นายยรรยง ไทยเจริญ รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุด กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) กล่าวในการนำเสนอผลสำรวจและบทวิเคราะห์ EYES ON CHINA INFLOW TO THAILAND: Insights and Opportunities for Investment after Covid-19 ว่า แม้วิกฤตโควิด-19 จะทำให้การลงทุนโดยตรงระหว่างประเทศ (FDI) ของโลก รวมถึงไทยชะลอตัวลง แต่เชื่อว่าหลังจากสถานการณ์คลี่คลายลงประเทศไทยจะยังคงเป็นจุดหมายของการลงทุนที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของนักลงทุนต่างชาติ
รวมทั้งนักลงทุนชาวจีน ซึ่งมียอดรวมของมูลค่าการยื่นขอส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) มากเป็นอันดับที่ 2 ในช่วงปี 60-62 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการย้ายฐานการผลิตจากจีนอันเป็นผลจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ และจากกลยุทธ์การกระจายความเสี่ยงจากการพึ่งพิงแหล่งผลิตจากจีนเพียงแหล่งเดียว หรือที่เรียกว่า China plus one
รวมไปถึงปัจจัยสนับสนุนพื้นฐานของประเทศไทย ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ตั้งของประเทศที่อยู่ในศูนย์กลางของอาเซียน โครงสร้างพื้นฐานที่มีการพัฒนาต่อเนื่อง นโยบายส่งเสริมการลงทุนทั้งด้านมาตรการภาษีและมาตรการอำนวยความสะดวกต่างๆ และการผลักดันการเจรจาทางการค้าระหว่างประเทศของรัฐบาลไทย เช่น การลงนามความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภูมิภาค (Regional Comprehensive Partnership Agreement: RCEP) ที่เกิดขึ้นล่าสุด โดยมีเป้าหมายในการลดกำแพงภาษีทางการค้าและเปิดตลาดผู้บริโภคระหว่างประเทศสมาชิก RCEP กว่า 2.3 พันล้านคนซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งเสริมให้ประเทศไทยจะสามารถดึงดูดบริษัทจีนเข้ามาลงทุนได้มากขึ้นในอนาคต
สำหรับภาพรวมของ FDI ของโลกในปี 64 แม้จะยังหดตัวอยู่ แต่มีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้นจากปี 63 ที่หดตัวลงไปราว 20-30% จากภาพรวมของเศรษฐกิจโลกในปี 64 ที่มองว่าจะขยายตัวราว 5.4% จากปีก่อนที่หดตัว 4.1% แต่การลงทุนจะยังไม่เห็นภาพการฟื้นกลับมาอย่างรวดเร็วมากนัก เพราะปัจจุบันสถานการณ์โควิด-19 ในหลายประเทศยังมีการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้จะเริ่มมีการเริ่มฉีดวัคซีนไปแล้วก็ตาม
ประกอบกับ ยังไม่เห็นสัญญาณการกลับมาฟื้นตัวของภาคธุรกิจที่ชัดเจน ทำให้ผู้ประกอบการต่างยังคงชะลอแผนการลงทุนใหม่ๆออกไป และยังมีความไม่แน่นอนจากการกีดกันทางการค้าหลังจากประธานาธิบดีสหรัฐฯคนใหม่เข้ารับตำแหน่ง ทำให้นักลงทุนต้องการรอดูความชัดเจนก่อน
นายยรรยง กล่าวว่า ภูมิภาคที่แนวโน้มของ FDI หดตัวน้อยที่สุดยังคงเป็นภูมิภาคเอเชีย โดยปีก่อนหดตัวไปเพียง 12% และมองว่าหากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ กลับมาชัดเจนมากขึ้น และแนวโน้มโน้มเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัวชัดเจน ภูมิภาคเอเชียจะมี FDI เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากศักยภาพของตลาดที่ยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก โดยเฉพาะในประเทศเกิดใหม่ ซึ่งทำให้นักลงทุนหลายรายมองเห็นถึงโอกาสในการเข้ามาลงทุนหลังจากวิกฤตโควิด-19 ผ่านพ้นไปแล้ว
นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานการเงิน SCB กล่าวว่า แนวโน้มของนักลงทุนชาวจีนยังมีความสนใจขยายการลงทุนมายังประเทศไทยภายในระยะเวลา 1-2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังไม่เคยลงทุนหรือทำธุรกิจในประเทศไทยมาก่อน โดยมองประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ และมีความพร้อมในโครงสร้างพื้นฐาน อีกทั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่จะสามารถก้าวเป็นศูนย์กลางของอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงสู่ตลาดประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างกว้างขวาง แตกต่างจากมุมมองในอดีตที่มองว่าประเทศไทยเป็นเพียงฐานการผลิตเพื่อส่งออกเท่านั้น
ด้านรูปแบบการลงทุนของนักลงทุนจีนในประเทศไทยจะมีการเปลี่ยนไปจากเดิมที่มุ่งเน้นการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนสูง เช่น อุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์ และแผงพลังงานแสงอาทิตย์ มาสู่การลงทุนขนาดเล็กลง ส่วนหนึ่งมาจากกลุ่มนักลงทุนจีนรายใหม่ที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยเป็นกลุ่มเอสเอ็มอี และรูปแบบการเข้ามาลงทุนจะเน้นใช้ไทยเป็นฐานต่อยอดกระจายสินค้าและบริการในภูมิภาคมากขึ้น
อีกทั้ง เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนจีนจากนี้ส่วนใหญ่น่าจะมีมูลค่าต่ำกว่า 500 ล้านบาทสำหรับการลงทุนโครงการในช่วง 1-2 ปีจากนี้ แตกต่างจากโครงสร้างและขนาดของการลงทุนในอดีตที่ใช้เม็ดเงินลงทุนมากกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งวงเงินลงทุนที่ต่ำกว่า 500 ล้านบาทเป็นการลงทุนเพื่อต่อยอดห่วงโซ่อุปทานของสายการผลิตให้กับอุตสาหกรรมหลัก (Supply Chain Integration) ใช้เงินลงทุนในช่วงแรกน้อยลงเพื่อเรียนรู้ตลาดก่อนจะขยายธุรกิจในอนาคตตามโอกาสและทิศทางการเติบโต โดยภาคธุรกิจบริการและเทคโนโลยี เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายของนักธุรกิจจีนที่มีแนวโน้มจะขยายการลงทุนในประเทศไทยต่อไป
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการเข้ามาของนักลงทุนจีนก่อให้เกิดการจ้างงาน การถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ที่สร้างคุณค่าต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ แต่ในอีกทางหนึ่งถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทยในการเผชิญกับคู่แข่งที่มีความได้เปรียบทั้งด้านต้นทุนที่ต่ำกว่า และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า รวมถึงประสบการณ์จากตลาดที่มีการแข่งขันสูงในประเทศจีน ซึ่งนักลงทุนจีนรายใหม่ที่จะเข้ามาค่อนข้างมีความกล้าเสี่ยงในการลงทุนมากขึ้น และมาพร้อมกับความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี ที่ล้ำหน้าไปกว่าผู้ประกอบการไทย
ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจะต้องเตรียมพร้อมธุรกิจเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่เข้มข้นมากขึ้น โดยยกระดับกระบวนการผลิตสินค้าด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ตลอดจนมองหาโอกาสในการร่วมเป็นคู่ค้ากับนักลงทุนจีนเพื่อต่อยอดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งผู้ประกอบการไทยมีความได้เปรียบในเรื่องความเข้าใจตลาดผู้บริโภคไทย กฎหมายและข้อบังคับต่างๆในประเทศไทย รวมถึงความสามารถจัดหาวัตถุดิบ โดยทักษะทางด้านภาษาจีน ความเข้ารู้ความเข้าใจในวัฒนธรรมจีนจะเป็นสิ่งที่ช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและแรงงานไทยสามารถคว้าโอกาสจากการเข้ามาของนักลงทุนได้อย่างเต็มศักยภาพมากยิ่งขึ้น
“ความสนใจของนักลงทุนจีนที่เข้ามาก็เป็นโอกาสของผู้ประกอบการไทยด้วยเช่นกัน ทำให้เรามีโอกาสมองหาพันธมิตรธุกิจที่จะเข้ามาช่วยเสริมศักยภาพให้กับผู้ประกอบการไทย โดยรูปแบบการลงทุนอาจจะเป็นการร่วมทุนทำธุรกิจกัน ทั้งที่เป็นธุรกิจใหม่และธุรกิจเดิม ซึ่งนักลงทุนจีนหน้าใหม่ที่จะเข้ามาส่วนใหญ่จะค่อนข้าง Agressive กล้าลงทุน และเขามาพร้อมความกับความรู้และเทคโนโลยี ทีพร้อมลงทุนทันที หรือในอีกด้านก็เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการไทยจะได้ขยายฐานลูกค้าในการจัดหาวัตถุดิบได้มากขึ้น ช่วยให้ผู้ประกอบการไทยสามารถต่อยอดธุรกิจไปได้”
นายมาณพ กล่าว
โดยในส่วนของ SCB พร้อมจะเป็นฟันเฟืองเล็กๆ ช่วยสนับสนุนให้การขยายธุรกิจของทั้งสองประเทศเดินหน้าต่อไปอย่างแข็งแกร่ง ด้วยศักยภาพเครือข่ายสาขาต่างประเทศของธนาคารทั่วภูมิภาค โดยเฉพาะ สาขาเซี่ยงไฮ้ สาขาฮ่องกง และสำนักงานผู้แทนกรุงปักกิ่ง ตลอดจนทีมงานที่เข้าใจบริบทของจีนและไทยอย่างลึกซึ้ง พร้อมให้คำปรึกษาและมอบบริการทางการเงินครบวงจรที่สามารถช่วยสนับสนุนให้แผนการลงทุนขยายธุรกิจประสบความสำเร็จ
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ม.ค. 64)
Tags: SCB, การลงทุน, ธนาคารไทยพาณิชย์, นักลงทุนต่างชาติ, มาณพ เสงี่ยมบุตร, ยรรยง ไทยเจริญ