- ศบค.สรุปยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในไทย วันนี้ (11.30 น.)
- ผู้ติดเชื้อสะสม 9,331 คน (+365)
- เป็นผู้ติดเชื้อในประเทศ = 250 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว = 99 ราย
- เป็นผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศอยู่ในสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (State Quarantine) = 16 ราย
- รักษาหายแล้ว 4,418 คน (+21)
- เสียชีวิตสะสม 66 คน (+1)
ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศวันนี้ว่า พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 365 ราย ประกอบด้วย ผู้ติดเชื้อในประเทศ 250 ราย แรงงานต่างด้าวโดยคัดกรองเชิงรุก 99 ราย ส่วนผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศเข้าสถานกักกันที่รัฐจัดให้ (Quarantine Facilities) 16 ราย
สำหรับจำนวนผู้ป่วยยืนยันสะสมในประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 9,331 ราย แบ่งเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อภายในประเทศ 4,674 ราย และกลุ่มแรงงานต่างด้าว 2,575 ราย ส่วนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ 2,082 ราย โดยมีผู้ป่วยรักษาหายแล้ว 4,418 ราย เพิ่มขึ้น 21 ราย ขณะที่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย
“ผู้เสียชีวิตรายใหม่ เป็นชายไทย อายุ 63 ปี อาชีพขับรถรับ-ส่งแรงงานต่างด้าว ใน จ.สมุทรสาคร มีโรคประจำตัว โดยเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. ป่วย มีไข้ ไอ จึงเข้าไปรักษาที่โรงพยาบาลใน จ.สมุทรสาคร ต่อมาพบว่าระดับออกซิเจนในเลือดต่ำเหลือเพียง 76% เมื่อ x-ray พบว่าปอดอักเสบ จึงทำการตรวจโควิด ผลตรวจพบเชื้อ หลังจากนั้นผู้ป่วยมีอาการหอบเหนื่อยมาก ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ และเข้า ICU ในวันที่ 31 ธ.ค. แต่อาการไม่ดีขึ้น มีภาวะไตวาย ต้องฟอกเลือดทุกวัน พอวันที่ 5 ม.ค. ระบบหัวใจล้มเหลว อวัยวะภายในหลายส่วนล้มเหลว และเสียชีวิต”
นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค.กล่าว
อย่างไรก็ดี ขณะนี้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศ ยังคงอยู่ที่ 56 จังหวัดเท่าเดิม
นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า ในที่ประชุมคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กระทรวงสาธารณสุข ที่มีปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน ได้มีการพิจารณาและวิเคราะห์ข้อมูลการระบาดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ตั้งแต่ที่พบการติดเชื้อโควิดในกลุ่มแรงงานต่างด้าวตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค.63 จนถึงวันที่ 4 ม.ค.64 พบว่าผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่จะอยู่ในวันทำงาน ช่วงอายุระหว่าง 20-30 ปี โดย จ.สมุทรสาคร มีการทำอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป และมีการใช้แรงงานต่างด้าวเป็นจำนวนมาก รวมทั้งเป็นที่ตั้งของโรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก โดยโรงงานที่มีแรงงานตั้งแต่ 1-200 คน มีถึง 11,302 แห่ง ขณะที่โรงงานที่มีแรงงานตั้งแต่ 500-5,000 คน มีมากกว่า 100 แห่ง
ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุข จะต้องเข้าไปดูแลและควบคุมเพื่อป้องกันไม่ให้โรงงานเหล่านี้ กลายเป็นแหล่งแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดจนที่พักอาศัยของแรงงานต่างด้าว ตลาดสดในพื้นที่อื่นๆ ที่ต้องมีการสอบสวนโรค นอกเหนือไปจากตลาดกลางกุ้งที่เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดใน จ.สมุทรสาครด้วย
“เป็นเป้าหมายที่นำมาสู่การวางแผนการตรวจหาเชื้อในเชิงรุก ซึ่งร่วมกันทำงานระหว่างกระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค เขตสุขภาพที่ 5 ได้ร่วมวางแผนกับสาธารณสุขจังหวัด…เรื่องนี้เราต้องช่วยกัน และทำให้ได้ เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างได้ผล”
โฆษก ศบค.ระบุ
นพ.ทวีศิลป์ กล่าวถึงความแตกต่างของมาตรการระหว่าง “พื้นที่ควบคุมสูงสุด” กับ “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” นั้น คือ การเข้มงวดในการเคลื่อนย้ายคน ดังนั้น สิ่งที่ต้องจัดการ คือ ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ได้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดปิดสถานที่ที่จะเป็นแหล่งแพร่กระจายเชื้อโรค เช่น บ่อนพนัน ร้านอาหาร สถาบันเทิง ร้านคาราโอเกะ ตามพื้นที่ที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่ได้เป็นการล็อกดาวน์ หรือประกาศใช้เคอร์ฟิว และไม่ได้มีการปิดการเดินทางเข้า-ออก ซึ่งจะมีอยู่ทั้งหมด 23 จังหวัด ใน 28 จังหวัดที่ประกาศเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุด” ส่วนอีก 5 จังหวัด จะจัดให้เป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” คือ สมุทรสาคร ระยอง ชลบุรี จันทบุรี และตราด
โดยใน 23+5 จังหวัด เมื่อต้องเดินทางเข้า-ออกพื้นที่ผ่านด่านตรวจคัดกรอง จะต้องปฏิบัติตามมาตรการ คือ 1.รับการตรวจวัดอุณหภูมิและสังเกตอาการ 2.ตรวจว่ามีการใช้แอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” หรือไม่ เพื่อให้สามารถติดตามตัวได้ 3. ต้องแจ้งเหตุผลและความจำเป็นในการเดินทาง แต่หากเป็น 5 จังหวัด ที่ถูกระบุว่าเป็น “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” จะมีการเพิ่มเติมคือ ต้องแสดงหลักฐานในการได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ก่อน ถึงจะเดินทางเข้า-ออกได้
“เมื่อไรก็ตาม ที่คนใน 5 จังหวัดนี้จะเดินทาง จะต้องได้รับการแสดงหลักฐานที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ ต้องมีเอกสารการเดินทางได้ นี่คือความยุ่งยากที่เพิ่มขึ้น เป็นมาตรการที่ภาครัฐต้องการจะออกมา เพื่อให้คนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบน้อย คนที่จำเป็นต้องเดินทาง ขนส่งสินค้าถ้าโชว์เอกสารก็ได้ผ่านอยู่แล้ว พ่อค้าแม่ค้าก็ต้องไปแจ้งกับระดับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต.ให้ทราบ เราต้องใช้มาตรการนี้เข้มขึ้นจากเบาไปหาหนัก นี่คือสิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนกับ 5 จังหวัด…เดิมเป็นการควบคุมสูงสุด แต่เราใส่ดีกรีเข้มงวดเข้าไป กรณีพื้นที่ควบคุมสูงสุดก็มีความเข้มในระดับหนึ่งอยู่แล้ว ที่ไม่ต้องการให้คนเดินทางไปมา แต่ถ้าเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ต้องมีหนังสือได้รับอนุญาตก่อน”
นพ.ทวีศิลป์กล่าว
พร้อมย้ำว่า หากใครที่ไม่มีความจำเป็นเร่งด่วนจะต้องเดินทางก็ขอให้ชะลอออกไปก่อนจนถึง 1 ก.พ.64 เพื่อลดโอกาสในการเกิดโรค แต่หากตัวเลขผู้ติดเชื้อยังเพิ่มขึ้นสูง ก็อาจจะไม่ต้องรอจนถึงวันที่ 1 ก.พ.64 อย่างที่นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค.เคยกล่าวไว้แล้วว่าต้องดูสถานการณ์เป็นรายวัน ถ้าสถานการณ์ยังไม่ดีก็อาจต้องมีมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นกว่านี้
สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (6 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน, ศบค., ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, โควิด-19