รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ขณะนี้ประเทศไทยถือว่าเกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 หนักมาก ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องยอมรับความจริงว่าสาเหตุหลักของการระบาดซ้ำครั้งนี้เกิดจากเรากันเอง ได้แก่
- คนไทยที่ลักลอบกลับเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
- คนที่อำนวยความสะดวกให้คนต่างด้าวลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย
- นายจ้างที่รับคนต่างด้าวผิดกฎหมายเข้ามาทำงานโดยไม่ผ่านระบบการกักตัวและตรวจโรคโควิด-19 ตามที่ทางการกำหนด
- เจ้าของธุรกิจที่ค้าขายโดยไม่ป้องกันตัว ทำให้แพร่สู่คนอื่นในสังคม
- นักพนันมากมายที่ไม่มีสำนึกรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม
- นักเที่ยวสถานบันเทิง รวมถึงคนทำงานในพื้นที่เสี่ยง สถานที่เสี่ยง หรือมีกิจกรรมเสี่ยง
- เจ้าหน้าที่หน่วยงานรัฐและนักการเมืองที่คุมอำนาจนโยบายที่สร้างมายาคติ ทำให้คนในสังคมเข้าใจว่าเอาอยู่ โรคธรรมดา โรคกระจอก ระบบติดตามเจ๋งระดับโลก ทั้งๆ ที่หากพิจารณาตามข้อมูลที่เห็นจากการระบาดซ้ำของทั่วโลก โอกาสเอาอยู่นั้นน้อยมาก
ทั้งเจ็ดเรื่องดังกล่าว จึงอธิบายปรากฏการณ์ที่เราเห็นในปัจจุบัน การวิเคราะห์ตรงๆ เช่นนี้จะช่วยให้เราได้เรียนรู้ ระมัดระวัง ไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต หากว่ากันตามข้อมูลที่มีอยู่ โอกาสที่เราจะสะบักสะบอมกว่าเดิมมีสูงเกือบ 90% ในขณะที่โอกาสที่เจ็บตัวน้อยกว่าหรือพอๆ กับครั้งแรกนั้นมีน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นศูนย์
รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า หนทางสู้นั้นสกัดจากบทเรียนทั่วโลกมีกุญแจเพียง 3 ดอกคือ รัฐต้องประกาศมาตรการเข้มข้นเคร่งครัดอย่างทันเวลา (ไม่เกิน 4 สัปดาห์หลังจากเริ่มระบาดซ้ำ), ประชาชนต้องสู้ยิบตา ช่วยกันป้องกันตัวอย่างเต็มที่และพร้อมเพรียง, และระบบการตรวจโควิดนั้นต้องตรวจให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อหาคนติดเชื้อทั้งจากกลุ่มเสี่ยง พื้นที่เสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง รวมถึงประชาชนทั่วไปในทุกพื้นที่ที่มีเคส ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่มีก็ตาม
“ขอให้ทราบไว้ว่า สิ่งที่เรากำลังจะเผชิญนี้มีโอกาสสูงมากที่จะแรงกว่าเดิม นานกว่าเดิม…อาจติดเชื้อสูงถึง 940 คนต่อวันหรือ 5 เท่าของระลอกแรก และต้องสู้นาน 88 วันหรือ 2 เท่าของระลอกแรก นั่นคือการคาดประมาณ อาจมากหรือน้อยกว่านั้นได้ ถ้าเราไม่ช่วยกันอย่างพร้อมเพรียงก็จะเจ็บหนักขึ้น นานขึ้น แต่หากสู้กันยิบตา แม้โอกาสจะน้อย ก็ยังมีโอกาสที่จะเบาลง และสั้นลงได้บ้าง”
รศ.นพ.ธีระ กล่าว
ทั้งนี้ จุดเวลาที่จะประเมินคือ กลางเดือน ม.ค.นี้ และปลายเดือน มี.ค.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (4 ม.ค. 64)
Tags: COVID-19, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธีระ วรธนารัตน์, โควิด-19