นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงถึงกรณีการติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนในการตรวจสอบ ติดตาม ดูแล เมื่อมีการเดินทางไปยังที่ต่าง ๆ ว่า หากไม่มีการดาวน์โหลดติดตั้งแอปพลิเคชัน ไม่มีความผิด แต่อาจเกิดความยากลำบากในการตรวจสอบประวัติเดินทาง รวมทั้งยังจะไม่มีการละเมิดข้อมูลสิทธิส่วนบุคคลเนื่องจากกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมจะมีการลบข้อมูลภายในระยะเวลาที่กำหนดด้วย
ทั้งนี้ การใช้เทคโนโลยีแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ทำให้ปัจจุบันการติดตาม Timeline การเดินทางของผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ดังนั้น จึงอยากให้ประชาชนดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” เพื่อจะได้รับข้อมูลโดยตรงหากเดินทางไปยังพื้นที่เสี่ยง
นายอนุชา กล่าวว่า หากไม่สะดวกที่จะติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ก็สามารถจดบันทึกหรือชี้แจงแผนการเดินทางต่อเจ้าหน้าที่ตามด่านตรวจคัดกรองได้ อย่างไรก็ตาม หากพบว่ามีการปิดบังข้อมูลโดยเจตนาหรือหลีกเลี่ยงในการชี้แจงข้อเท็จจริงที่อาจก่อให้เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 จะถือว่าเป็นความผิด
“ถ้าไม่มีแอปพลิเคชั่นหมอชนะอาจต้องใช้เวลาตรวจสอบประวัติเดินทาง หรือไทม์ไลน์ของท่านมากขึ้นกว่าเดิม ถ้าพบว่า พยายามปกปิดหรือหลีกเลี่ยงให้ข้อมูลข้อเท็จจริง อันนั้นเป็นความผิดที่เกิดขึ้น เพราะว่า เราอยู่ในช่วง พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่ท่านระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดการแพร่ระบาดจากตัวท่านเอง”
นายอนุชา กล่าว
ส่วนมาตรการควบคุมการเดินทางเข้า-ออกระหว่างพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดและพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 5 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี และตราด จะต้องแสดงหลักฐานการได้รับอนุญาตการเดินทางข้ามจังหวัดจากเจ้าหน้าที่ในท้องที่ภูมิลำเนาของผู้เดินทาง
นายอนุชา กล่าวว่า สามารถขอหลักฐานใบอนุญาตการเดินทางได้จากพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องหรือเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองในพื้นที่ตนเอง เช่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งไม่จำเป็นที่จะต้องเดินไปทางไปอำเภอหรือศาลากลางจังหวัด ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนให้มากยิ่งขึ้น สำหรับพื้นที่อื่น ๆ คณะกรรมการโรคติดต่อประจำจังหวัดสามารถพิจารณากำหนดมาตรการเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม ทั้งนี้ ขอความร่วมมือให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการเดินทางข้ามจังหวัดหากไม่มีเหตุจำเป็น รวมทั้งขอความร่วมมือให้มีการ Work From Home ทั้งในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนด้วย
สำหรับความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนของรัฐบาล นายอนุชา ยืนยันว่า รัฐบาลจะได้วัคซีนล็อตแรกจากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ในเดือนกุมภาพันธ์ ซึ่งทุกคนจะได้รับวัคซีนคนละ 2 เข็ม โดยเมื่อฉีดเข็มแรก อีก 4 สัปดาห์จึงจะได้รับเพิ่มอีก 1 เข็ม ขณะเดียวกัน จะมีวัคซีนอีก 26 ล้านโดสที่บริษัท เอสตร้าเซนเนก้า ผลิตร่วมกับบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ อีก 26 ล้านโดส จะได้ในเดือนพฤษภาคม รวมถึงรัฐบาลสั่งวัคซีนเพิ่มจากบริษัท เอสตร้าเซ้นก้า อีก 35 ล้านโดส โดยตลอดปี 2564 นี้ แผนการฉีดวัคซีนจะเป็นไปตามที่ตั้งเป้าไว้
ส่วนการเยียวยาผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาจัดทำมาตรการเพื่อให้ผู้ได้รับผลกระทบโควิด-19 ได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม โดยภาครัฐมีแหล่งเงิน ทั้งส่วนงบประมาณปี 2564 งบกลางสำรองจ่ายในการบรรเทาปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาด โดยขณะนี้มีเงินคงเหลือ 1.39 แสนล้านบาท ขณะที่เงินกู้เหลือ 4.7 แสนล้านบาท งบลงทุนรัฐวิสาหกิจ 2.9 แสนล้านบาท และยืนยันว่ามีงบประมาณในการที่จะเยียวยาประชาชนอย่างเพียงพอ
ส่วนมาตรการจ่ายเงินเยียวยาโควิดในโครงการ”เราไม่ทิ้งกัน” รอบ 2 หรือไม่ ทางกระทรวงคลังอยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมกับสำนักงบประมาณ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก่อนนำสู่ที่ประชุมประชุมศูนย์บริการสถานการณ์เศรษฐกิจจากผลกระทบของการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบศ.) ซึ่งในขณะนี้ยังไม่กำหนดว่าจะมีการประชุมเมื่อใด
ด้านนพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุว่า “ขออภัยครับ หากทำให้เข้าใจผิดว่าไม่มีแอปถึงติดคุก..ในข้อความเต็มคือหากท่านติดเชื้อ และปิดบังข้อมูล..รวมถึงไม่พบแอปหมอชนะมีความผิดตามข้อกำหนดครับ”
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, Timeline, ซิโนแวค ไบโอเทค, ตรวจคัดกรอง, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, วัคซีน, วัคซีนต้านโควิด-19, หมอชนะ, อนุชา บูรพชัยศรี, แอปพลิเคชัน, โควิด-19