นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงกรณีการนับวาระดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี ว่า ขณะนี้นักกฎหมายยังมีการตีความแตกต่างกันไป ซึ่งผู้ที่จะตีความได้แท้จริง คือ ศาลรัฐธรรมนูญ และต้องดูว่ามีประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับไว้วินิจฉัยหรือไม่
ทั้งนี้ จากการประมวลความเห็นของหลายฝ่าย สามารถเริ่มนับได้ 3 แนวทาง คือ 1.นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพราะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเหมือนกัน 2.นับแต่การเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 และ 2. นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เริ่มประกาศบังคับใช้
นายพรเพชร ยังกล่าวถึงการเตรียมพิจารณาร่างกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับว่า คาดว่าที่ประชุมร่วมรัฐสภาจะพิจารณาในวาระแรกเสร็จทันสมัยประชุมรัฐสภาสมัยนี้ ส่วนจะมีการเปิดสมัยประชุมวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างกฎหมายลูกดังกล่าวในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับคณะกรรมาธิการว่าจะพิจารณาเสร็จหรือไม่ ถ้าเสร็จอาจจะมีเสียงเรียกร้องให้เปิดประชุมสมัยวิสามัญ เนื่องจากการปิดสมัยประชุมที่จะมาถึง จะหยุดยาว 2 เดือน ถ้าหยุดเพียง 1 เดือนอาจรอได้
“คำตอบสุดท้าย ต้องมาจากศาลรัฐธรรมนูญ และต้องมาในจังหวะเวลาอันเหมาะสม เพราะหากถามไปตอนนี้ ทางศาลรัฐธรรมนูญคงยังไม่ตอบ” นายวิษณุ กล่าว
นายวิษณุ กล่าวอีกว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องของสภา และความเห็นที่ออกมาจากสภาก็ไม่ใช่ในส่วนของสมาชิกรัฐสภา แต่เป็นความเห็นเฉพาะของฝ่ายกฎหมาย ส่วนจะเป็นแนวทางเดียวกับคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือไม่นั้น ก็ไม่ขอตอบ
ผู้สื่อข่าวถามว่าจำเป็นต้องรอให้ถึงเดือน ส.ค.65 เพื่อส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า การยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ มีเวลาที่เหมาะสมอยู่แล้ว และผู้ที่จะยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความ สามารถเป็นใครก็ได้ ไม่ใช่ ส.ส.เพียงอย่างเดียวเท่านั้น
พร้อมมองว่า ศาลรัฐธรรมนูญจะไม่รับคำวินิจฉัย เนื่องจากปัญหายังไม่เกิด และศาลรัฐธรรมนูญไม่รับคำถามที่เกิดจากการตั้งสมมติฐาน อย่างไรก็ดี นายกรัฐมนตรีไม่เคยปรึกษาเรื่องนี้กับตน ทั้งนี้ นายวิษณุ ยังปฏิเสธจะตอบคำถามว่า หากนายกรัฐมนตรีดำรงตำแหน่งถึงปี 2570 จะอยู่ทำงานกับนายกรัฐมนตรีต่อหรือไม่
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 64)
Tags: คสช., ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พรเพชร วิชิตชลชัย, รัฐสภา, ศาลรัฐธรรมนูญ