นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยกับ”อินโฟเควสท์”ว่า จากสถานการณ์การระบาดโควิด-19 รอบใหม่ตั้งแต่เดือน ธ.ค.63 เป็นต้นมา ส่งผลให้จำนวนผู้โดยสารในประเทศเดือน ธ.ค.63 มาอยู่ที่ 3.4 ล้านคน/เดือน ลดลง 29% จากเดือนเดียวกันของปีก่อน และลดลงจากเดือน พ.ย.63 ที่มีจำนวนผู้โดยสาร 3.8 ล้านคน/เดือน หรือ 1.2 แสนคน/วัน ซึ่งเป็นช่วงพีคที่ถือว่าเป็นการฟื้นตัวสมบูรณ์ แต่เมื่อเทียบกับเดือน พ.ย.ปีก่อนลดลงมา 19.4%
แต่เมื่อมีการระบาดมากขึ้นในเดือน ม.ค. 64 พบว่าในช่วง 1-10 ม.ค.64 ผู้โดยสารหดตัวลงเหลือ 2.6 หมื่น/วัน ลดลง 84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน คาดว่าจะเห็นผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญในช่วงปลายเดือนนี้ เนื่องจากขณะนี้ตัวเลขยังไม่นิ่ง
นายนิตินัย คาดว่าผลประกอบการในงวดปี 64 (ต.ค.63-ก.ย.64) จะมีผลขาดทุนจำนวนมาก ต่างจากปี 63 ที่ยังมีกำไรอยู่บ้างเพราะในช่วง 4 เดือนแรกของงวด (ต.ค.62- ม.ค.63) ยังไม่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด แต่ในงวดปี 64 แม้จะกลับมาทำการการบินในประเทศได้แต่ก็ยังมีรายได้น้อย และยิ่งมีการระบาดในประเทศอีกรอบก็ทำให้รายได้น้อยลงอีก
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังคงคาดว่าการบินต่างประเทศจะกลับมาได้ในเดือน ต.ค.64 ซึ่งจะเริ่มในงวดปี 65 (ต.ค.64-ก.ย.65) แต่เชื่อว่าคงยังทำการบินได้ไม่สมบูรณ์นัก เพราะถึงแม้จะมีวัคซีนต้านโควิด-19 แล้วแต่คงยังฉีดได้ไม่ครบทั้งหมด โดยจะมีการจัดตารางการบิน (Slot) ใหม่ในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.นี้
“บินได้ในเดือน ต.ค. ฟื้นแบบทุลักทุเล คาดว่าฟื้นไม่เต็มที่ต่อให้มีวัคซีนก็คาดว่าจะฉีดไม่หมด ก็ยังคาดเดาว่าฟื้นไม่สมบรูณ์ ดังนั้นคาดในไตรมาส 4/64 (ปีปฏิทิน) กลับมาบินได้บางส่วน รอชาร์เตอร์ไฟลท์ ซึ่งไม่รู้ถึงตอนนั้นสายการบินจะถูกยึดเครื่องบิน ถูกฟ้องล้มละลาย รอดู Slot ในพ.ค.ก็จะมีตัวเลขชัดเจน ความหวังถัดไปคือชาร์เตอร์ไฟลท์”
กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ AOT กล่าว
อย่างไรก็ตาม นายนิตินัย กล่าวว่า สถานะการเงินของ AOT ปัจจุบันยังมีสภาพคล่องหรือเงินสดในมือราว 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการดำเนินงานในงวดปี 64 โดยปกติบริษัทจะมีเงินสดจาก EBITDA ราว 3-4 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ขณะนี้รายได้เข้ามาน้อยมากจากสถานการณ์โควิด และยังไม่รู้ว่าในปี 65-66 จะต้องหาเงินกู้มาเพื่อเพิ่มสภาพคล่องหรือไม่ โดยบริษัทยังมีความสามารถกู้ได้ เพราะอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำมากที่ 0.3-0.4 เท่า
“ปีนี้ไม่กู้แน่นอน ส่วนปี 65 ขอรอดู 2 เดือนก่อน”นายนิตินัย กล่าว
ขณะเดียวกันบริษัทเตรียมใช้ลงทุนโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือ (North Expansion) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มูลค่าลงทุน 4.2 หมื่นล้านบาท อาจจะจัดหาเงินกู้ หรือ ออกหุ้นกู้ โดยขณะนี้บริษัทรอการปรับประมาณการตัวเลขผู้โดยสารใหม่หลังสถานการณ์โควิด-19 จากสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) และนำไปให้สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดจะได้รับข้อมูล 2-3 เดือนซึ่งบริษัทจะยื่นตัวเลขดังกล่าวต่อ สศช.เพื่อนำไปประกอบการพิจารณาโครงการส่วนต่อขยายด้านทิศเหนือฯ
ทั้งนี้ บริษัทประเมินว่าปลายปี 65 หรือต้นปี 66 การบินจะกลับมาฟื้นสมบูรณ์ สนามบินสุวรรณภูมิจะกลับมาสภาพรองรับผู้โดยสารเกินกว่าขีดความสามารถ (Over Capacity) ที่ทำให้คุณภาพการให้บริการไม่ดี มีสภาพแออัดภายในสนามบิน ขณะที่โครงการนี้ล่าช้ากว่าแผนไป 2 ปีแล้ว หากเริ่มก่อสร้างกลางปี 64 โครงการจะแล้วเสร็จในปี 68
ส่วนโครงการพัฒนาขยายท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 นายนิตินัย คาดว่า รายงานการประเมินสิ่งแวดล้อม (EIA) น่าจะผ่านไปได้ในเดือน ก.พ.-มี.ค.64 และคาดว่าจะสามารถเปิดประมูลโครงการนี้ได้ภายในปีนี้
นายนิตินัย ยังกล่าวว่า บริษัทเร่งจัดตั้งบริษัทย่อยเพื่อดำเนินธุรกิจการให้บริการภาคพื้นดิน และ ธุรกิจขนส่งสินค้าทางอากาศ (CARGO) จากที่คณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติแล้ว โดยหากมีทุนจดทะเบียนมากว่า 5 พันล้านบาทก็ต้องจัดตั้งผ่านพ.ร.บ.ร่วมทุนฯและเสนอต่อกระทรวงคมนาคม ทั้งนี้เพื่อรองรับหากแผนฟื้นฟูของบมจ.การบินไทย (THAI) ไม่ผ่าน AOT ในฐานะผู้บริหารสนามบิน ก็ต้องจัดให้มีการบริการภาคพื้นดินและคาร์โก้ทดแทนการบินไทย อย่างไรก็ตามระหว่างนี้รอดูแผนฟื้นฟูของการบินไทยก่อน
โดยที่ผ่านมาการให้บริการภาคพื้นดิน มี 2 รายเข้ามาดำเนินการคือ การบินไทย และ บริษัท บริการภาคพื้นการบินกรุงเทพเวิลด์ไวด์ไฟล์ทเซอร์วิส จำกัด (BFS Ground) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.การบินกรุงเทพ (BA) ส่วนธุรกิจคาร์โก้ ก็จะมี การบินไทย และบริษัท ดับบลิวเอฟเอสพีจี คาร์โก้ จำกัด (WFS-PG-Cargo) ซึ่งเป็นบริษัย่อยของ BA เช่นกัน
นอกจากนี้ ในระหว่างนี้ บริษัทได้เร่งหารายได้อื่น (Non-Aero) เข้ามา ได้แก่ Airport City ซึ่งอยู่ระหว่างรอกรมธนารักษ์แก้ไขข้อตกลงการใช้ที่ราชพัสดุ จากเดิมที่จะสิ้นสุดในปี 75 ขอขยายไปถึงปี 95 ส่วนที่ดินแปลงถนนวัดศรีวารีน้อยใกล้สนามบินสุวรรณภูมิ 723 ไร่ ก็รอทางจังหวัดออกประกาศเกณฑ์การใช้พื้นที่ใหม่ ซึ่งเป็นกระบวนการทางเอกสารที่ดิน ก็เห็นว่าควรรอพร้อมกันจะเริ่มดำเนินการ และยังมีการจัดตั้งบริษัทที่จะดำเนินการศูนย์ตรวจสอบและรับรองสินค้าก่อนขนส่งทางอากาศ หรือ Certified Hub
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ม.ค. 64)
Tags: AOT, ท่าอากาศยาน, ท่าอากาศยานไทย, นิตินัย ศิริสมรรถการ, ผู้โดยสาร, สนามบิน