โบรกเกอร์ฯต่างแนะนำ “ซื้อ” หุ้นธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) จากแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 4/64 ที่คาดว่าสามารถเติบโตได้ดี หลังจากคลาล็อกดาวน์ ทำให้สินเชื่อกลับมาฟื้นตัว โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อธุรกิจ ประกอบกับค่าใช้จ่ายการตั้งสำรองฯที่ลดลง และรายได้จากธุรกิจตลาดทุนที่ยังทำผลงานหนุนให้กับธนาคารได้อย่างมีนัยสำคัญ
สำหรับในปี 65 ยังมองกำไรเติบโตต่อเนื่องจากปีนี้ จากทิศทางของสินเชื่อที่ยังสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และมีการปรับกลยุทธ์เน้นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงเข้ามาเสริมในพอร์ต เพิ่มความสามารถในการทำกำไร แนวโน้มการตั้งสำรองฯที่ลดลง หลังจากที่ในช่วงปี 63-64 ตั้งสำรองฯไปมากแล้ว และในปี 65 คาดว่าธุรกิจตลาดทุนจะยังสร้างรายได้เข้ามาให้กับธนาคารได้อย่างโดเด่น อีกทั้งยังเป็นหุ้นที่ให้เงินปันผลในระดับที่ดี ทำให้ยังมีความน่าสนใจ
ราคาปิดเที่ยงที่ 59.75 บาท ราคาไม่เปลี่ยนแปลง ขณะที่ดัชนี SET +0.22%
โบรกเกอร์ | คำแนะนำ | ราคาเป้าหมาย (บาท/หุ้น) |
---|---|---|
กสิกรไทย | ซื้อ | 78.00 |
แลนด์ แอนด์ เฮาส์ | ซื้อ | 76.00 |
ทิสโก้ | ซื้อ | 74.00 |
หยวนต้า | ซื้อ | 71.50 |
ฟิลลิป | ซื้อ | 69.00 |
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บล.กสิกรไทย กล่าวว่า ทิศทางของเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัวขึ้นหลังจากการคลายล็อกดาวน์ เป็นผลบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของสินเชื่อให้กับ KKP โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ สินเชื่อบ้าน และสินเชื่อธุรกิจที่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ดี ทำให้สินเชื่อของ KKP ในปี 64 มีโอกาสทำได้ตามที่ธนาคารประเมินไว้ที่ขยายตัว 10% และมองแนวโน้มในปี 65 หากไม่มีปัจจัยกดดันจากการแพร่ระบาดโควิด-19 เข้ามากดดันเหมือนกับปีนี้คาดว่าสินเชื่อจะยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง และจากกลยุทธ์ของ KKP ที่จะเน้นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น สินเชื่อไม่มีหลักประกัน เพื่อปรับพอร์ตสินเชื่อให้มีสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้น ทำให้มีความสามารถในการทำกำไรสูงขึ้น
โดยในปี 65 คาดว่ากำไรของ KKP จะเติบโตขึ้นได้ราว 4-5% จากปีนี้ที่คาดว่ากำไรจะอยู่ที่ 5.12 พันล้านบาท อีกทั้งความน่าสนใจของ KKP เป็นเรื่องของความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของลูกหนี้ที่จะมีความกังวลลดลงไปค่อยข้างมาก จากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการบริหารจัดการของธนาคาร และแนวโน้มของรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ยังแข็งแกร่งประกอบกับผลตอบแทนจากเงินปันผลตั้งแต่ปี 65 ที่คาดว่าจะสูงกว่า 7% ต่อปี โดยให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมายที่ 78 บาท/หุ้น
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) กล่าวว่า แนวโน้มในช่วงไตรมาส 4/64 จะเห็นกำไรเติบโตได้ค่อนข้างดีเกือบ 17% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีแรงหนุนมาจากรายได้ดอกเบี้ยที่เข้ามามากขึ้น รวมถึงค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองฯที่ลดลง และรายได้จากธุรกิจตลาดทุนที่สามารถทำผลงานให้กับ KKP ได้ดีอย่างมีนัยสำคัญ
ขณะที่ในปี 65 ประเมินกำไรของ KKP เติบโต 9.1% จากปีนี้ โดยมองว่าแนวโน้มของสินเชื่อยังคาดว่าเติบโตต่อเนื่องจากปี 64 ได้ และการปรับกลยุทธ์ด้านสินเชื่อของ KKP ที่เน้นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนสูงขึ้นจะส่งผลบวกต่อความสมารถในการทำกำไรที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มการตั้งสำรองฯที่คาดว่าจะลดลง หลังจากที่ปี 63-64 ตั้งสำรองฯไปค่อนข้างมากแล้ว อีกทั้งความน่าสนใจในด้านเงินปันผลที่โดเด่นราว 5.6% ทำให้ยังให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 69 บาท/หุ้น
นักวิเคราะห์บล.หยวนต้า กล่าวว่า KKP ยังมีความน่าสนใจในด้านของผลการดำเนินงานที่ยังเห็นการเติบโตขึ้น ทั้งในส่วนของการฟื้นตัวของรายได้จากดอกเบี้ยที่สินเชื่อเริ่มเห็นการกลับมาฟื้นตัวขึ้น หลังจากคลายล็อกดาวน์ ทำให้การปล่อยสินเชื่อกลับมามากขึ้น และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยที่ยังเป็นปัจจัยหนุนที่ดีให้แก่ภาพรวมของผลการดำเนินของ KKP ในช่วงที่ผ่านมาและปีต่อๆไป จากธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ที่มีค่าธรรมเนียมการซื้อขายเข้ามามาก จากวอลลุ่มการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และการบริหารจัดการสินทรัพย์ให้ลูกค้าที่ AUM เพิ่มขึ้นมาแตะระดับ 1 แสนล้านบาท
ขณะที่ในปี 65 คาดว่ามีโอกาสที่จะเห็นกำไรโตได้อย่างก้าวกระโดดจากปีนี้ที่ 5.6 พันล้านบาท มาที่ 6.6 พันล้านบาทในปี 65 โดยที่กลยุทธ์ของ KKP ในปีหน้าเบื้องต้นจะมีการรุกสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนที่สูง ทำให้ธนาคารจะเพิ่มความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้นมา และในส่วนของธุรกิจตลาดทุนยังมองว่าเป็นแรงหนุนต่อเนื่องจากแนวโน้มของการลงทุนของลูกค้า และดีลงาน IB ต่างๆที่จะออกมาหนุนผลการดำเนินงานในปีหน้า และยังเป็นหุ้นที่ให้เงินปันผลที่ดีในระดับ 4-5% โดยให้คำแนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 71.50 บาท/หุ้น
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 64)
Tags: Consensus, KKP, กรกช เสวตร์ครุตมัต, ธนาคารเกียรตินาคินภัทร, หุ้นไทย