นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้รับรายงานผลการวิจัยตลาดขนมขบเคี้ยวและของทานเล่นจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ นครชิคาโก สหรัฐฯ ที่ทำการศึกษาวิจัยโดยบริษัท Global Market Insights Inc.
ซึ่งเป็นบริษัทวิจัยและที่ปรึกษาด้านการตลาดในสหรัฐฯ พบว่าตลาดสินค้าของทานเล่นที่ทำด้วยผลไม้ (Fruit Snacks) ในตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ จะมีมูลค่าถึง 18,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2569 และอัตราการเติบโตต่อปีร้อยละ 3.6 ในช่วงระหว่างปี 2563-2569 จึงเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของทานเล่นที่ทำด้วยผลไม้ของไทย เพราะเป็นประเทศที่ผลิตผลไม้เมืองร้อนที่สำคัญของโลก หากวางแผนการผลิตได้ตรงตามความต้องการของตลาด ก็จะทำให้ไทยมีโอกาสส่งออกผลไม้แปรรูปไปยังตลาดสหรัฐฯ ได้เพิ่มขึ้น
สำหรับสินค้าที่ผู้บริโภคนิยมรับประทาน จะเน้นของทานเล่นชนิดที่ทำจากผลไม้ชนิดที่มีไฟเบอร์สูง ให้แคลอรี่ต่ำ มีปริมาณน้ำตาลน้อย ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน ความดัน และโรคหัวใจ และคาดว่าความนิยมจะขยายตัวไปจนถึงปี 2569 ส่วนผลิตภัณฑ์ของทานเล่นที่ทำด้วยผลไม้ ที่จำหน่ายในตลาดภูมิภาคอเมริกาเหนือ มีหลายรูปแบบ แยกออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ
- ชนิดดัดแปลง เปลี่ยนโฉม เช่น ผลไม้ที่นำไปแปรรูปเป็นเกลียว (Fruit Twists) , ผลไม้ที่นำไปแปรรูปเป็นแผ่น (Hot Extruded Fruit Strips) , ผลไม้ที่แปรรูปเป็นเจลลี่ (Fruit Straws) , ผลไม้แปรรูปเป็นชิ้น (Fruit Bits) , ผลไม้รูปร่างต่างๆ (Fruit Shapes) , แซนวิชผลไม้ (Fruit Sandwiches) , ผลไม้ให้พลังงาน (Cold Pressed Bars) , ผลไม้อบแห้ง (Freeze Dried)
- กลุ่มของทานเล่นชนิดคงรูปแบบตระกูลผลไม้ เช่น แอปเปิ้ล มะม่วง กล้วย แพร์ สับปะรด แบรี่ สตอเบอร์รี่ บลูแบรี่ แรสแบรี่ สับปะรด มะม่วง หรือ กล้วย เป็นต้น
น.ส.อุษาศรี เขียวระยับ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ ชิคาโก สหรัฐฯ กล่าวว่า ปัจจุบันผู้บริโภคใส่ใจสุขภาพ มีความต้องการอาหารที่ดีกว่าหรืออาหารที่ให้คุณประโยชน์ต่อสุขภาพ และให้ความสนใจสินค้าในกลุ่มผลไม้ซึ่งให้ไฟเบอร์ โดยมีกลุ่มผู้บริโภคมิลเลนเนียลเป็นกำลังขับเคลื่อนตลาดสินค้าของทานเล่นทำจากผลไม้ ประกอบกับวิถีชีวิตที่วุ่นวายของผู้บริโภคและเปลี่ยนไปในปัจจุบัน และด้วยเหตุผลการบริโภคเพื่อสุขภาพ ผู้บริโภคจะเลี่ยงอาหารมื้อหลัก และหันมาทานของทานเล่นที่มีประโยชน์แทน จึงเป็นการผลักดันเพิ่มความต้องบริโภคสินค้าชนิดนี้มากขึ้น ทำให้ยอดขายสินค้าเพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว
สำหรับการนำเข้าสินค้าผลไม้แห้งมาจำหน่ายในสหรัฐฯ มีทั้งแบบเป็น Bulk และเป็นแบบ Retail Pack โดยสหรัฐฯ นำเข้าผลไม้แห้งทั้งสองแบบจากทั่วโลกในปี 2562 เป็นมูลค่า 2,075.08 ล้านเหรียญสหรัฐ มีแหล่งนำเข้าสำคัญ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บราซิล อินเดีย และไทย โดยสหรัฐฯ นำเข้าจากไทยเป็นมูลค่า 36.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 11.85 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.77 สินค้าสำคัญของไทย ได้แก่ สับปะรดอบแห้ง มะละกอตากแห้ง มะพร้าวเกล็ด มะม่วงตากแห้ง ฝรั่งตากแห้ง มะขามแห้ง เป็นต้น
ส่วนช่องทางการจำหน่าย มีซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านชำ ร้านขายของเฉพาะ ร้านค้าแบบเป็นสมาชิก ปั้มน้ำมัน ร้านจำหน่าย สินค้าเพื่อสุขภาพ เป็นช่องทางหลัก แต่ช่องทางการจำหน่ายทางออนไลน์ มีการขยายตัวเร็วที่สุด คาดว่าจะขยายตัวมากกว่าร้อยละ 4.6 จนถึงปี 2569 ซึ่งจะเห็นได้จากการที่ผู้ผลิตรายสำคัญ ได้มีการร่วมมือกับแพลตฟอร์มออนไลน์ในการจัดจำหน่ายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ มีประเด็นที่จะต้องพิจารณา ได้แก่ ภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ เพราะเป็นอุปสรรคของการขยายตลาดผลไม้แห้งที่สำคัญของไทยในสหรัฐฯ ได้แก่ สับปะรดตากแห้ง ฝรั่งตากแห้ง มะละกอตากแห้ง มะขามแห้ง ส่วนเนื้อมะพร้าวแห้งเป็นสินค้าไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า เป็นต้น , การนำเสนอของทานเล่นทำด้วยผลไม้ชนิดดัดแปลง ผนวกกับใช้ผลไม้ที่เป็นที่คุ้นเคยของผู้บริโภคอเมริกัน เช่น สตอร์เบอรี่ แอปเปิ้ล พีช ส้ม เป็นต้น และรวมไปถึงเป็นของทานเล่นชนิดผลไม้เดี่ยวและผลไม้ผสม , ของทานเล่นจากผลไม้ที่ผลิตด้วยกรรมวิธี Vacuum Dried หรือ Sun Dried หรือ Freeze Dried เป็นกลุ่มที่ได้รับความนิยมเนื่องจากสินค้าคงคุณค่าและปราศจากการเติมแต่ง และการขายตลาดสหรัฐฯ ควรพิจารณาการเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่สำคัญ 2 งานของสินค้าของทานเล่นในสหรัฐฯ คือ
- Sweets and Snack Expo 2021 www.sweetsandsnacks.com วันที่ 24-26 มี.ค.2564 ณ เมืองอินเดียน่าโปลิส รัฐอินเดียน่า
- งานแสดงสินค้า Snaxpo 2021 http://www.snaxpo.com วันที่ 22-24 ส.ค.2564 ณ นครชาร์ลอตต์ รัฐนอร์ธแคโรไลน่า
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (3 ม.ค. 64)
Tags: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ, กระทรวงพาณิชย์, ขนมขบเคี้ยว, ผลไม้ไทย, ส่งออก, สมเด็จ สุสมบูรณ์, สหรัฐ, อุษาศรี เขียวระยับ