แม้ว่า1-2 ปีที่ผ่านมาผลประกอบการของ บมจ.สแกน อินเตอร์ (SCN) จะได้รับผลกระทบจากหลายปัจจัยด้านลบกดดันศักยภาพทำกำไรของกิจการไปบ้าง แต่ด้วยกลยุทธ์การแสวงหาโอกาสสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่จะเติบโตไปพร้อมกับเมกะเทรนด์ นับเป็นอัตราเร่งผลประกอบการหวนพลิกฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ นอกเหนือไปจากธุรกิจหลักผู้ให้บริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) แบบครบวงจรรายใหญ่ของประเทศไทย
SCN อดีตสู่อนาคตผ่านโมเดลผสานธุรกิจ “3+1”
นายฤทธี กิจพิพิธ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCN เปิดเผยกับ “อินโฟเควสท์” แม้บริษัทจะมีความโดดเด่นในธุรกิจผู้ให้บริการก๊าซธรรมชาติ (NGV) แบบครบวงจร แต่ปัจจุบันได้ปรับกลยุทธ์การเติบโตผสมผสานธุรกิจในเครือผ่าน “โมเดล 3+1” ประกอบด้วย 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ อันดับแรก คือ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซ NGV แบบครบวงจรตั้งแต่รับเหมาก่อสร้าง, ผลิตอุปกรณ์ใช้ในสถานีก๊าซ NGV และใช้ในภาคอุตสาหกรรมที่วันนี้บริษัทดำเนินการตามสัญญาสัมปทานการผลิตก๊าซ NGV ให้กับกลุ่ม ปตท. เป็นเวลา 20 ปี ปัจจุบันเข้าสู่ปีที่ 13
ด้านธุรกิจขนส่งก๊าซ NGV ให้กับกลุ่มลูกค้าโรงงานอุตสาหกรรม (iCNG) ล่าสุดปรับโครงสร้างนำธุรกิจด้วยการร่วมทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Shizuoka Gas Company Limited ประเทศญี่ปุ่น หรือ SZG ผู้นำธุรกิจพลังงานรายใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น โดย SZG กระโดดเข้าลงทุนซื้อหุ้นของ บริษัท เครือข่ายก๊าซ ไทย-ญี่ปุ่น จำกัด (TJN) ในเครือ SCN ซึ่งคาดว่าเตรียมลงนามสัญญาอย่างเป็นทางการช่วงปลายปี 64
“ความร่วมมือกับ SZG จะช่วยขยายฐานลูกค้ารายใหม่บนเครือข่ายของพันธมิตรรายนี้ให้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในปี 65 จากเดิมที่เรามียอดขายราว 5,000 ล้านบีทียูต่อปี แต่ภายใต้สมมติฐานความร่วมมือดังกล่าวจะผลักดันยอดขายเพิ่มขึ้นอย่างน้อยอีกเท่าตัวหรือแตะ 10,000 ล้านบีทียูต่อปี นอกจากนั้นบริษัทจะได้รับผลเชิงบวกกับงบการเงินและกระแสเงินสดของบริษัทที่เพิ่มขึ้นจากการขายหุ้นให้กับ SZG ด้วย”
นายฤทธี กล่าว
เข็น SAP เข้าตลาดหุ้นเพิ่มมูลค่ากิจการ
และธุรกิจหลักที่ 2 คือ กลุ่มพลังงานทดแทน แบ่งเป็น บริษัท สแกน แอดวานซ์ พาวเวอร์ จำกัด (SAP) ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) มุ่งเข้าร่วมลงทุนในสัญญาซื้อขายไฟภาคเอกชน (Private PPA) และสัญญาเช่าโซลาร์รูฟท็อปทั้งกลุ่มลูกค้ารายย่อยและลูกค้าภาคธุรกิจ เช่น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมหรือโรงแรม เป็นต้น ซึ่งมีผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ค่อนข้างดีเฉลี่ย 10% ขึ้นไปต่อโครงการ
SCN ถือหุ้นใหญ่ใน SAP สัดส่วน 51% และ บริษัท ไทย แอดวานซ์ โซลาร์ ถือหุ้น 49% ซึ่งหากผลประกอบการ SAP เติบโตได้ตามเป้าหมายผู้ถือหุ้นทั้งสองฝ่ายก็มีแผนจะนำ SAP เข้าระดมทุนและจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไปเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับกิจการของกลุ่ม SCN ในอนาคต
ลุยโรงไฟฟ้ามินบูเฟส2 กำลังผลิต 50MW คาดเสร็จQ2/65
นายฤทธี กล่าวต่อว่า กลุ่มพลังงานทดแทนยังมีธุรกิจโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มมินบูในเมียนมาที่อยู่ภายใต้การบริหารของ บริษัท กรีน เอิร์ธ พาวเวอร์ ไทยแลนด์ จำกัด (GEP Thailand) เป็นโฮลดิ้งที่ถือหุ้น 100% ในบริษัท GEP Myanmar จำกัด เจ้าของโครงการโรงไฟฟ้ามินบู ซึ่ง SCN ถือหุ้นใน GEP Thailand ราว 40% ทรัพย์สินสำคัญ คือ สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากำลังการผลิตรวม 220 เมกะวัตต์ ปัจจุบันดำเนินการแล้วเสร็จรับรู้รายได้จากการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เฟสแรก กำลังผลิต 50 เมกะวัตต์
แม้ว่าที่ผ่านมา 2 ปีจะเผชิญกับอุปสรรคด้านปัญหาการเมืองภายในเมียนมา และวิกฤติโควิด-19 ทำให้การก่อสร้างโครงการดังกล่าวล่าช้ากว่าแผน แต่ปัจจุบันสถานการณ์ในเมียนมาเริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ เบื้องต้นคาดว่าภายในไตรมาส 2/65 การก่อสร้างเฟส 2 กำลังการผลิต 50 เมกะวัตต์น่าจะแล้วเสร็จ และหากสถานการณ์ยังดำเนินไปได้ตามปกติการก่อสร้างเฟส 3 และเฟส 4 น่าจะเดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว
ลุ้นผลตอบแทนซ่อมบำรุงรถเมล์ NGV ดีขึ้นปี 66
ส่วนกลุ่มธุรกิจหลักที่ 3 คือ กลุ่มธุรกิจยานยนต์ ที่ผ่านมาได้รับงานร่วมกับ บมจ.ช.ทวี (CHO) ชนะประมูลขายรถเมล์ NGV 449 คันให้กับ ขสมก.และซ่อมบำรุง 10 ปี มูลค่า 4.2 พันล้านบาท ปัจจุบันส่งมอบเสร็จสิ้นและอยู่ระหว่างดำเนินการสัญญาซ่อมบำรุง
อย่างไรก็ตาม หากมองข้ามไปถึงปี 66 คาดว่าธุรกิจนี้จะเติบโตได้ดีภายใต้สัญญาซ่อมบำรุงรถเมล์ NGV ที่ในช่วง 5 ปีแรกบริษัทได้ค่าซ่อมบำรุง 900 บาท/วัน/คัน แต่ช่วง 5 ปีหลังจะได้เพิ่มเป็น 1,600 บาท/วัน/คัน ซึ่งการรักษาความสบูรณ์ของรถเมล์ที่ดีก็จะทำให้บริษัทได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นด้วย
ดาวรุ่งธุรกิจกัญชงหวังหนุนกำไรปี 65 พลิกโตแรง
สำหรับธุรกิจใหม่ +1 ที่เกิดขึ้นในปี 64 นั่นคือ บริษัท สแกน ไอซีที จำกัด เป็นการร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญธุรกิจไอทีและการจำหน่ายสินค้าไอทีที่มีฐานลูกค้ากลุ่มเอกชนและภาครัฐ ปัจจุบันมียอดขายประมาณ 100 ล้านบาท นับเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่มีศักยภาพการเติบโตที่ดีในอนาคต
และอีกหนึ่งธุรกิจใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นนั้นก็คือ บริษัท สแกน เมดิเฮิร์บ จำกัด เป็นการแสวงหาโอกาสเติบโตในธุรกิจกัญชง-กัญชาครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำไปถึงปลายน้ำ ทั้งการเพาะปลูก, สกัด และจำหน่าย เป้าหมาย คือ การผลิตสาร CBD เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมการแพทย์ และอุตสาหกรรม Entertainment ขยายสู่ตลาดต่างประเทศ
“จุดเริ่มต้นของธุรกิจกัญชงมาจากแนวคิดที่ต้องการต่อยอดพื้นที่โรงงานของเราที่มีขนาดใหญ่กว่า 100 ไร่ แต่ด้วยนโยบายรัฐบาลเปลี่ยนแปลงสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิง NGV น้อยลงมาสนับสนุนดีเซลแทน ทำให้มีพื้นที่ว่าง เราเริ่มตั้งต้นศึกษาการเพาะปลูกกัญชงแบบมีคุณภาพ CBD สูง เป็นลักษณะการเพาะปลูกแบบ INDOOR เบื้องต้นบริษัทมีศักยภาพสร้างรายได้กว่า 200 ล้านบาทต่อปีในธุรกิจปลูกกัญชง นี่แต่เป็นแค่การดำเนินการเพียงพื้นที่ 1 โรงเท่านั้น แต่อนาคตเราพร้อมขยายไปอีก 10 โรง นับว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพทำกำไรค่อนข้างดีอัตรากำไรขั้นต้นสูงถึง 70% ซึ่งภายหลังจากบริษัทได้รับใบอนุญาตเพาะปลูกจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว คาดเริ่มเพาะปลูกได้ช่วงต้นปี 65”
นายฤทธี กล่าว
SCN เตรียมงบลงทุนขยายธุรกิจในปี 65 ราว 500 ล้านบาท ส่วนใหญ่ใช้ในธุรกิจ SAP และธุรกิจกัญชงเป็นหลัก ส่วนเป้าหมายรายได้ปี 65 น่าจะเติบโตราว 20% จากฐานปี 64 แต่ก็มีโอกาสเติบโตสูงกว่าเป้าหมายเช่นกันหากธุรกิจกัญชงเริ่มได้ตามกำหนด ซึ่งคาดหวังจะสร้างรายได้เข้ามาเพิ่มอีกกว่า 200 ล้านบาท
“แผนขยายธุรกิจในวันนี้เป็นการรองรับการเติบโตระยะยาว 3-5 ปีข้างหน้า ดังนั้น วันนี้ถ้าถามเรื่องราคาหุ้น SCN คงตอบไม่ได้ว่าจะตอบสนองกับแผนการเติบโตในอนาคตอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับมุมมองคาดการณ์ของผู้ลงทุน แต่ในฐานะ CEO เราเชื่อมั่นว่าเมื่อผลประกอบการเรากลับมาเติบโตได้อีกครั้ง นักลงทุนคงจะมองเห็นสัญญาณผลประกอบการในอนาคตว่าจะไปในทิศทางอย่างไร เราเชื่อมั่นว่าบริษัทเติบโตแน่นอน
และหุ้นเราก็คงจะเป็น Growth Turn Around Stock ความเชื่อมั่นจะสะท้อนเข้ามาในราคาหุ้นของบริษัทเคลื่อนไหวในช่วงราคาที่เหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเราในอนาคตอันใกล้นี้”
นายฤทธี กล่าว
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ธ.ค. 64)
Tags: SCN, ฤทธี กิจพิพิธ, สแกน อินเตอร์, หุ้นไทย