นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินว่า จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ในประเทศ ซึ่งมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น โดยการระบาดขยายวงกว้างไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ จนทำให้รัฐบาลต้องประกาศมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นขึ้นนั้น อาจส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปีนี้เติบโตเหลือ 2.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.8%
“จากเดิมที่เราเคยคาดการณ์ไว้เมื่อเดือนธ.ค. ว่า GDP ปีนี้ (2564) จะโตได้ 2.8% นั้น มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้น้อยลง และยากขึ้น เราคาดว่า GDP จะลดลงไป 0.6% จากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดจากปัญหาโควิดระบาด”
นายธนวรรธน์ ระบุ
พร้อมระบุว่า สถานการณ์โควิดไม่ได้มีผลกระทบแค่เพียงการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ แต่กระทบถึงภาคการผลิต และภาคการส่งออก รวมทั้งภาคการท่องเที่ยว ซึ่ง ม.หอการค้าไทย ประเมินว่าสถานการณ์ไม่ควรยืดเยื้อนานเกิน 3 เดือน ซึ่งรัฐบาลมีความจำเป็นต้องอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจในไตรมาสแรกปีนี้อย่างน้อย 2 แสนล้านบาทขึ้นไป รวมทั้งต้องมีมาตรการเพื่อช่วยลดค่าครองชีพของประชาชนควบคู่ไปกับกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน ซึ่งเห็นว่าแนวทางที่ดีที่สุดคือ “มาตรการคนละครึ่ง” เพราะช่วยให้มีเม็ดเงินเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้อีกอย่างน้อย 2-3 เท่าตัว
“การใช้เงิน 2-3 แสนล้านบาทเป็นการช่วยพยุงเศรษฐกิจไม่ให้ทรุด แต่ถ้าจะกระตุ้นเศรษฐกิจต้องใช้เงิน 4-6 แสนล้านบาท ซึ่งอาจไม่จำเป็นต้องกู้เพิ่ม แต่ใช้งบขาดดุลงบประมาณที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด หากกระตุ้นเศรษฐกิจได้เร็ว การจัดเก็บรายได้จะเข้ามาตามแผน”
นายธนวรรธน์ กล่าว
อย่างไรก็ดี ยังมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะติดลบหนักได้หากคุมสถานการณ์การระบาดไว้ไม่อยู่ และทำให้รัฐบาลจำเป็นต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้นขึ้น (ฮาร์ด ล็อกดาวน์) ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น คาดว่าเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1/64 มีโอกาสจะหดตัวมากถึง -11.3% แต่ปัจจุบัน ยังมองว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 1 นี้ อาจจะหดตัว -4% และหากสถานการณ์การระบาดสามารถคลี่คลายได้ภายในไตรมาส 1 ก็มีโอกาสที่ GDP ไตรมาส 2 จะพลิกกลับมาขยายตัวได้ 8-10% ซึ่งเป็นผลจากฐานที่ต่ำในปีก่อนด้วย
“ดังนั้น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐ จึงจำเป็นอย่างมากในการพยุงเศรษฐกิจไตรมาสที่ 1 กระตุ้นเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 และสร้างโมเมนตัมในไตรมาส 3-4 ซึ่งต้องขึ้นกับสถานการณ์ควบคุมโควิด และประสิทธิภาพของการฉีดวัคซีน”
นายธนวรรธน์ กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบจากโควิด จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเห็นประชาชนอาจต้องไปกู้หนี้ยืมสินเพิ่มขึ้น ซึ่งมีโอกาสจะทำให้หนี้ครัวเรือนในปีนี้ทะลุระดับ 90% สูงสุดเป็นประวัติการณ์ได้ในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ ถ้าไม่สามารถควบคุมการระบาดได้จนทำให้รัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มข้น
ด้านนายวิเชียร แก้วสมบัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจไทยจากการยกระดับมาตรการใน 28 จังหวัดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดว่า มาตรการที่รัฐบาลนำมาออกมาใช้ควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ประเทศรอบนี้ เหมือนเป็น “ซอฟท์ ล็อกดาวน์” เพราะมาตรการที่บังคับใช้ในบางพื้นที่ยังมีความยืดหยุ่นกับกิจการ/กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันไปตามระดับความรุนแรงของสถานการณ์ ซึ่งแตกต่างจากการล็อกดาวน์ในช่วงเม.ย.-พ.ค.63 ที่มีการประกาศเคอร์ฟิวทั่วประเทศ และจำกัดการเดินทางเข้า-ออกประเทศ จนทำให้ทุกกิจการ/กิจกรรมเศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนัก
ทั้งนี้ ม.หอการค้าไทย ได้ประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจไว้ใน 3 กรณี ดังนี้
- กรณีฐาน (คุมสถานการณ์ได้ภายใน 1 เดือน ใช้ซอฟท์ ล็อกดาวน์) คาด GDP ปี 64 จะโตได้ 2.2% อัตราการว่างานอยู่ที่ 1.71% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 85% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 1-2 แสนล้านบาท
- กรณีที่แย่กว่า (คุมได้ภายใน 2 เดือน ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน+ฮาร์ด ล็อกดาวน์ 1 เดือน) คาด GDP ปี 64 จะโตได้ 0.9% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.76% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 86.1% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 2-4 แสนล้านบาท
- กรณีแย่ที่สุด (คุมได้ภายใน 3 เดือน ใช้ซอฟต์ ล็อกดาวน์ 1 เดือน-ฮาร์ด ล็อกดาวน์ 2 เดือน) คาด GDP ปี 64 จะหดตัว -0.3% อัตราการว่างงานอยู่ที่ 1.81% หนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ที่ 87.2% ความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 3-6 แสนล้านบาท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ม.ค. 64)
Tags: GDP, ธนวรรธน์ พลวิชัย, มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ, เศรษฐกิจไทย