น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ออกมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม กรณีอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ในระดับราคาที่ไม่สูงมากนักและมีความสามารถในการผ่อนชำระได้
โดยการลดภาระให้กับผู้ซื้อที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น กลุ่มคนวัยทำงาน กลุ่มผู้สูงอายุ ประกอบด้วย 2 มาตรการคือ
- ลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนโอนอสังหาริมทรัพย์และห้องชุด จากเดิม 2% ของราคาประเมินทุนทรัพย์เหลือ 0.01% และ
- ลดค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดจากเดิม 1% ของมูลค่าที่จำนอง เหลือ 0.01% โดยมีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี ตั้งแต่ 24 มิ.ย.62 – 23 มิ.ย.63 นั้น
กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้รายงานต่อที่ประชุม ครม.ว่า การดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าธรรมเนียมฯ สามารถช่วยลดภาระและเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง และช่วยให้เข้าถึงกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย 111,635 ราย สูงกว่าเป้าหมาย 91.35% จากที่กำหนดไว้ 58,340 ราย
แม้การดำเนินมาตรการดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อรายได้การจัดเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ลดลง 1,512.367 ล้าน ต่ำกว่าเป้าหมาย 11.04% จากที่คาดการณ์ไว้ 1,700 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม มาตรการทางสังคมนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการลดปัญหาความเหลื่อมล้ำการมีที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยถึงปานกลาง และเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะทำให้ อปท. มีรายได้จากภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และภาษีสรรพสามิต ชดเชยกับรายได้ที่สูญเสียไป
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (5 ม.ค. 64)
Tags: กู้บ้าน, ค่าธรรมเนียมจำนอง, ค่าธรรมเนียมโอน, ที่อยู่อาศัย, รัชดา ธนาดิเรก, อสังหาริมทรัพย์