ร.ต.อ.พงศกร ขวัญเมือง โฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร ถึงมาตรการเพิ่มเติมควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) ว่า ได้กำหนดแนวทางสำหรับร้านอาหารทุกประเภทจะต้องให้บริการกลับบ้าน (Take Away) ตั้งแต่เวลา 19.00-06.00 น.
ส่วนช่วงเวลาอื่นจะต้องมีมาตรการป้องกันที่เคร่งครัด เช่น การคัดกรองอุณหภูมิ การเว้นระยะห่าง 1.5 เมตร เป็นต้น และห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในร้าน เพื่อลดระยะเวลาในการนั่งรับประทานอาหารและการรวมกลุ่ม โดยจะมีผลตั้งแต่วันพรุ่งนี้ (5 ม.ค.) เวลา 06.00 น.ในทุกพื้นที่
“ทางวิชาการระบุว่าการนั่งรับประทานอาหารนานกว่า 5 นาทีมีโอกาสแพร่ระบาดได้ แต่ช่วงเวลา 19.00-06.00 น.คนจะนานกว่าช่วงเวลาอื่น”
ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ทั้งนี้ โฆษก กทม.กล่าวย้ำว่า หากร้านอาหารฝ่าฝืนคำสั่งมีโทษจำคุก 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ ซึ่งคาดว่าจะได้รับความร่วมมือจากทุกคนเป็นอย่างดี เพื่อลดการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด
“มาตรการ Take Away หากมีการระบาดในวงกว้างก็จะมีมาตรการที่เข้มขึ้น จะรอดูว่ามีการระบาดเพิ่มขึ้นหรือไม่”
ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
ส่วนการเดินทางข้ามจังหวัดนั้น ขณะนี้ทาง กทม.ยังไม่มีการบังคับกักตัว แต่เป็นการขอความร่วมมือสำหรับผู้ที่เดินทางมาจากจังหวัดเสี่ยง ซึ่งจะมีการประกาศรายชื่อในวันนี้ เช่น ชลบุรี, ระยอง, จันทบุรี เป็นต้น โดยผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงให้กักตัวและสังเกตุอาการ
นอกจากนี้ กรณีสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) จับกุมชาวโรฮิงญาลักลอบเข้าเมืองได้ 14 คนนั้น ขณะนี้ กทม.ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อด้วยวิธีสวอปแล้ว คาดว่าจะรู้ผลครบทั้งหมดภายใน 1-2 วัน
โฆษก กทม. กล่าวว่า เนื่องจาก กทม.เป็น 1 ใน 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด จึงได้มีมาตรการเพิ่มเติมอีก 2 เรื่อง ขณะเดียวกันได้ดำเนินมาตรการคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เสี่ยง เช่น ไซด์งานก่อสร้าง ตลาด เกือบ 3 พันราย พบผู้ป่วยติดเชื้อราว 10 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ทำงานในโรงงานและตลาด โดยวันนี้พบผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่ม 28 ราย โดย 27 ราย เป็นคนใน กทม. ส่วนอีก 1 รายอยู่ระหว่างรอสอบสวนโรคว่าอยู่ใน กทม.หรือไม่ โดยตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค.63 จนถึงวันที่ 4 ม.ค.64 รวมเป็น 229 ราย ผู้เสียชีวิต 1 ราย
“เราอยู่ตรงกลางพื้นที่สีแดงทั้งหมด ทำให้การควบคุมทำได้น้อยลง”
ร.ต.อ.พงศกร กล่าว
สำหรับการจัดงานบวช-แต่งงานนั้นจะต้องมีมาตรการควบคุมจำนวนคนที่มาร่วมงาน มาตรการคัดกรอง และต้องยื่นขออนุญาตก่อน
ส่วนมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจะมีการหารือในที่ประชุม ศบค.ในช่วงบ่ายวันนี้ ขณะที่การจัดหาโรงพยาบาลสนามนั้นจะเป็นการใช้พื้นที่โรงแรมของเอกชน ซึ่งยังอยู่ระหว่างการเจรจา ส่วนการกวาดล้างบ่อนในพื้นที่ กทม.นั้นได้ประสานกับทางตำรวจแล้ว นอกจากนี้ กทม.ยังขยายเวลาปิดสถานศึกษาออกไปจนถึงวันที่ 31 ม.ค.64
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (04 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, พงศกร ขวัญเมือง, ร้านอาหาร, โควิด-19