นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน แถลงผลการสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) ในปี 64 นี้ว่าเป้าหมายดัชนี ณ วันสิ้นปี 64 มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 1,559 จุด ซึ่งสูงกว่าระดับดัชนี ณ วันสิ้นปี 63 ซึ่งอยู่ที่ 1,449 และมีจุดต่ำสุดของดัชนีราคาหุ้นไทยระหว่างปี มีค่าเฉลี่ยจุดต่ำสุด ที่ 1,338 จุด
สำหรับจุดสูงสุดของ SET Index ระหว่างปี 64 เฉลี่ยที่ระดับ 1,631 จุด ทั้งนี้มีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 53.33 ที่คาดว่าดัชนีจะทำจุดสูงสุด 1,501 – 1,600 จุด และมีผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 40 ที่คาดว่าจุดสูงสุดจะอยู่ในช่วง 1,601 – 1,700 ตามลำดับ
พร้อมทั้งคาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ของตลาดเฉลี่ยที่ 77.46 บาท บนสมมติฐาน ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ปี 64 นั้นผู้ตอบทุกรายมองว่าเป็นบวก มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.74% ส่วนสมมติฐานราคาน้ำมัน มีค่าเฉลี่ยของผู้ตอบแบบสอบถามที่ 49.70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล
นายสมบัติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยจากนี้จะไม่ปรับขึ้นไปได้ไม่มากนัก เนื่องจากดัชนีปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 63 ซึ่งปรับตัวขึ้นก่อนที่จะมีวัคซีนโควิด-19 หรือว่าก่อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะปรับตัวเป็นบวกได้อย่างแท้จริงคือช่วงไตรมาส 2/64 เป็นต้นไป
“ปีนี้ด้วยการฟื้นตัวของกำไรต่อหุ้นของบริษัทโดยเฉลี่ย และอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่คาดว่าจะมีการปรับตัวลดลงอีกราว 0.25% รวมไปถึงทิศทางเงินทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามายังตลาดหุ้นไทย ที่เคยออกจากประเทศไทยไปจำนวนมากโดยจะเห็นว่าไหลกลับเข้ามาตั้งแต่ช่วงปลายปี 63 และมองว่าในปี 64 เงินจะไหลกลับมา”
นายสมบัติ กล่าว
สำหรับปัจจัยที่มีผลบวกต่อดัชนีราคาหุ้นไทยในปี 64 ได้แก่ มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ของประเทศสำคัญทั่วโลก ผู้ตอบแบบสำรวจ 95.65% เทคะแนนให้อย่างชัดเจนว่าเป็นผลบวก รองลงมาผู้ตอบ 91.30% คาดว่าเงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทย และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน 78.26% ตามลำดับ
ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลในด้านลบ ได้แก่ แนวโน้มสถานการณ์โควิด-19 คิดเป็น 78.26% รองลงมา คือปัจจัยทางด้านการเมืองในประเทศ 73.91% และเศรษฐกิจภายในประเทศ 52.17% ตามลำดับ
IAA ระบุอีกว่า เป็นที่น่าสังเกตุว่าภาวะเศรษฐกิจในประเทศนั้นผู้โหวตมีความเห็นต่างพอสมควร โดยมีผู้โหวต 52.17% ที่มองว่าเป็นปัจจัยลบ แต่มีผู้ตอบ 39.13% ที่มองแย้งว่าจะเป็นผลบวก
สมาคมนักวิเคราะห์ฯ ได้สอบถามความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนเกี่ยวกับ ข้อเสนอแนะว่าภาครัฐควรเร่งนโยบายเรื่องใดที่มีผลบวกต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่เสนอให้ภาครัฐใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งในระยะสั้นและระยะยาว จำนวน 47.62% ของผู้ตอบ ได้แก่ กระตุ้นการใช้จ่ายภาคประชาชน และกระตุ้นการบริโภคผ่านโครงการช้อปช่วยชาติ ฯลฯ ทั้งนี้มีผู้ตอบ 28.57% ที่เสนอให้เร่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศเพื่อกระตุ้นการจ้างงาน
นอกเหนือจากข้อเสนอดังกล่าว ด้านการช่วยเหลือภาคธุรกิจ มีผู้ตอบ 23.81% ข้อเสนอได้แก่ มาตรการช่วยเหลือ SME ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้หรือการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
โดยมีหุ้นที่นักวิเคราห์แนะนำตรงกัน 4 สำนักขึ้นไปดังนี้
1. ADVANC โดยมีปัจจัยสนับสนุนจาก 3 ปัจจัยบวกหุ้นในกลุ่มสื่อสาร คือ การประกาศขอความร่วมมือให้ทั้ง หน่วยงานราชการ และ บริษัทเอกชน เริ่มทำงานที่บ้าน (WFH) เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รอบใหม่ของภาครัฐ จะส่งผลดีต่อปริมาณการใช้งาน Data ที่สูงขึ้น, ADVANC ให้ผลตอบแทนเงินปันผล ที่ประมาณ 4.11% ประกอบกับราคามีการปรับตัวลงมาทรงตัวในระดับที่น่าสนใจ และ เม็ดเงินลงทุนต่างชาติ Fund Flow มีโอกาสกลับเข้ามาลงทุนในประเทศไทย ซึ่ง ADVANC เป็นหุ้นแข็งแกร่ง มีกระแสเงินสดที่ดี น่าจะเป็นหุ้นที่นักลงทุนต่างชาติให้ความสนใจ
2. BDMS ประเด็นสนับสนุน จากเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในไทย คาดกำไรมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 2/63 ที่เป็นจุดต่ำ ด้วยการควบคุมค่าใช้จ่าย เพิ่มสัดส่วนคนไข้ประกัน และประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
3. CPALL ปัจจัยสนับสนุน จากมาตรการภาครัฐยังมีต่อเนื่อง หนุนเม็ดเงินและกำลังซื้อของลูกค้า คาดได้ประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อม
4. KBANK โดยมองว่าปัจจัยหนุน จากส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสูง มีการบริหารจัดการและควบคุมความเสี่ยงที่ดี และเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติ
5. PTTGC โดยคาดว่าได้ประโยชน์จากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังมีวัคซีน และมีความได้เปรียบด้านต้นทุนจากการใช้ก๊าซเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิต
ส่วนหุ้นที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อาทิ โรงแรมและสายการบิน นอกจากนั้นยังให้หลีกเลี่ยงหุ้นบางรายที่วิ่งขึ้นมากว่า 1,000% เนื่องจากราคาเกินมูลค่าปัจจัยพื้นฐานไปมาก
อนึ่ง การสำรวจความเห็นของนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีราคาหุ้นไทย (SET Index) มีผู้ตอบแบบสำรวจทั้งหมด 23 บริษัท แบ่งเป็นบริษัทหลักทรัพย์จำนวน 18 บริษัท บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจำนวน 3 บริษัท และบริษัทโกลด์ ฟิวส์เจอร์ส 1 บริษัท
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 64)
Tags: ADVANC, BDMS, CPALL, EPS, IAA, KBANK, PTTGC, SET Index, ตลาดหุ้นไทย, สมบัติ นราวุฒิชัย, สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน, หุ้นกลุ่มท่องเที่ยว, หุ้นสายการบิน, หุ้นไทย