ่งมีการเติบโตในระดับ 25-30% ต่อปี ส่วนปัจจัยที่ติดตามคือ กระแสตอบรับของธุรกิจใหม่ที่เป็น Recurring Income ทั้งหมด ข้อสรุปของงานที่อยู่ใน Pipeline ว่าเซ็นต์สัญญาได้เร็วแค่ไหน
IP : โภชนบำบัดเทรนด์นี้จะมาแรง : เป็นผู้นำธุรกิจโภชนบำบัดซึ่งมีโอกาสเติบโตในระยะยาวจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและพฤติกรรมผู้บริโภคที่ดูแลสุขภาพมากขึ้น โดยปี 2564 คาดกำไรโตเด่นกว่า 50%YoY ปัจจัยที่ติดตามคือ สินค้าใหม่ออกได้ตามแผนที่กำหนดหรือไม่ การแข่งขันที่สูงในธุรกิจสุขภาพและกระแสความนิยมในสินค้าที่อาจเปลี่ยนแปลง และการจับมือกับพันธมิตรเพื่อทำธุรกิจใหม่ๆ
THREL : กำไรฟื้นตัวแรง : ปี 2564 คาดกำไรพลิกฟื้นโต 90% จากการหายไปของการตั้งสำรองพิเศษและค่าสินไหมทดแทนจากสัญญาที่ได้ยกเลิกไป รวมทั้งการคุมคุณภาพช่วยลด loss ratio จากผลิตภัณฑ์ประกันสุขภาพ ส่วนการฟื้นตัวของตลาดทุนและผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลคาดหนุน ROI ฟื้นตัว ปัจจัยที่ติดตาม คือ กำลังซื้อฟื้นตัวช้ากว่าคาด Combined Ratio ผันผวนตาม Loss Ratio และ ROI ผันผวนตามตลาดทุนและผลตอบแทนพันธบัตร
TNP : Local Modern Trade เติบโตในรูปแบบที่แตกต่าง : เป็นหุ้นค้าปลีกไม่กี่บริษัทที่ปี 2564 คาดกำไรโตต่อในระดับสองหลัก คือ 13.5% จากปี 2563 ที่คาดโตเด่นแล้ว 44.4%YoY จากการรับรู้ยอดขายสาขาใหม่ 4-5 แห่ง ปัจจัยที่ติดตามคือ กำลังซื้อฟื้นตัวช้ากว่าคาด และการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่
WICE : ธุรกิจ Logistic ในเอเชียยังเติบโตได้ดี : กำไรอยู่ในทิศทางขาขึ้น โดยปี 2564 คาดกำไรโต 13.8% จากปี 2563 ที่คาดโตเด่นเกือบ 2 เท่า แรงหนุนจากการฟื้นตัวของปริมาณขนส่งชิ้นส่วนยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ บวกกับ ดีมานต์ขนส่งสินค้าข้ามแดนยังเพิ่มขึ้นในตลาดจีนและอาเซียน ปัจจัยที่ติดตามคือ ความตึงเครียดระหว่างจีนและสหรัฐฯ การขยายตัวของเศรษฐกิจ และการแข่งขันที่สูงขึ้นในธุรกิจ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 ม.ค. 64)
Tags: BDMS, EA, IIG, IP, MINT, SCBS, SCGP, SPALI, THREL, TNP, WICE, บล.ไทยพาณิชย์, สุกิจ อุดมศิริกุล